วิรัตน์ แสงทองคำ : เหตุเกิดที่ธนาคารกสิกรไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

นายธนาคารผู้เชี่ยวกรำและมีชื่อเสียง สืบเนื่องตระกูลธุรกิจเก่าแก่กว่า 7 ทศวรรษ ได้ตัดสินใจวางมืออย่างฉับพลัน ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ

“บจม.ธนาคารกสิกรไทย ขอเรียนว่า เมื่อเวลา 16.30 น. ภายหลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 108 นายบัณฑูร ล่ำซำ ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการธนาคาร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป”

หัวข้อข่าวซึ่งปรากฏในระบบข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (https://www.set.or.th/) ปรากฏขึ้นช่วงค่ำๆ หลังเวลาทำการซื้อขายหุ้น (2 เมษายน 2563) เป็นไทม์ไลน์สะท้อนเหตุการณ์อันเร้าใจ

ขณะถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการของธนาคารกสิกรไทยเอง (https://www.kasikornbank.com/) มีบางตอนตั้งใจเน้นเป็นพิเศษ

“คณะกรรมการธนาคารกสิกรไทย ประกาศแต่งตั้งนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งจะเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารหญิงคนแรกของธนาคาร และเป็นคนแรกที่ไม่ใช่ตระกูลล่ำซำ มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป…ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารมีมติแต่งตั้งให้นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการ (อิสระ) เป็นรักษาการประธานกรรมการ ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย จะเป็นประธานกรรมการที่เป็นกรรมการอิสระคนแรกของธนาคาร”

เหตุการณ์ข้างต้นสะท้อนแผนการใหม่ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนไปจากแผนการเดิม อาจจะถือว่าค่อนข้างกะทันหันก็เป็นได้

 

สาระซึ่งแตกต่างและสร้างความประหลาดใจแก่ผู้คนในวงการสังคมธุรกิจและธนาคารไม่น้อย

จากแผนการเดิมซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้ประกาศมาตั้งแต่เมื่อกว่า 6 เดือนที่แล้ว เป็นไปตามแบบฉบับองค์กรธุรกิจ กับแผนการสืบทอดการบริหาร (succession plan) อย่างดีอย่างเป็นระบบ

“ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ครั้งที่ 9/2562 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 ได้มีมติอนุมัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทน ให้แต่งตั้งนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการและกรรมการผู้จัดการ เป็นกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคาร สืบแทนนายบัณฑูร ล่ำซำ ที่ครบกำหนดตามสัญญา นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร ได้แต่งตั้งให้นายบัณฑูร ล่ำซำ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ประเภทกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร อีกทั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแก่คณะจัดการ โดยให้มีผลตั้งแต่ถัดจากวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2563 เป็นต้นไป” (หนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ 11 ตุลาคม 2562)

ความเป็นไปอย่างไม่คาดคิด ไม่เพียงบัณฑูร ล่ำซำ ในวัย 67 ปี ได้ตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่งในธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น ดูไปแล้วมีความตั้งใจให้ประธานกรรมการธนาคารคนใหม่ มิใช่คนในตระกูลล่ำซำอีกด้วย

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการคนใหม่ ผู้เพิ่งเข้ามาเป็นกรรมการและรองประธานกรรมการธนาคารได้เพียง 2 ปี ในขณะที่รองประธานกรรมการอีกคน เป็นคนในตระกูลล่ำซำ–สุจิตพรรณ ล่ำซำ ว่าไปแล้วมีความเพียบพร้อมด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิและประสบการณ์ทางธุรกิจ ทั้งเป็นกรรมการธนาคารกสิกรไทยมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ และดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการมาตั้งแต่ปี 2559

ปรากฏการณ์ข้างต้น ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมธุรกิจไทยโดยรวม โครงสร้างธุรกิจธนาคารไทยกำลังปรับเปลี่ยนไปอีกขั้น

 

ธนาคารไทยได้เผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งรุนแรงในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เริ่มต้นในปี 2540 สั่นสะเทือนและทำลายล้าง ภาพหนึ่งว่าด้วย “ธนาคารระบบครอบครัว” แทบไม่เหลือร่องรอย มีเพียงธนาคาร 2 แห่งเท่านั้นซึ่งอยู่รอด ยังปรากฏร่องรอยเหลืออยู่บ้างรางๆ นั่นคือธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกรุงเทพ กับตระกูลโสภณพนิช มีตำนานไม่เข้มข้น ต่อเนื่อง และยาวนานเท่าธนาคารกสิกรไทยกับตระกูลล่ำซำ

