การศึกษา / ชำแหละ ‘แท็บเล็ต’ แจก น.ร. ‘สูญเปล่า-ไม่คุ้มค่า’?!?

การศึกษา

 

ชำแหละ ‘แท็บเล็ต’ แจก น.ร.

‘สูญเปล่า-ไม่คุ้มค่า’?!?

 

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงของวงการศึกษา หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จากเดิมที่จะเปิดในเดือนพฤษภาคม เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลกในเวลานี้

ประเด็นที่ตามมาคือการจัดการเรียนการสอน ที่ ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดเตรียมให้พร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในการระบาดครั้งนี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ให้เตรียมพร้อมในการสอนออนไลน์ในช่วงปิดภาคเรียนซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 2 เดือน

เพราะการศึกษาหยุดรอไม่ได้ ศธ.ต้องวางแผนให้การเรียนการสอนมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ทั้งครู อาจารย์ และนักเรียน

โดยให้หาแนวทางที่เหมาะสมและคุ้มค่า โดยนำระบบออนไลน์มาใช้

 

นายณัฏฐพลได้วางแผนจัดกลุ่มการเรียนการสอนออนไลน์เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียนระดับชั้นอนุบาล-ม.3 และนักเรียน ม.4-ม.6 เพราะทั้ง 2 กลุ่มนั้นมีความสามารถในการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน

ดังนั้น อุปกรณ์การเรียนต้องแตกต่างกันด้วย

นายณัฏฐพลเปิดเผยถึงแผนจัดการเรียนการสอนเบื้องต้นว่า กลุ่มนักเรียนระดับชั้นอนุบาล-ม.3 ศธ.ได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดช่องทีวีสอนนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ จำนวน 13 ช่อง

ในระดับ ม.4-ม.6 นั้น ศธ.พิจารณาซื้อแท็บเล็ตให้นักเรียน เพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์…

เมื่อข่าวแพร่ออกไป ประเด็นจัดซื้อ “แท็บเล็ต” ให้กับนักเรียน ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างมาก เพราะในสมัยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดซื้อ “แท็บเล็ต” จากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 860,000 เครื่อง ราคากว่า 1,900 ล้านบาท เพื่อแจกให้นักเรียน ป.1 ได้ใช้งาน

ผลจากนโยบายนั้นปรากฏว่า นักเรียนไม่มีความพร้อมในการใช้งาน ครูต้องรับผิดชอบแท็บเล็ตจนไม่มีเวลาเตรียมการเรียนการสอน แท็บเล็ตที่มีอยู่กลายเป็นขยะที่ใช้งานไม่ได้!!

 

ฟากฝั่งนักวิชาการออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้เช่นกัน เริ่มจาก ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง มองว่าแท็บเล็ตน่าจะเป็นกระบวนการสุดท้ายที่จะมาใช้ในการเรียนการสอน เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่า การใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอน เป็นเรื่องที่สูญเปล่า และไม่คุ้มค่ามากที่สุด

“ในช่วงนั้นก็มีการท้วงติง แต่สุดท้ายรัฐบาลในขณะนั้นก็เดินหน้าจัดซื้อ ใช้ได้เพียง 1 ปี สุดท้ายแท็บเล็ตก็กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานไม่ได้ หากจะต้องทำกันจริงๆ ก็อยากให้หาคนนอกจากหน่วยงานตรวจสอบที่น่าเชื่อถือเข้ามาช่วยกำกับดูแลไม่ให้เกิดปัญหาความไม่โปร่งใส หากเป็นไปได้ ให้ดูเรื่องนี้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา และทางที่ดีอยากให้ลองมองช่องทางอื่นให้เด็กได้เรียนรู้” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ด้านนายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) เห็นว่า การจัดซื้อแท็บเล็ตในช่วงนี้ต้องถามก่อนว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะนโยบายนี้เคยทำมาแล้วสมัยหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปัญหาสำคัญคือ เด็กยังไม่มีทักษะในการเรียนรู้ การใช้แท็บเล็ตในการเรียนผ่านระบบออนไลน์ อยากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คิดให้ดี เพราะเรื่องนี้ต้องลงทุนสูง สังคมอาจเกิดความสงสัย

เช่นเดียวกับ น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน ที่ไม่เห็นด้วยในการจัดซื้อแท็บเล็ต โดยระบุว่า ที่ผ่านมาเราเคยแจกแล้ว แต่โรงเรียนหลายแห่งรวมทั้งตัวเด็กเองก็ยังไม่มีความพร้อม บางโรงเรียนขาดอุปกรณ์ การซื้อแท็บเล็ตแจกเด็กอาจไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

“การที่ ศธ.เตรียมจะจัดซื้อแท็บเล็ตครั้งนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ที่สำคัญอาจนำไปสู่การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง สิ่งที่ควรทำคือแจกแท็บเล็ตให้ครูเพื่อใช้ในการเตรียมพร้อมสอนออนไลน์มากกว่า”

น.ท.สุมิตรระบุ

 

ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่ไม่เห็นด้วยในการจัดซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียนระดับชั้น ม.4-ม.6 ซึ่งมีนักเรียนทั่วประเทศจำนวนมาก ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะคิดถึงงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อว่าจะพุ่งสูงกี่พันล้านบาท เมื่อเทียบกับการแจกแท็บเล็ตของนักเรียนชั้น ป.1 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ใช้เงินสูงถึง 1,900 ล้านบาท!!

และการลงทุนครั้งนี้มีความคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่…

อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดแล้ว นายณัฏฐพลยอมถอยไม่ผลักดันนโยบายนี้ต่อ โดยออกแถลงการณ์การจัดการเรียนการสอนช่วงที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ครั้งที่ 1 ซึ่งมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า…

ในการจัดการเรียนการสอน ศธ.จะใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การเสนอขอช่องดิจิตอลทีวี จาก กสทช.ทั้ง 13 ช่อง เพื่อให้นักเรียนทุกระดับชั้นสามารถเรียนผ่าน DLTV ได้ ทั้งนี้ ยังไม่มีการจัดซื้ออุปกรณ์ใดเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น!!!

พร้อมกับเข้ารายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ศธ.ไม่ได้จัดซื้อแท็บเล็ตแล้ว เพราะมีทางอื่นที่ดำเนินการได้จำนวนมาก โดยไม่จำเป็นต้องสูญเสียงบประมาณ อีกทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในเรื่องดังกล่าวมีช่องโหว่มาก ดูแล้วไม่เหมาะสมในตอนนี้

“ทั้งนี้ นายกฯ เน้นย้ำเรื่องงบประมาณว่า การใช้จ่ายต้องเหมาะสมมีประสิทธิภาพ พร้อมกับสอบถามเรื่องการสอนออนไลน์ ถ้าจำเป็นจะดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งผมยืนยันว่าดำเนินการได้” นายณัฏฐพลกล่าว

 

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเรียนการสอนของนักเรียนจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่ง ศธ.ต้องวางแผน หาทางคิดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการคิดรูปแบบการเรียนผ่านดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสอนผ่านทีวี หรือผ่านออนไลน์ด้วยแท็บเล็ต

ทั้งนี้ การพิจารณาจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนโดยเฉพาะแท็บเล็ต ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า และความพร้อมของผู้ใช้งานว่าเมื่อซื้อมาแล้ว สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย และสร้างระบบการตรวจสอบให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน เพื่อให้มั่นใจว่าการซื้อแท็บเล็ตครั้งนี้จะสร้างประโยชน์กับการศึกษาอย่างแท้จริง

            ไม่ใช่กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างที่ผ่านมา!!