กระบวนการ โจมตี กระบวนการ อนันต์ เสนาขันธ์ เป็นระบบ มี “เป้าหมาย”

หากมองจากการเคลื่อนไหวของ อนันต์ เสนาขันธ์ อย่างสัมพันธ์กับบทบาทของเขาในกาลอดีต ไม่ว่าในทางการเมือง ไม่ว่าในทางศาสนา

การวิพากษ์ของ อนันต์ เสนาขันธ์ ก็น่าพิจารณา

ในทางการเมือง อนันต์ เสนาขันธ์ ขณะรับราชการอยู่ในกรมตำรวจ เคยนำเสนอหนังสือ “อ.ตร.อันตราย” ส่งผลสะเทือนเป็นอย่างสูงในการนำเอาตำแหน่ง “อธิบดีกรมตำรวจ” กลับมายังข้าราชการตำรวจโดยตรง

ไม่ใช่ตำแหน่งในทางการเมืองเหมือนยุค พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ หรือยุค พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์

ต่อจากนั้น อนันต์ เสนาขันธ์ ก็รุกไล่ไปยัง นายบรรหาร ศิลปอาชา

ในทางศาสนา จุดเริ่มต้นของ อนันต์ เสนาขันธ์ คือเคลื่อนไหวเปิดโปงสำนักปู่สวรรค์อันเคยมีบทบาทอย่างสูงในยุค “สงครามเย็น”

ต่อมาก็เป็น สำนักสันติอโศก ต่อมาก็เป็น สำนักสวนโมกขพลาราม

จากสำนักปู่สวรรค์บ่งสะท้อนว่า การเคลื่อนไหวของ อนันต์ เสนาขันธ์ มี “เบื้องหลัง” ในทางการเมือง

เพราะสำนักปู่สวรรค์เคยเป็นกลไก 1 ในการต่อต้าน “คอมมิวนิสต์”

พลันที่หันปลายหอกเข้าใส่สันติอโศก พลันที่หันปลายหอกเข้าใส่สำนักสวนโมกขพลาราม กลิ่นในทาง “การเมือง” จึงโชยตามมา

จำเป็นต้องอ่าน ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน ต่อไป

 

ประเพณีดั้งเดิมที่ฆราวาสส่งเสริมและสนับสนุนพระสงฆ์ด้วยการบริจาคจตุปัจจัยนั้นยึดเหตุผลตามความเชื่อที่ว่า การทำบุญกับพระสงฆ์และบริจาคเงินให้วัดเป็นบุญกิริยาที่เพิ่มพูนสะสมกรรมดีเพื่อจะได้ไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่เหมาะสม

แต่ถ้าทัศนะเกี่ยวกับกรรมและการเกิดใหม่ของคติของผม เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเช่นนี้ต้องถูกยกเลิกไปอย่างที่ท่านพุทธทาสเสนอแนะ

และบรรดาฆราวาสเองก็มีสิทธิอำนาจอีกทั้งความสามารถทางจิตวิญญาณทุกอย่างที่จำเป็นแก่การหลุดพ้นของตนแล้ว ก็ดูจะน่าเป็นห่วงว่าพวกฆราวาสคงไม่สนับสนุนส่งเสริมพระสงฆ์อย่างที่เคยปฏิบัติกันมา

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าคณะสงฆ์ไทยจะล่มสลาย

แต่ถ้าแนวคิดแบบนักปฏิรูปของท่านพุทธทาสมีผู้ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ผลก็อาจจะปรากฏออกมาว่า คณะสงฆ์ที่ยังคงมีอยู่นั้นอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงลักษณะของบทบาทในทางสังคมและศาสนาอย่างถึงรากถึงแก่นทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในโครงสร้างของพระพุทธศาสนาในฐานะสถาบันคงจะดูเหมือนว่าเป็นผลทางปฏิบัติของการที่ท่านพุทธทาสล้มเลิกข้อแตกต่างทางจิตวิญญาณระหว่างฆราวาสกับบรรพชิต

 

อย่างไรก็ตาม ท่านพุทธทาสก็ยังคิดที่จะดำรงการปฏิบัติแบบดั้งเดิมในพระพุทธศาสนาเอาไว้ เพราะนั่นคือแหล่งที่มาของสิทธิอำนาจในการตีความหลักคำสอนตามแบบใหม่ของท่าน

และท่านเองก็ไม่ได้กล่าวถึงผลสืบเนื่องตามหลักเหตุผลเช่นนี้เอาไว้ในงานเขียนของท่าน

ในทางตรงกันข้ามกับแนวคิดทางทฤษฎีที่ดูเหมือนจะเป็นการล้มเลิกข้อแตกต่างระหว่างฆราวาสกับบรรพชิต ท่านกลับยืนยันให้คงบทบาทที่แตกต่างกันของบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายนี้ไว้อย่างเดิมโดยอ้างเหตุผลในเชิงปฏิบัตินิยม

ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ดังที่ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้แล้วว่า การบวชสู่เพศบรรพชิตเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

โดยที่ฆราวาสมีโอกาสศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติของบรรพชิตได้ด้วยตนเอง

แต่แม้ว่าท่านจะไม่ได้คำนึงถึงว่าแนวคิดของท่านจะมีโอกาสส่งผลในทางลบต่อสถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศไทย บรรดานักอนุรักษนิยมที่วิพากษ์วิจารณ์ท่านก็ได้ถือเอาประเด็นนี้เองเป็นจุดเน้นในการโจมตีท่าน

บุญมี เมธางกูร และ อนันต์ เสนาขันธ์ กล่าวหาว่าท่านมุ่งทำลายพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์

บุญมีวิพากษ์วิจารณ์การล้มเลิกความแตกต่างระหว่างบรรพชิตกับฆราวาสโดยกล่าวว่า ท่านพุทธทาสพยายามเสนอแนวคิดของท่านเพื่อ “ทำลายพระพุทธศาสนาและไล่พระให้ออกไปไถนา”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแนวคิดของท่านยังไม่ได้ทำให้สถานะหรือบทบาทของคณะสงฆ์ต้องถูกกระทบกระเทือนอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น การที่ท่านชี้ว่าฆราวาสก็อาจบรรลุ “นิพพาน” ได้เช่นเดียวกับพระจึงยังไม่ถูกคณะสงฆ์ต่อต้านอย่างจริงจังโดยตรง

แม้ว่าจะมีพระบางรูปโจมตีทัศนะเช่นนี้ของท่านเป็นการส่วนตัวอยู่บ้างก็ตาม

 

เหมือนกับกรณีของ บุญมี เมธางกูร เป็นเรื่องในทางความเชื่อ เหมือนกับกรณีของ อนันต์ เสนาขันธ์ เป็นเรื่องในทางความคิด

1 สะท้อนความคิด “ดั้งเดิม” 1 สะท้อนความคิด “ใหม่”

หากเป็นการเคลื่อนไหวอย่างมิได้เป็น “ขบวนการ” ทุกย่างก้าวของ อนันต์ เสนาขันธ์ ก็ไม่น่าจะมีเบื้องหลัง

แต่นี่ดำเนินไปเหมือนกับที่ทำกับสำนักปู่สวรรค์ เหมือนกับที่ทำกับสันติอโศก