ในประเทศ : เปิดโปรเจ็กต์ “ธนาธร” “คอนเน็กชั่นวิศวะ” อุปกรณ์การแพทย์สู้โควิด

ภายหลังสัปดาห์ที่ผ่านมา “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะแกนนำคณะก้าวหน้า ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “หลายคนถามมาว่าช่วงสงกรานต์นี้ผมทำอะไร ตอนนี้ผมและทีมงานกำลังเร่งผลิตอุปกรณ์การแพทย์เพื่อมอบกับโรงพยาบาลทั่วประเทศในการรับมือโควิด-19 สัปดาห์หน้าจะเสร็จสมบูรณ์ ไว้จะมาอัพเดตกันแบบเต็มๆ”

ในสัปดาห์นี้ “ธนาธร” ได้ทำตามสัญญา พาสื่อมวลชนชมนวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ 2 ประเภท ได้แก่ ห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน (Modular ARI Clinic) และอุปกรณ์ติดเสริมเตียงเคลื่อนย้ายด้วยระบบแรงดันลบ (Patient Transportation Chamber)

ซึ่ง “ธนาธร” ได้เล่าจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตนได้รับการติดต่อจากกลุ่มศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มหนึ่งซึ่งเคยทำงานร่วมกับอดีตพรรคอนาคตใหม่มาก่อน โดยอดีตพรรคเรามีบุคลากรที่จบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หลายคน

โดยจุดเริ่มต้นมาจากช่วงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มแพทย์กลุ่มหนึ่งรู้ว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์จะขาดแคลนในระบบสาธารณสุข แพทย์กับวิศวกรก็เลยทำงานร่วมกัน

กลายออกมาเป็นแบบของอุปกรณ์ที่ขาดแคลนในระบบสาธารณสุขประมาณ 7 แบบ

ซึ่งแบบนี้ได้รับการพัฒนาและได้รับการรับรองให้เป็นแบบจากทางคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

โดยได้ทำงานร่วมกับศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่ง 7 อุปกรณ์นี้ พอได้แบบเบื้องต้น ทางผู้จัดทำก็คือคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลได้มีการนำเผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า Open Source Covid Thailand หลังจากที่เผยแพร่แล้ว ทางทีมงานของอดีตพรรคอนาคตใหม่ก็ติดต่อมายังตน เพราะเห็นว่าตนมีศักยภาพที่จะทำอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นเป็นจริง จึงนำแบบทั้ง 7 แบบมาศึกษา

และก็เห็นว่ามีอุปกรณ์อยู่ 2 ตัวที่อยู่ในวิสัยที่เราพอมีความรู้ มีทรัพยากรและบุคลากร เครือข่ายที่สามารถทำได้

 

สําหรับ “เตียงขนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ” นั้น ใช้คนย้ายผู้ป่วยจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง โดยมากจะใช้ในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้าไปรักษากับทางโรงพยาบาลและคนอื่นๆ ได้รับการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ สำหรับต้นทุนอยู่ที่ 40,000 บาท/ชุด ซึ่งถูกกว่าราคาในท้องตลาดที่ตกอยู่ที่หลักแสนบาท

ส่วน “คลินิกเคลื่อนที่” คือการตั้งแยกออกมาจากคลินิกหรือห้องรักษาโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคติดต่อ โดยมีวัตถุประสงค์ 2 อย่างด้วยกัน

อย่างแรกคือเป็นห้องของบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งห้องฝั่งนี้เป็นห้องแรงดันบวก เพื่อให้ลมและอากาศที่อยู่ในห้องเป็นอากาศสะอาดตลอดเวลา

อีกฝั่งหนึ่งเป็นห้องแรงดันลบ ซึ่งเป็นห้องที่ผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงเข้าไปใช้ตรวจ โดยแต่ละชุดมีห้องตรวจตั้งแต่ 3-7 ห้องตามแต่ความต้องการของโรงพยาบาลที่ได้เสนอมา

เพราะบางโรงพยาบาลต้องการห้องเจาะเลือด บางแห่งต้องการห้องเอ็กซเรย์ เป็นต้น ต้นทุนอยู่ที่ 600,000 บาท/ชุด โดยอุปกรณ์ทั้ง 2 ประเภท ไม่มีการคิดค่าแรงและกำไรแต่อย่างใด

“โปรเจ็กต์นี้คุยกับโรงพยาบาลเยอะมาก ผมไม่กล้าที่จะออกแบบเอง ไม่กล้าที่จะทำอะไรเอง โดยที่ไม่ได้ปรึกษากับทางผู้ใช้ เพราะเป็นเรื่องของสาธารณสุข ที่อาจจะต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตของคน ดังนั้น ถ้าโรงพยาบาลไหนมีอะไรก็ติดต่อเรามาได้ ผมเชื่อว่าถ้ามานั่งคุยกันแล้ว เราได้รับความต้องการจริงๆ เราก็สามารถช่วยในการออกแบบได้ ดังนั้น เราเปิด ถ้ายังมีโรงพยาบาลไหนยังมีอุปกรณ์อะไรที่มากกว่านี้อีกเราก็เปิดที่จะศึกษาร่วมกัน ที่สำคัญที่สุดคือความต้องการของผู้ใช้ เราต้องเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ให้ได้ว่า ความต้องการของผู้ใช้คืออะไร เพื่อที่จะออกแบบทางวิศวกรรมให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ให้ได้”

นายธนาธรกล่าว

 

