หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘หวังดี’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
สมเสร็จ - สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่วิถีชีวิตพวกมันส่วนหนึ่งยังเป็นปริศนาให้คนได้ศึกษาเรียนรู้

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘หวังดี’

 

นอกจากจะปุ๊ เพื่อนชาวมูเซอดำ แห่งบ้านมูเซอปากทาง ขึ้นดอยม่อนจอง ซึ่งเป็น “คู่หู” ที่ผมพูดและเขียนถึงเขาบ่อยมาก

แล้วดูเหมือนจะมี “อดิเทพ” คู่หูชาวกะเหรี่ยงบ้านช่องสามัคคี ใกล้หมู่บ้านจะแก ในป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันตกนี่แหละ ที่ผมเขียนถึงเขาบ่อยที่สุด

จนกระทั่งอดิเทพเป็นที่รู้จัก เขาประหลาดใจที่เมื่อมีคนเข้ามาถึงหน่วยพิทักษ์ป่ามหาราชที่เขาอยู่ แล้วถามหาหรือขอถ่ายรูปด้วย

ทั้งจะปุ๊และอดิเทพมีความเหมือนกัน นอกจากเป็นคู่หูของผม ทั้งคู่ยังเป็นเพื่อนและครู

และอ่านหนังสือไทยได้นิดหน่อย

สิ่งหนึ่งที่ผมบอกเสมอคือ ผมเป็นคนที่ทำงานง่ายที่สุด แค่กดชัตเตอร์

คนทำงานในป่า ที่ลงแรงลงใจปกป้องสัตว์ป่า กับแหล่งอาศัยพวกมัน นั่นทำงานยากกว่าผมหลายเท่า

และพวกเขาทำให้ผมมีโอกาสได้กดชัตเตอร์

มี “คู่หู” ดีๆ งานรวมถึงการใช้ชีวิตในป่า, บนดอย ก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก

จะปุ๊จากไปอยู่บนดอยสูงที่ไหนสักแห่งนานแล้ว

ส่วนอดิเทพ ลาออกจากงานกลับไปอยู่บ้าน

บ้านที่เขาบอกว่า สักวันให้ผมไปเยี่ยมเยือน

 

อดิเทพเกิดที่เมืองสังขละ ในสมัยที่ถนนจากอำเภอทองผาภูมิไปถึงสังขละยังเป็นเส้นทางป่า

“พ่อผมเป็นกะเหรี่ยงมาจากนอก พูดไทยได้มั่งไม่ได้มั่ง” อดิเทพเล่า

ค่ำๆ ในแคมป์ กินข้าวเสร็จ อดิเทพเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ ซ้ำไปซ้ำมา อย่างคนช่างพูด ผมฟังอย่างขึ้นใจ

ภาษาพูดไทยของเขาไม่แข็งแรงนัก ผมเรียบเรียงใหม่ให้เข้าใจ

พ่อมาจากนอก หมายถึงจากฝั่งประเทศพม่า ดังนั้น อดิเทพเพิ่งได้บัตรประชาชนตอนอายุใกล้ 50

“ยากมาก หม่องโจ กว่าพวกเราจะได้บัตร ต้องวิ่งไปหาคนโน้นคนนี้ให้รับรองว่าเราเกิดที่นี่”

หลังทำงานมาหลายแห่ง ทั้งงานในเหมืองแร่ หาของป่า ตัดไม้ไผ่ รวมทั้งทำไร่ข้าวเพื่อเอาไว้กิน เขามาสมัครเป็นลูกจ้างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อ 6 ปีก่อน

อดิเทพรับมอบหมายมาให้ดูแลผมขณะทำงานที่นี่

ความสามารถพิเศษของเขาคือ มีลูก 10 คน

“ทำไมลูกเยอะ” ผมถาม ที่จริงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่คนในหมู่บ้านเขาจะมีลูกบ้านละ 9-10 คน

“มีไปเรื่อยๆ นั่นแหละ” เขาตอบสั้นๆ

“ทำคลอดเองด้วยนะครับ อยู่ในป่าไม่มีใครช่วย พอเมียปวดท้องใกล้คลอด ผมก็บีบๆ ท้อง ให้หัวเด็กอยู่ตรงๆ แล้วออกมาเลย” ดูเหมือนเขาเล่าถึงการคลอดลูกที่ไม่ยุ่งยากอะไร

