หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘แปลก’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกกก - เหล่านกเงือก อย่างนกกกมีคุณสมบัติที่ดี ตัวใหญ่ บินได้ไกล ทำหน้าที่แพร่กระจายลูกไทร รวมทั้งผลไม้อื่นๆ อย่างได้ผล

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

 

‘แปลก’

 

ทํางานในป่าไม่สบายนักหรอก แต่ก็ไม่ได้ยาก กระทั่งต้องมีคุณสมบัติพิเศษอะไร แม้ว่าดูเหมือนคนทำงานในป่าจะขาดแคลน

มีความจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า คนทำงานในป่าจริงๆ นั้น พวกเขา “ทำ” มากกว่าปัจจัยที่มี

แต่จะว่าไม่ต้องมีคุณสมบัติพิเศษอะไร อาจไม่ตรงกับความจริงนัก การคลุกคลีทำงานร่วมกับพวกเขามายาวนานของผม ทำให้รู้ว่า เพื่อนๆ ที่ทำงานในป่าของผมนั้นมีนิสัยอย่างหนึ่ง อันน่าจะเรียกว่าคุณสมบัติได้ และเป็นคุณสมบัติที่ทำให้พวกเขาอยู่กับงานได้ดี นั่นก็คือ ความเป็นคนที่เรียกได้ว่า “แปลกๆ”…

 

“อยู่ที่นี่ลำบากไหมครับ” ผมถามทนงศักดิ์ ในวันที่ผมไปหาเขาที่หน่วยพิทักษ์ป่า หน่วยที่ทุกคนในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรยอมรับว่ากันดาร เดินทางลำบาก

“สบายกว่าอยู่บ้านครับ อยู่บ้านเมียใช้ทำงานหนักกว่านี้” เขาตอบสีหน้าจริงจัง

ทนงศักดิ์ หรือที่เพื่อนๆ เรียกว่า ต่อง เป็นลูกครึ่ง

เขาประกาศความเป็นลูกครึ่งอย่างภาคภูมิใจข้างกองไฟ

“ผมเป็นลูกครึ่ง” ทนงศักดิ์ยืนเซๆ พูดเสียงดัง “พ่อเป็นลาว แม่เป็นกะหร่าง ครับ”

เขามีชื่อไพเราะว่า ทนงศักดิ์ เช่นเดียวกับคนในหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่ และรอบๆ เพราะตอนไปทำบัตรประชาชน เจ้าหน้าที่หรือปลัดอำเภอจะตั้งชื่อเพราะๆ ให้

ภาพแรก คนเห็นทนงศักดิ์ คือผู้ชายวัยกลางคน ท่าทางสุภาพ หวีผมเรียบ แต่งตัวเรียบร้อย สวมเสื้อทับชายไว้ในกางเกง เงียบๆ ไม่พูดจา

“ภาพ” นี้จะหายไปเมื่อถึงตอนค่ำ ดีกรีเหล้าขาวเพิ่มปริมาณ

จากผู้ชายเงียบๆ ทนงศักดิ์กลายเป็นคนช่างพูด มีความสามารถพิเศษ คือเล่าเรื่องต่างๆ และร้องเพลง ไม่แค่เพลงลูกทุ่งเก่าๆ เพลงมอญ เพลงพม่า และเมื่อใดที่เริ่มต้นร้องเพลงอินเดีย เป็นอันว่า เพื่อนๆ ต้องประคองไปนอนแล้ว

ตอนที่พบกันนั้น เขาเพิ่งเข้ามาทำงานเพียงสามเดือน

“ผมไม่ใช่คนใหม่หรอกครับ” เขาบอก “เคยทำงานที่นี่ตั้งแต่รุ่นบุกเบิก ทำอยู่หลายปี แล้วเมียให้ออกไปช่วยทำไร่ ตอนนี้ลูกๆ โตแล้ว ผมจึงขออนุญาตเมียมาขอหัวหน้าทำงานอีก”

ทนงศักดิ์ทำให้ผมเห็นความหมายที่ว่า คนทำงานในป่ามักจะ “แปลกๆ” ชัดเจนขึ้น

ข้างกองไฟ ผมหัวเราะขำที่ทุกคนเริ่มเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ผมฟัง ไม่มีใครฟังใคร

บางทีคำว่าแปลกนั้น คงมีผมรวมอยู่ด้วย…

 

สภาพป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก ในช่วงเดือนแรกๆ ของปี แม้ว่าจะเรียกได้ว่า อยู่ในช่วงฤดูแล้งก็ตาม แต่ท้องฟ้ายังมืดครึ้มด้วยเมฆฝน ต้นไม้แตกใบเขียว อากาศเย็นจัด ฝนตกเกือบทุกวัน เส้นทางแห้งอยู่ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ สภาพเส้นทางก็กลับมาเป็นเช่นเดิม ร่องลึกลื่นไถล การเดินทางใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น ต้องเผื่อเวลา “รถติด” อีกหลายชั่วโมง หรือหลายวันในบางครั้ง

ในสภาพนี้ผมพบว่า ฝูงกระทิงจะหายหน้าไปจากโป่งที่พวกมันอยู่ประจำ

ในโป่งเหลือแต่เก้งซึ่งไม่ย้ายไปไหน สัตว์ป่าส่วนใหญ่จะเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหารตามฤดูกาล ลักษณะคล้ายเป็นวงรอบ สำหรับสัตว์ป่า ช่วงเวลานี้คือฤดูแล้ง ฝูงกระทิงเลือกที่จะอยู่ไม่ไกลจากความร่มเย็นของป่าดิบชื้น ป่าทุ่งใหญ่มีความหลากหลายของสภาพป่า แหล่งอาหารมีมากเหมาะสมกับการเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า