ธนาคารกรุงเทพก่อตั้งขึ้นก่อนธนาคารกสิกรไทยราว 1 ปี (2487) กว่าชิน โสภณพนิช จะเข้ามีบทบาทบริหารอย่างแท้จริง เวลาได้ล่วงเลยมาจนถึงปี 2496 อยู่ได้เพียงไม่กี่ปี ต้องเผชิญกระแสลมพลิกผันทางการเมือง ชิน โสภณพนิช ต้องระเห็จไปอยู่ฮ่องกงเสียหลายปี (2501-2507) ก่อนจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารธนาคารกรุงเทพอย่างมั่นคง

สามารถส่งไม้ต่อให้กับชาตรี โสภณพนิช (บุตร) ต่อเนื่องจนถึงรุ่นต่อมา (ชาติศิริ โสภณพนิช) จนมาถึงปัจจุบัน

บัณฑูร ล่ำซำ กับชาติศิริ โสภณพนิช ถือเป็นผู้บริหารธนาคารชั้นนำของไทย ด้วยบุคลิกร่องรอยมาจากธุรกิจครอบครัวทั้งสอง ผู้เตรียมตัวมาอย่างดี เข้ามามีบทบาทบริหารธนาคารในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

คนหนึ่งมีอำนาจอย่างเต็มที่ ทำงานท่ามกลางคนรุ่นใหม่ๆ

อีกคนยังอยู่ภายใต้เงาของบิดามาอย่างยาวนาน ท่ามกลางผู้อาวุโสรายล้อม คงบทบาทอย่างต่อเนื่องยาวนาน

 

หากมีใครถามว่า เหตุเกิดที่ธนาคารกสิกรไทยดังที่กล่าวข้างต้น มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์และวิกฤตการณ์ปัจจุบันหรือไม่อย่างไร

สถานการณ์พรั่นพรึงอันเนื่องมาจากโรคระบาดครั้งร้ายแรงที่เรียกว่า COVID-19 กำลังคุกคามชีวิตผู้คนทั้งโลก ได้ลุกลามขยายวงสั่นสะเทือนไปในทุกด้าน จุดชนวนเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งอย่างมิพักสงสัย

หากให้ตอบ ก็จะตอบว่า เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน

ประวัติศาสตร์มักจะบอกเช่นนั้น วิกฤตการณ์ครั้งหนึ่งๆ มักจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลายฉากตอน รวมไปจนถึงผู้นำ ไม่ว่าในองค์กรประเภทใด ทั้งถูกบังคับให้เปลี่ยนและตัดสินใจปรับเปลี่ยนเอง เปลี่ยนบทบาทให้เหมาะกับสถานการณ์ อย่างบางกรณีที่เกิดขึ้น

Bill Gates ในวัย 64 ประกาศลาออกจากตำแหน่งกรรมการใน Microsoft (เมื่อ 13 มีนาคม 2563) เป็นการตัดสินใจปรับเปลี่ยนบทบาทครั้งใหญ่ จากผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft เมื่อกว่า 4 ทศวรรษที่แล้ว ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมื่อกว่า 2 ทศวรรษมาแล้ว

แล้วในอีก 6 ปีต่อมาได้ลาออกจากประธานกรรมการ เขาบอกว่าจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ในกิจการด้านสาธารณประโยชน์ให้มากขึ้น

นี่อาจเป็นบทเรียนและจังหวะก้าวที่น่าสนใจของบรรดาผู้นำผู้ประสบความสำเร็จทั้งหลายในเวลานี้ก็เป็นได้

มีอีกบางเวอร์ชั่นที่น่าสนใจ เรื่องราวเกิดขึ้นจากบทสนทนากับชุมพล ณ ลำเลียง อดีตผู้จัดการใหญ่ในตำนานของเครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี

“ผมเริ่มเตรียมตัว วางมือ เพราะอายุมากแล้ว ความจำไม่ดีเหมือนเดิม …ต้องเปิดโอกาสให้คนอื่น หวังว่าคนรุ่นใหม่ไฟแรง ความจำดีและอดทน มีความฉลาด ศึกษาบทเรียนและประสบการณ์จากคนรุ่นเรา …ตอนนี้พ้นวิกฤตแล้ว ผมเชื่อว่าจะต้องมีวิกฤตอีก แต่วิกฤตครั้งหน้าคงไม่ใช่ผมแล้ว…” (เรียบเรียงจากหนังสือ “ชุมพล ณ ลำเลียง ผมเป็นเพียงลูกจ้าง” โดยวิรัตน์ แสงทองคำ ปี 2549)