“หลังคลอด ให้เมียอยู่ไฟ 7 วัน ผมหาขมิ้นกับพริกไทยดำมาให้กิน ข้างในเมียจะได้เข้าที่ดีๆ” เขาเล่าแบบผู้เชี่ยวชาญ

 

แต่ความสามารถไม่พิเศษของอดิเทพ คือการทำกับข้าว

นอกจากน้ำพริกปลากระป๋องซึ่งพอกินได้ อย่างอื่นนั้น คงต้องใช้สำนวนคนในป่าว่า “ดีกว่าไม้ดีดปากนิดๆ”

กระนั้น เขาก็พยายาม อย่างเช่น นำเสนอแกงไข่ ที่เอาไข่มาต้ม แล้วผัดพริกแกง ปรุงรส เทราดลงบนไข่ต้ม เพื่อใส่กล่องให้ผมไปกินกลางวันในซุ้มบังไพร

น้ำมันเยิ้มๆ เย็นชืด ไม่ชวนกินเลย

ตอนค่ำ ผมจึงบอกเขาว่า เอากับข้าวง่ายๆ ก็ได้ ไม่ต้องทำให้ยุ่งยากหรอก

เรื่องนี้ผมเคยเล่าหลายครั้งว่า

วันรุ่งขึ้น ผมเปิดกล่องข้าว พบไข่ต้มหนึ่งฟอง กับพริกขี้หนูสองเม็ด

เป็นกับข้าวที่ง่ายจริง

 

ชื่อไพเราะว่าอดิเทพ ได้มาจากอำเภอเหมือนคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน แถบนี้ทุกคนมีชื่อเพราะๆ ถ้าไปเปลี่ยนชื่อ ก็จะได้ชื่อและนามสกุลที่เกี่ยวข้องกับบ้านเกิด

เดิมอดิเทพชื่อ คอแตก

“ชื่ออะไรนะครับ ฟังไม่ถนัด” ผมถามย้ำ

“ที่จริงผมชื่อครกแตก ไม่ใช่คอแตก” เขาว่า

“เพราะตอนจะเกิด แม่ตำข้าวทำครกแตก พ่อเอาชื่อนี้ไปแจ้งอำเภอ คงพูดไม่ชัด ทางอำเภอได้ยินเป็นคอแตก” เขาอธิบาย

ผมอึ้งๆ ไป ไม่แน่ใจว่า ถ้าทางอำเภอได้ยินชัดเจน ชื่อจะดีกว่าไหม

ต่อมา อดิเทพอยากเปลี่ยนชื่อ เขาไปขอเปลี่ยนที่อำเภอ

“ผมขอเปลี่ยนเป็นชื่อสมเสร็จ” เขาเล่า

“ชื่อสัตว์หายากทีเดียว ทำไมอยากใช้ชื่อนี้ล่ะครับ” ผมถาม

“ตอนรุ่นๆ ผมเคยยิงสมเสร็จตายตัวหนึ่ง ตั้งแต่นั้น ชีวิตมีแต่เรื่องไม่ดี  จึงจะใช้ชื่อสมเสร็จเพื่อแก้เคล็ด” อดิเทพส่ายหัว

“แต่ทางอำเภอเขาว่า ชื่อไม่ดีไม่เหมาะ เลยตั้งให้ว่า อดิเทพ”

เขาใช้ชื่อนี้อย่างเป็นทางการมาตลอด

แต่เพื่อนๆ ในเขตเรียกเขาว่า คอแตะ

 

“ตอนเด็กผมไม่ยอมไปโรงเรียน” ผมฟังเรื่องนี้เกือบทุกค่ำ

“หนีตลอด เข้าป่าหายิงกระรอกเรื่อยเปื่อย” เขาเล่า

“ภาษาพม่านี่ผมอ่านเขียนได้นะ ถึงภาษาไทยอ่านไม่ออกก็เถอะ” อดิเทพคุย

เขาทำงานดี หัวหน้าพอใจ ถ้าออกลาดตระเวนเขาก็ช่วยทีมได้ดี ใช้ทักษะในการเดินป่า ร่วมกับการใช้เครื่องมืออย่างจีพีเอส และแผนที่ ของเจ้าหน้าที่หนุ่มๆ