หลังจากนี้จะทำการทยอยส่งมอบ “คลินิกเคลื่อนที่” จำนวน 11 ชุด และ “เตียงขนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ” จำนวน 18 ชุดให้แก่โรงพยาบาล 12 แห่งใน 9 จังหวัด โดยเริ่มล็อตแรกวันที่ 25-26 เมษายนนี้ มอบให้แก่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี และโรงพยาบาลยะลา จ.ยะลา สำหรับหลักเกณฑ์การจัดลำดับการส่งมอบ จะพิจารณาจากความเสี่ยงติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

สำหรับโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ ประกอบด้วย โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี, โรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลสันทราย จ.เชียงใหม่, โรงพยาบาลสนามศูนย์โควิด-19 จ.เชียงใหม่ (ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่), โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต, โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต, โรงพยาบาลยะลา, โรงพยาบาลยะรัง จ.ปัตตานี, โรงพยาบาลสงขลา, โรงพยาบาลคลองหอยโข่ง จ.สงขลา และโรงพยาบาลกงหรา จ.พัทลุง ซึ่งในเบื้องต้นจะจัดส่งได้ครบภายในกลางเดือนพฤษภาคมนี้

อย่างไรก็ตาม “ธนาธร” ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า อุปกรณ์ทั้ง 2 รายการมีเป้าหมายเพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่โรงพยาบาลและในระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ เพิ่มความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับญาติมิตร ผู้เดินทางสัญจรทั่วไป ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ รวมถึงเพิ่มขวัญกำลังใจในการทำงานให้กับบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งอุปกรณ์ดังกล่าวยังมีความแข็งแรง สามารถติดตั้งถาวร เพื่อรับรองการรักษาโรคอื่นๆ ที่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคโควิด-19, วัณโรค เป็นต้น

ดังนั้น การจัดทำอุปกรณ์เหล่านี้ จึงเพื่อใช้ทางการแพทย์ระยะยาว ไม่ใช่เพื่อรับมือไวรัสโควิด-19 เท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องแปลกหาก “ธนาธร” จะมาในบทบาทเช่นนี้ เพราะสมัยปริญญาตรีได้เรียนภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม ประเทศอังกฤษ

ซึ่งรั้วเหลืองแดงนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการหล่อหลอม “ธนาธร” ในวันนี้ขึ้นมา เพราะได้ทำกิจกรรมนักศึกษา เคยเป็นอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ปี 2542 และเข้าไปร่วมสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้เป็นรองเลขาธิการ สนนท. ปี 2543

อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่ได้พบกับเพื่อนเลิฟ “2 ต.ต๋อม-ติ่ง” คือ “ต๋อม-ชัยธวัช ตุลาธน” อดีตรองเลขาธิการพรรค ที่ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกล เคยร่วมงาน สนนท.มาด้วยกันในตำแหน่งเลขาธิการ สนนท. ปี 2541 ส่วน “ติ่ง-ศรายุทธ ใจหลัก” ที่เคยเป็นเลขาธิการ สนนท. ปี 2543 และเป็นอดีตผู้อำนวยการพรรคอนาคตใหม่ เรียกได้ว่า “เพื่อนรัก 2 ต.” คือ “คีย์แมน” สำคัญของ “ธนาธร” บนถนนทางการเมืองช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 คนล้วนเป็น “ศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์” ทั้งหมด แต่ต่างสถาบันเท่านั้น โดย “ต๋อม ชัยธวัช” จบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ส่วน “ติ่ง ศรายุทธ” จบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งในอดีตพรรคอนาคตใหม่ยังมี “ศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์” อีกหลายคน

โดยสิ่งเหล่านี้สะท้อน “วิศวะคอนเน็กชั่น” ที่ “ธนาธร” มีอยู่ด้วย

 

หากย้อนกลับไปอีก “ธนาธร” เรียนจบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง การเงินระหว่างประเทศ และกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยในไทยและต่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทั้งในและนอกห้องเรียนได้หล่อหลอม “ธนาธร” ขึ้นมา ก่อนที่จะเข้ามาบริหารธุรกิจของครอบครัวในนาม “กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท” นั่นเอง ซึ่งครอบคลุมศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนมาทั้งหมด

ดังนั้น ภาพ “ธนาธร” ที่อธิบายโปรเจ็กต์ 2 อุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงสะท้อนทั้ง “ตัวตน” และ “คอนเน็กชั่น” ที่มีอยู่ จึงสามารถบรรยายและอธิบายได้อย่างเชี่ยวชาญ

อีกทั้งสามารถพิจารณา “ความเป็นไปได้” ในการผลิตอุปกรณ์ 2 ประเภท จากทั้ง 7 แบบ ที่มีการนำมาเสนอได้ และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละโรงพยาบาลบนฐานของการใช้ต้นทุนที่คุ้มค่า

สิ่งเหล่านี้มีการมองว่าเป็นการ “ปรับลุค” หรือ “วางบทบาทใหม่” ของ “ธนาธร” หรือไม่ ที่ไม่ได้มีดีแค่เพียงการพูดเรื่องการเมืองหรือขึ้นเวทีต่างๆ

แต่สามารถผลิตสิ่งที่เป็นรูปธรรมออกมาได้และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

แน่นอนว่าย่อมมีการนำไปเปรียบเทียบกับ “นักการเมือง” คนอื่นๆ ในเวลานี้ ในการช่วยเหลือประชาชนด้วยมาตรการต่างๆ ในสภาวะที่ “ธนาธร” ต้อง Social Distancing กับพรรคก้าวไกลด้วย หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค และกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ไม่เช่นนั้นจะเข้าข่ายครอบงำพรรคได้

การทำงานของ “คณะก้าวหน้า” นับจากนี้ต้องติดตามกันต่อไป ตามยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน รวมกันตี” ระหว่าง “พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า” ยังคงดำเนินต่อไป

เปิดโปรเจ็กต์ สะเทือนรัฐบาล!