กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมมือกรมอนามัย รณรงค์ทุกท้องถิ่น จัดการขยะมูลฝอย-ส้วม-สิ่งปฏิกูล-ดูแล ปชช. กลุ่มเสี่ยง ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

เมื่อวานนี้ (14 เมษายน 2563) ณ ห้องประชุมกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น – นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานการประชุมหารือระบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ร่วมกับผู้แทนจาก กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายธนา ยันตรโกวิท คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์นายปิยะ ศิริลักษณ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขท้องถิ่น พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนัก/กองที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ย้ำว่าพี่น้องท้องถิ่นไทยทั่วประเทศ มีบทบาทสำคัญในภารกิจที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การหารือร่วมกันในวันนี้จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นการสร้างคลังความรู้ เผยแพร่แนวปฏิบัติที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้กับผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศต่อไป
ด้านนายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นหน่วยหลักในการดำเนินงานตามมาตรการเพื่อคุ้มครองสุขภาพของพี่น้องประชาชน เช่น การควบคุมกำกับกิจการด้านอาหาร น้ำ การจัดการมูลฝอย สิ่งปฏิกูล รวมถึงการควบคุมดูแลสุขลักษณะของอาคาร สถานที่ และการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัย ถือเป็นการดำเนินงานเชิงป้องกันในด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี
สำหรับการดำเนินงานเชิงป้องกันในด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย 1.การดูแลและสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในเรื่องการบริโภคอาหาร โดยควบคุมกำกับสถานประกอบการกิจการอาหาร เช่น ตลาดสด ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ (ซุปเปอร์มาร์เก็ต/มินิมาร์ท/ร้ายขายของชำ) การบริการอาหาร Delivery รถเร่จำหน่ายอาหาร ให้ดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติด้านสุขอนามัยฯ ของกรมอนามัย เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน 2.การจัดการคุณภาพน้ำบริโภค โดย อปท. ประสานผู้ดูแลระบบประปาในพื้นที่ ให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำในการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสโควิด-19 หากมีอาการเจ็บป่วยให้หยุดการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ให้เพิ่มการทำความสะอาดตามจุดเสี่ยงต่างๆ ในอาคารสถานที่ผลิตน้ำประปาด้วย
3.การจัดการมูลฝอยอย่างปลอดภัยสำหรับชุมชน ประชาชน และผู้ปฏิบัติงานเก็บขน โดยรณรงค์ถึงคำแนะนำในการจัดการมูลฝอยสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติงานเก็บขน หรือกำจัดมูลฝอยของ อปท. การแยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ทั้งนี้ อปท.ทุกแห่งควรวางแผนและจัดเตรียมทรัพยากรในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ เช่น บุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะ เพื่อรองรับสำหรับการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในกรณีวิกฤติ 4.การจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูล โดยเฉพาะการใช้ส้วมสาธารณะ ให้ลดการสัมผัสพื้นผิวหรืออุปกรณ์ภายในห้องส้วม, ปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดล้าง เพื่อลดโอกาสการฟุ้งกระจายของไวรัส, ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดหลังใช้ส้วม และงดการใช้อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันภายในห้องส้วม
5. แนวทางการส่งเสริมสุขภาพ และคำแนะนำสำหรับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เด็กปฐมวัย ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง โดยรณรงค์ให้ล้างมืออย่างถูกวิธี, เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ๆ, ดูแลส่งเสริมสุขภาพจิต หาวิธีผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเอง,  หลีกเลี่ยงออกจากบ้านในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคหรือบริเวณที่มีคนหนาแน่น หากจำเป็นให้สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า โดยใช้เวลาน้อยที่สุด รักษาระยะห่างจากบุคคลอื่น 1-2 เมตร หลีกเลี่ยงการสวมกอด การอุ้มหรือพูดคุยในระยะใกล้ชิดกับบุคคลอื่น และเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีในการติดต่อกับผู้อื่น เช่น คุยโทรศัพท์ หรือออนไลน์ เป็นต้น
ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง สามารถดาวน์โหลดสื่อประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องได้จากเว็บไซต์ของกรมอนามัย https://www.anamai.moph.go.th/ เพื่อสร้างการรับรู้ และการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ให้กับพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างทันท่วงที