“ทางเลือกเพื่อตัดสินใจ” บทเรียนสำหรับการทำธุรกิจ

“ทางเลือกเพื่อตัดสินใจ”

“และด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ผมจึงคิดว่าเราควรจะลงทุนในโครงการนี้ครับ”

ต้น พนักงานเงินเดือนดาวรุ่งนำเสนอแผนงานกับบรรดาท่านผู้บริหาร

บรรยากาศเงียบไปชั่วครู่

ตามมาด้วยความเห็นของผู้บริหารหลายคน

“โครงการนี้เราไม่เคยทำมาก่อน มีความเสี่ยงสูงมาก หากไม่สำเร็จ”

“มีใครที่เขาเคยทำมาบ้างหรือยัง”

“ชอบมากครับ แต่ว่าเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าโครงการนี้จะสำเร็จ”

“แผนกของผมเคยคิดโครงการคล้ายๆ กันครับ แล้วก็พับไป”

“ตัวเลขของสไลด์หน้า 5 เอามาจากไหนหรอครับ เชื่อถือได้มากแค่ไหน”

“เราเป็นบริษัทใหญ่ หากทำอะไรแล้วไม่สำเร็จ อาจจะทำให้เสียแบรนด์ได้นะครับ ฝากดูนิดนึง”

“วันก่อนมีที่ปรึกษาเจ้าเก่งมาแนะนำเหมือนกันครับ แต่เขาบอกวิธีการทำต่างจากของคุณนะ”

“เงินก้อนนี้ที่เราจัดสรรไว้ เอาไปทำอะไรที่ดีกว่านี้ได้มั้ยครับ”

บทสนทนาที่ดูชาญฉลาด จากประสบการณ์ที่โชกโชนของท่านผู้บริหาร

นี่สินะ ที่เขาเรียกว่า “เชี่ยวชาญการธุรกิจ”

ต้นได้แต่นิ่งเงียบไปพักหนึ่ง

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ผมเองก็น่าจะเหมือนกับหลายๆ ท่านครับ

“ทำงานที่บ้าน” ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย

ทั้งประชุม ทบทวนงาน แล้วก็นั่งหน้าคอมพ์

ประสิทธิภาพถือว่าไม่แย่มาก

แต่ที่ชอบที่สุดคือ ไม่ต้องเดินทาง

เหมือนได้เวลาชีวิตกลับมาวันละ 2-3 ชั่วโมง

ที่ปกติแล้วจะอยู่บนท้องถนนครับ

ผลพวงจากเวลาที่เหมือนจะมีมากขึ้น

คือได้อ่านหนังสือมากขึ้นกว่าเดิมครับ

ล่าสุดได้มีโอกาสอ่านหนังสือสนุกเล่มหนึ่ง

มีชื่อว่า “เดอะ คาตาลิสต์ (The Catalyst)”

ภาษาไทยแปลว่า “สารเร่งปฏิกิริยา”

หนังสือบอกเล่าวิธีการเปลี่ยนใจคนครับ

ทำยังไงให้เขาเชื่อเรา

มีเทคนิคมากมายที่ผมเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน

วันนี้จึงอยากนำมาแลกเปลี่ยนกัน

ลองจินตนาการตามนี้

สมมุติว่า คุณเป็นผู้หญิงวัยกลางคน

มีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนหนึ่งคน อายุ 15 ปี

ลูกชายของคุณเพิ่งประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์

ตอนนี้นอนยังไม่ฟื้นอยู่ที่ห้องไอซียูของโรงพยาบาล

จากท่าทีของคุณหมอแล้ว ลูกชายของคุณน่าจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก

ที่อยู่ได้ตอนนี้ก็ด้วยเครื่องช่วยหายใจ

ถ้าหากรอดจริง ก็อาจจะต้องนอนอยู่บนเตียง ไม่ฟื้นขึ้นมาอีก

เร็วๆ นี้คุณคงจะต้องตัดสินใจ

ว่าจะหยุดชีวิตลูกชายของตัวเองลง

หรือว่าใช้เครื่องช่วยหายใจต่อชีวิต ซึ่งความหวังก็ดูจะริบหรี่เหลือเกิน

ไม่ว่าจะทางไหน

ทางเลือกทั้งสอง ก็ดูจะเจ็บปวดสำหรับคนเป็นแม่

คำถามที่สำคัญคือ คุณมีทางเลือกครับ

คุณเลือกได้ว่า จะไม่ตัดสินใจ

และให้คุณหมอตัดสินใจแทนคุณ

คุณจะเลือกตัดสินใจเอง

หรือว่าให้คุณหมอตัดสินใจแทนคุณ

ผลของงานวิจัยฉบับนี้ปรากฏว่า

คนที่เลือกเอง และให้คุณหมอเลือกให้

มีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน

แต่สิ่งที่น่าสนใจของงานวิจัยเกิดขึ้นหลังจากนี้ครับ

คนที่เลือกตัดสินใจเองนั้น

ปรากฏว่ามีระดับของความเสียใจมากกว่า

ลืมความเสียใจได้ช้ากว่าอีกกลุ่มหนึ่งที่ให้คุณหมอเลือกให้

หากแต่ว่า พอถามว่า ถ้าให้ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง

ยังอยากจะเลือกเองอยู่หรือไม่

คำตอบคือ “ใช่ ยังอยากเลือกเองอยู่”

แม้ว่าจะเจ็บปวดมากกว่า

แต่ก็อยากจะมีสิทธิ์ที่จะ “เลือกเอง”

วัยรุ่นที่สูบบุหรี่

เวลามีคนบอกว่า บุหรี่มันไม่ดีอย่างนั้น อย่างโน้น เลิกเสียสิ

จากสถิติแล้ว น้อยมากที่จะเลิกได้

ซ้ำร้าย อาจจะสูบมากขึ้นด้วยซ้ำ

อาการยิ่งห้าม ยิ่งยุนี่แหละ

เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน

อย่ามาสั่งให้ฉันทำอะไรนะ

ยิ่งห้าม ฉันก็จะยิ่งทำ เพื่อที่จะแสดงแสนยานุภาพของความเป็นตัวฉัน

ฉันมีสิทธิ์ที่จะเลือกอะไรก็ได้

แม้ว่าสิ่งนั้นฉันรู้อยู่แก่ใจว่าอาจจะแย่สำหรับตัวฉันก็ตาม

นี่แหละครับ มนุษย์

เราไม่ชอบให้ใครมาสั่งให้เราทำอะไร

มันแสดงออกถึงความพ่ายแพ้ ว่าฉันหมดหนทางที่จะเลือกสิ่งอื่นๆ แล้วหรือ

วิธีการที่ “ง่ายๆ” ที่จะแก้ไขสิ่งนี้

คือ ให้ “ทางเลือก” แก่มนุษย์ผู้นั้น

มีสองทางนะ ทางหนึ่งเป็นอย่างนี้ อีกทางหนึ่งเป็นอย่างนี้

คุณเลือกเองได้ ไม่ต้องรีบ

ส่วนใหญ่แล้ว คนจะเลือกหนึ่งอัน ที่เราเสนอครับ

ห้องประชุมที่เหมือนจะตกลงกันไม่ได้

วิจารณ์กันบน “ข้อเสนอ” ที่ตกลงใจได้ยาก

ต้นพลิกไปที่สไลด์ถัดไป

“มีอีกทางเลือกหนึ่งมานำเสนอครับ”

“ดีอีกแบบหนึ่ง ลองเลือกกันสักอันดูนะครับ”