AI หรือ I เอง สถาบันสถาปนา 5,000 / ฉบับประจำวันที่ 17-23 เมษายน 2563

ความไม่พอใจที่แสดงออกผ่านโลกโซเชียล หรือรวมแม้กระทั่งที่กระทรวงการคลัง
ต่อระบบ AI ของกระทรวงการคลัง ที่คัดกรองคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนเงินเยียวยา 5,000 บาท ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com
ที่ทำให้คนที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่ได้รับเงิน
บางรายถูกตัดสิทธิ์เป็นเกษตรกร ทั้งที่เจ้าตัวบอกว่าไม่มีที่ดินในการทำกิน ทำอาชีพขับรถรับจ้างมาโดยตลอด
ประชาชนบางรายถึงกับร่ำไห้ออกมา เพราะหวังอยากได้เงินดังกล่าวไปใช้จ่ายประทังชีวิตในช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่ไม่ได้
พร้อมทั้งแสดงความข้องใจถึง AI ว่าคือเครื่องมือพิเศษ ในการกลั่นกรองจริงหรือ

คําถามอันอื้ออึงนั้น เกิดกับผู้เชี่ยวชาญในวงการปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ด้วย
เพราะเมื่อกล่าวถึง AI สิ่งที่สื่อออกมาจากคำนี้ มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีล้ำสมัย ที่มีความอัจฉริยะ เลียนแบบความฉลาดของมนุษย์
ด้วยเพราะมันมี “ต้นแบบ” ซึ่งก็คือ “ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data”
ที่นำมาหาความสัมพันธ์ หรือประมวลผลเชิงลึก หลายๆ ชั้น
ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้เลย
แทบไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาจากมนุษย์อีก
ตรงกันข้ามบางเรื่องการตัดสินใจเกิดโดยมนุษย์ อาจจะทำให้ดำเนินการได้ช้าเกินไป ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานด้อยลง
AI สามารถเข้ามาปิดจุดอ่อนตรงนี้ได้
ความลึกล้ำ และเลอเลิศเท่ากับหรือเหนือกว่าคนนี้เองเมื่อถูกประกาศ จากกระทรวงการคลังว่า จะนำ AI มาใช้ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน โดยมอบเงิน 5,000 บาทต่อเดือนเป็นจำนวน 3 เดือนให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด
ประชาชนที่แห่ไปลงทะเบียนกว่า 27 ล้านคน จึงมีความหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม
หรือแม้จะถูกตัดสิทธิ์ก็ควรถูกตัดสิทธิ์ด้วยเหตุผลที่เป็นธรรม
ตรงข้อเท็จจริง

แต่พอผลออกมาไม่แม่นยำ ไม่เป็นธรรม จึงคาใจชาวบ้านผู้เดือดร้อน
ตอนแรกๆแทนที่จะได้คำอธิบายจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
กลับมีการตอบโต้จากผู้ดูแลระบบว่าชาวบ้านลงทะเบียนด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ
แถมยังขู่ว่าน่าจะจับมาเข้าคุก
ความไม่พอใจจึงขยายตัวออกไปเรื่อยๆเพราะเอาเข้าจริงการคัดกรองก็มีปัญหาจริง
และแถมยังมีการยอมรับว่า ระบบที่ใช้การคัดกรองคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน มิได้มีการประมวลผลตามความหมายของ AIอย่างแท้จริง
เป็นเพียงการให้ระบบคอมพิวเตอร์ ไปตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ตามที่กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนด
โดยอาจไปตรวจสอบกับข้อมูลภาครัฐอื่นๆ ตามเงื่อนไข ซึ่งข้อมูลภาครัฐอื่นๆ ที่ไปตรวจสอบอาจไม่ได้สมบูรณ์ 100%
จึงเป็นกรณีที่หลายคนกังขาว่าทำไมคนนี้ได้ คนโน้นไม่ได้
กระทรวงการคลังจึงจะเปิดช่องให้มีการอุทธรณ์ หลังคัดกรองคนที่ลงทะเบียนไว้ 27 ล้านคนแล้วเสร็จ
ส่วนคำร้องอุทธรณ์จะพิจารณาให้เร็วที่สุดภายใน 7 วัน ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะ คืนความพอใจให้ชาวบ้านที่นับวันจะเดือดร้อนยิ่งขึ้นๆทุกทีได้อย่างที่พูดหรือไม่

ดูตามนี้แล้ว เรื่องเงิน 5,000 บาท น่าจะไม่จบลงง่ายๆ
ซึ่งก็คงบั่นทอนขวัญกำลังใจของชาวบ้านให้ตกต่ำไปเรื่อยๆ
ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ ดูเหมือนจะกระทำตนเป็น “สถาบันสถาปนา” ที่จะพิพากษาว่าใครได้-ไม่ได้
เทคโนโลยี AI ยังเป็นเรื่องของ I ที่วินิจฉัยในแง่บุคคลและใส่อารมณ์มองชาวบ้านคือผู้ที่รอการสงเคราะห์
ทั้งที่เงินก็เป็นเงินภาษีของทุกคนและมีสิทธิ์ที่จะได้รับการดูแลจาก “รัฐ”
จึงไม่แปลก ปฏิกิริยาไม่พอใจของชาวบ้านจะเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาลต้องรีบแก้
เพราะคนอีกนับล้านๆ ที่อยู่ในภาวะเดียวกันกำลังจ้องเขม็งอยู่!
——————————–