จรัญ พงษ์จีน : “โควิด-19” วิกฤตอาจไม่ได้ให้ทุกโอกาส

จรัญ พงษ์จีน

การแพร่ระบาดของ “ไวรัสโควิด-19” ต้องยอมรับว่าได้สร้างความโกลาหลวุ่นวายให้กับโลกทุกด้าน ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึง “วิถีชีวิต” ต้องปรับจูนโมเมนตัมกันใหม่ เพราะทุกคนกลัวกันจน “สติแตก”

ทั้งๆ ที่ว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ มีอาการเกิดรุนแรงน้อยกว่าโรคซาร์ส เพียงแต่แพร่ระบาดได้ “ง่ายกว่า” แต่อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อต่ำกว่าการเสียชีวิตของโรคซาร์ส

สาเหตุที่ผู้คนพากันตื่นกลัวโควิด-19 มากกว่าซาร์ส ปัจจัยหนึ่งเพราะ “สังคมรังเกียจ” ตอนนี้ต้องรักษาสุขภาพ ไม่เพียงแต่ระยะห่าง แต่ต้อง “ไม่ป่วย” แค่จาม ไอ แพ้อากาศ กลายเป็นถูกรังเกียจ

“ตาย” ช่วงนี้ก็ลำบากหาเมรุ-หาวัดเผาทำการฌาปนกิจลำบาก บางวัดประกาศปิดเชิงตะกอน ไม่ทำกิจสงฆ์เกี่ยวกับศพก็มีแล้ว

 

ต้องยอมรับว่า แม้วิกฤตโควิด-19 จะพ่นพิษป่วนทั้งโลก แต่ก็มีผู้แปรวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างมหัศจรรย์

คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้นำรัฐนาวา “ตู่ 2/1” ดังที่ทราบหลังเสร็จศึกอภิปายไม่ไว้วางใจ มีแรงกดดันทางการเมืองเกิดขึ้นมากมายหลายประเด็น ทั้ง “ศึกนอก-ศึกใน”

พรรคพลังประชารัฐ เกิด “สนิมเนื้อใน” มีการขับเคลื่อนของ ส.ส.หลายกลุ่ม จับมือกันตั้ง “ทีม อ.ส.ว” มีโต้โผ 3 คน คือ “อ.อนุชา นาคาศัย” ส.ส.ชัยนาท รองหัวหน้าพรรค “ส.สุชาติ ชมกลิ่น” ส.ส.ชลบุรี ประธาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ “ว.วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิป

ทั้ง 3 มีบทบาทในการรับมือศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ประสบชัยชนะสูง ต้องได้รับรางวัล ได้เป็นรัฐมนตรี อย่างน้อย “เสี่ยเฮ้งกับเสี่ยแฮงค์” จะได้นั่งว่าการและรัฐมนตรีช่วยตามลำดับ

แน่นอนว่ามีคนเข้าก็ต้องมี “คนออก” เป็นมรรคผลให้พรรคพลังประชารัฐมี “แรงกระเพื่อม” เกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรีมากไม่น้อยทีเดียว

 

ขณะเดียวกันประชาธิปัตย์คุกรุ่น มีการแหกมติพรรคร่วมรัฐบาลในการที่ 4 ส.ส.โหวตสวน ลงมติให้ตั้งกรรมาธิการ เพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 44 แล้ว

มาตอกย้ำหัวตะปูในการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ที่รัฐมนตรี 5 คนของพรรคพลังประชารัฐถูกจับขึ้นเขียง และมุ่งกระแทกกลาง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยอ้างว่า ร.อ.ธรรมนัสไม่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่ประเทศออสเตรเลีย ทั้งประเด็นการศึกษา และอื่นๆ

2 กรรม 2 วาระของด้านที่ส่งสัญญาณจากพรรคประชาธิปัตย์ พล.อ.ประยุทธ์ค่อนข้างจะไม่สบายใจ มีการเคลื่อนไหวแก้เกมกันในพรรคพลังประชารัฐหลายแนวทาง

ทั้งจับปลาในอ่างจากพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบ ดึงเสียงมาเสริมใยเหล็กแทนพรรคประชาธิปัตย์ที่จะปรับออก

หรือถึงขนาดมี “ขาใหญ่” แอบทอดไมตรีไปยังพรรคเพื่อไทย ที่จะดึงมาจับมือกับ พปชร. เพราะบุคลากรระดับแกนนำของทั้งสองพรรค ส่วนมากแล้วก็มาจาก “ไผ่กอเดียวกัน” คือจากไทยรักไทย

จับอาการได้จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทย “จืด” เหนือคำบรรยาย เป็นมวยล้มต้มคนดู ทั้งนี้ทั้งนั้น น่าจะเพราะแกนนำบางส่วนของทั้งสองพรรค “นิมิต” ที่จะรวมรัฐบาลกันในอนาคต โดยเขี่ยประชาธิปัตย์และพรรคเล็กบางพรรคออก

ไหนยังจะมีแรงกดดันจาก “ม็อบนักศึกษา” ที่ขยายแนวร่วมได้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

เหล่านี้คือสัญญาณอันตรายว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะอยู่ยาก หากไม่แก้เกมปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใด

 

แต่พลันที่เกิด “โควิด-19” วิกฤตถึงขีดสุด “พล.อ.ประยุทธ์” กลับได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมมหาศาล “หลายเด้ง” จากการออกคำสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กำหนดหน้าที่ของ “รัฐมนตรี” ตามกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่ของ “นายกรัฐมนตรี”

ตามไฟต์บังคับที่ระบุว่า ตามที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว เฉพาะในส่วนที่การอนุญาตอนุมัติ สั่งการ บัญชาการ หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชน

อำนาจครอบอาณาจักรตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ รวมศิโรราบ 39 พระราชบัญญัติด้วยกัน ที่ “เจ้ากระทรวง” ทุกทบวง กรม ต้องผ่องถ่ายให้มารวมศูนย์กระจุกตัวอยู่ที่ทำเนียบ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” อานุภาพร้ายกาจพอๆ กับเครื่องดูดฝุ่น ดูดอำนาจทุกอย่างแบบเชิงกล มากองรวมให้ “สร.1” กดปุ่มใช้บริการได้เพียงคนเดียว

รัฐมนตรีเกรดเอ เกรดบี หรือกระทรวงเกรดซี เหลือแต่ “สุญญากาศ”

นักวิเคราะห์-นักวิจารณ์-กูรูการเมืองทุกสำนักวิเคราะห์ไปทิศทางเดียวกันว่า การออก “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ได้กำไรอย่างแรง เด็ดขาดและทรงพลังขึ้นมาโดยพลัน

มิต่างอะไรกับ “การยึดอำนาจหรือรัฐประหารเงียบ” กลไกแห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดเกมทางการเมืองได้ทุกมิติ

ไม่เพียงแต่ใช้แก้ปัญหา “โควิด-19” ด้านเดียว ยังจัดการโครงสร้างอำนาจต่างๆ ได้ในทุกบริบท รัฐสภาปิดสมัยประชุม-การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ จัดการได้หมด

เหนือสิ่งอื่นใดคือปัญหาภายใน “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่กำลังเขย่าขวด ก็พากันเงียบเชียบเป็น “เป่าสาก” ทันที

“หนู-อนุทิน” เป็นใคร “อู๊ดด้า” ตำแหน่งอะไร กลายเป็นรัฐมนตรีโลกลืมกันหมด

“โควิด-19” ทำให้ “บิ๊กตู่” หนังเหนียวได้อีกนาน อย่างน้อยก็ถึงปลายปี 2563 โน่น