ผมใช้เวลาร่วมสองปี สำรวจแหล่งอาหารตามจุดต่างๆ ความอุดมสมบูรณ์ที่สัตว์ป่ามี ทำให้ผมทำงานค่อนข้างยาก สภาพโป่งที่มักอยู่ในหุบ บริเวณแคบๆ ยากกับการกำหนดจุดตั้งซุ้มบังไพร ไม่ว่าบังไพรจะมิดชิดอย่างไร การเข้าไปอยู่ในบริเวณนั้น ดูเหมือนจะเข้าไปรบกวนพวกมันมากกว่า…

 

ความอุดมสมบูรณ์นั้นหมายถึง มีต้นไทรจำนวนมากขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปด้วย ต้นไทรทยอยออกลูกสุกสลับกันไปอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่กระทิงหายหน้าไป ผมใช้เวลาอยู่แถวๆ ต้นไทร

ค่างแว่นถิ่นเหนือ, ชะนี รวมทั้งเหล่านกเงือกตัวผู้ ที่ช่วงนี้กำลังทำงานหนักขะมักเขม้น อยู่กับการหาอาหารไปให้ตัวเมียซึ่งขังตัวเองอยู่กับลูกในโพรง

ที่ต้นไทร ความเกื้อกูลกันระหว่างสัตว์ป่า เป็นภาพอันชัดเจน

นกต่างๆ แยกย้ายไปตามกิ่ง ตัวที่มีขนาดใหญ่อยู่โคนๆ กิ่ง ที่มีขนาดตัวเล็กไปปลายกิ่ง บางตัวเช่นลิง เขย่ากิ่งให้ลูกไทรร่วงหล่นพื้น เพื่อให้สัตว์ตัวที่ขึ้นต้นไม่ได้ มีโอกาสได้กินด้วย

เก้ง, กวาง แม้แต่สัตว์ลึกลับอย่างสมเสร็จ ผมเคยพบมันมารอกินลูกไทรตั้งแต่เช้ามืด

ถ้าการกินของสัตว์เป็นแค่ผลพลอยได้จากการทำงาน

ก็ดูเหมือนว่า ลูกไทรได้รับการนำไปแพร่กระจายทั้งทางอากาศ และทางพื้นดิน

อีกทั้งหากจะพูดว่า ต้นไทรเปรียบเสมือนร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมง ก็ไม่ผิดเช่นกัน…

 

ป่าซึ่งมีประชากรสัตว์ป่ามาก มีแหล่งอาหารสมบูรณ์ กลับเป็นป่าที่ทำงานยาก ที่นี่ไม่มีสัตว์ป่าแปลกๆ หรอก ที่แปลกๆ คือ คน

“ผมเก่งนะครับ ต่อยมวยคาดเชือกแบบพม่าไม่เคยแพ้เลย เสมอครั้งเดียว” ทนงศักดิ์คุยขณะทำท่าไหว้ครูแบบมวยพม่าอย่างสวยงาม เขามากับชุดลาดตระเวน ผ่านมาพักที่แคมป์

ทนงศักดิ์สุภาพ ยกมือไหว้ตลอด ไม่ว่าใครจะแหย่อย่างไร เรื่องที่เขาเคยถูกภรรยาไล่ยิงเพราะแอบไปเที่ยวกลางคืนในเมืองสังขละบุรี เป็นเรื่องสนุกสนานของพวกเรา

“ไอ้เราก็แบกเป้เดินเข้าบ้านอย่างดี ไม่รู้ว่าเพื่อนมันแอบไปฟ้องเมียไว้ ดีว่าวิ่งไปหลบข้างกอไผ่ทัน ไม่งั้นเสร็จไปแล้ว” ทนงศักดิ์เล่าไปหัวเราะไป

วันนี้ฝนไม่ตก แต่สภาพอากาศเย็นชื้น มันเทศเผาเป็นอาหารว่างชั้นดี ลูกไฟแตกกระจาย

เราแยกย้ายกันขึ้นเปล เมื่อทนงศักดิ์ยกมือไหว้ ขอร้องเพลงอินเดีย…

 

รุ่งเช้า ทนงศักดิ์ออกเดินร่วมไปกับชุดลาดตระเวน ผ้าโพกหัวสีดำ ท่าทางทะมัดทะแมง

“เจอกันที่หน่วยครับ ผมจะร้องเพลงอินเดียให้ฟัง” เขาพูดพลางหัวเราะเสียงดัง

ผมจะอยู่ที่นี่อีกหลายวัน ซุ้มบังไพรตั้งไว้บนสันเขา ไม่ไกลจากชะง่อนหินที่มีร่องรอยและขี้เลียงผา

หลายวันแล้ว ผมขึ้นไปเฝ้ารอไม่รู้หรอกว่า เลียงผาจะออกมาอนุญาตให้พบเมื่อไหร่

ที่รู้แน่ๆ คือ ความสูงชันของหน้าผารออยู่

ถ้าเลียงผาจะเคลื่อนย้ายในฤดูกาลนี้ โดยมีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนด วิถีของพวกมันดูคล้ายจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

แต่ความ “แปลกๆ” ของทนงศักดิ์ บอกให้ผมรู้ว่า

นี่เองคือคุณสมบัติสามัญที่คนทำงานในป่าควรมี…