บทสัมภาษณ์ข้างต้นมีขึ้นในช่วงปลายปี 2546 หลังจากเครือซิเมนต์ไทยได้ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ในช่วงปี 2540

“บัณฑูร ล่ำซำ รับภาระหนักตั้งแต่เริ่มต้นซึ่งก็สามารถนำพาธนาคารผ่านอุปสรรคสำคัญๆ มาได้ ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีอิทธิพลต่อการปรับตัวของธนาคารไทยดั้งเดิมทั้งระบบ ท่ามกลางการเผชิญมรสุมระบบการเงินและเศรษฐกิจ ทั้งภายในและระดับโลก” (จาก “บทบาทใหม่ บัณฑูร ล่ำซำ” คอลัมน์วิรัตน์ แสงทองคำ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18-24 ตุลาคม 2562) ยุคบัณฑูร ล่ำซำ แห่งธนาคารกสิกรไทยในช่วงเกือบๆ 3 ทศวรรษ เป็นเช่นนั้นจริงๆ

เป็นความพยายามปรับตัวอย่างกระฉับกระเฉง ทั้งก่อนและหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทย

 

ก่อนวิกฤตการณ์ปี 2540 ธนาคารกสิกรไทยเปิดฉากปรับกระบวนการทำงาน ตามแบบฉบับอเมริกันและธนาคารในโลกตะวันตก ครั้นเมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ กสิกรไทยถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกๆ สามารถเอาตัวรอด ท่ามกลางการพลิกโฉมหน้าระบบธนาคารในประเทศไทยไปอย่างไม่หวนกลับ

ผู้นำผู้มั่นใจ กับแผนการใหญ่ ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ เดินหน้าไปเป็นขั้นๆ อีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่จริงจัง ใช้เวลา 5 ปีกว่าจะสำเร็จ เขาเคยเรียกว่า “China card” ขณะภาพอิทธิพลจีนยังมองไม่เห็นนัก ขณะนั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่า มีพลังโดดเด่นเช่นทุกวันนี้

อันที่จริงในยุคของเขา ธนาคากสิกรไทยได้มีความพยายามปรับโครงสร้างการบริหารให้คนนอกตระกูลล่ำซำเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

เริ่มต้นในกรณี ประสาร ไตรรัตน์วรกุล จากผู้มีประสบการณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (9 ปี) และ กลต. (11 ปี) มาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย (2548-2553) ช่วงเวลาผ่านพ้นมาระยะหนึ่ง จากเผชิญแรงกดดันจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งประวัติศาสตร์ระบบธนาคารไทย

จากจุดนั้นน่าจะเป็นบทเรียนในจังหวะก้าวสำคัญ ก้าวใหม่ เพื่อเข้าสู่อีกยุค ขับเคลื่อนโดยผู้บริหารมืออาชีพรุ่นใหม่ ผู้ถูกสร้างจากระบบภายในเอง สามารถทำงานเป็นทีม ปรับตัวอย่างรวดเร็วในเวลาจำกัด กับงานที่มีความซับซ้อนมากกว่าเดิม ในภาพใหญ่ ธนาคารไทยกำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์ซึ่งมองไม่เห็นชัดเจน แต่ดูน่ากลัวกว่าครั้งก่อนๆ ในยุคใหม่ ที่เรียกว่า Digital Disruption

ผู้นำทั่วไปกับผู้นำการเปลี่ยนแปลง ย่อมแตกต่างกัน ผู้นำซึ่งมองเห็นโอกาส อาจมีมากกว่าผู้นำซึ่งรู้จังหวะและเวลาของตนเอง

 

ตระกูลล่ำซำ กับธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทย ก่อตั้งปี 2488

โชติ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ (2488-2491)

เกษม ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ (2491-2505)

บัญชา ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ (2505-2519)

ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (2519-2534)

บรรยงค์ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ (2519-2534)

ประธานกรรมการ (2535-2556)

บัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ (2535-2547)

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (2547-2556)

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ (2553-2556)

ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (2556-2563)