“พวกเขาเดินไหว ผมก็ไหว” อดิเทพว่าอย่างนี้

ในฐานะอาวุโสกว่า เขาตักเตือนหนุ่มๆ บ่อยๆ ซึ่งเพื่อนร่วมทีมหนุ่มก็ยอมรับฟัง

ข้อสำคัญ อดิเทพเป็นคนคอยดูแลพาเพื่อนร่วมทีมหลังกินเหล้าเมาให้กลับไปห้องนอนถูก

 

อดิเทพทำให้ชีวิตในแคมป์ผม “หรู” มาก เขาดูแลแคมป์อย่างดี สะอาด เรียบร้อย ข้าวของวางเป็นระเบียบ

ตื่นตั้งแต่ตีสี่ หุงข้าวและเริ่มทำเสียงกุกกักๆ ดังขึ้นๆ เมื่อถึงตีสี่ครึ่ง เจตนาเพื่อปลุกให้ผมตื่น เพื่อเดินไปบังไพรก่อนสว่าง

และเขาจะไปรับผมราวหนึ่งทุ่ม ช่วงกลางวัน เขาหาฟืน หาผัก เตรียมอาหารเย็น ทำเช่นนี้เป็นกิจวัตร

 

คํ่าวันหนึ่ง เป็นวันที่ทำให้ผม “รู้จัก” เขามากขึ้น และรู้ว่าเขาเป็นห่วงและหวังดีกับผมมากแค่ไหน

ตอนเขามาถึงซุ้มบังไพรนั้น มีกระทิงตัวผู้ร่างกำยำตัวหนึ่งอยู่ในโป่ง

มีกลิ่นคนเพิ่มขึ้น กระทิงตัวนั้นเงยหน้าสูดกลิ่น ท่าทางหงุดหงิดที่โดนรบกวน มันหันหน้ามาทางเรา จ้องเขม็ง

“มันเอาแน่ หม่องโจระวัง” อดิเทพพูดไม่ขาดคำ กระทิงวิ่งเข้าหาบังไพร

มันหยุดห่างจากซุ้มสักหนึ่งเมตร พ่นลมหายใจฟืดฟาด

ก่อนหันหลังวิ่งเหยาะๆ ไปตามด่าน

ผมหันมาดูข้างหลัง อดิเทพที่อยู่บนต้นไม้

 

เขาลงจากต้นไม้ ช่วยผมเก็บขาตั้งเอาไปแบก ผมยกเป้ขึ้นสะพาย

“ขอบคุณนะครับ” ผมกอดเขาเบาๆ

“กระทิงมันไม่มีเจตนาร้ายอะไรหรอก หงุดหงิดตามประสากระทิงแก่ๆ แหละ” ผมพูด

“ต้องมีคนอยู่ดูแลนะ ถ้าหม่องโจเป็นอะไรไป” เขาบอกถึงสาเหตุที่หนีขึ้นต้นไม้ก่อน

วันนั้น ผมจะเขียนว่า ถูกกระทิงดุตัวหนึ่ง “ชาร์จ” ก็ไม่ผิดความจริงนัก

แต่จากแววตาที่เห็นใกล้ๆ ผมเห็นแววการเตือนอย่าง “หวังดี” ของมัน

เตือนว่า ผมรบกวนเวลาสำราญของมัน

เช่นเดียวกับที่อดิเทพ การที่เขาหนีขึ้นต้นไม้ก่อนนั้น จะคิดว่าเขาเอาตัวรอดก็ได้

ที่จริง นั่นคือความ “หวังดี”

ในป่า เรื่องอาจเลวร้ายหากเราเป็นอะไรทั้งสองคน

ต้องมีคนหนึ่งคอยช่วยเหลือดูแล

 

อาจเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่เพื่อนทำ

โดยเฉพาะเพื่อนที่พูดจาสื่อสารกันไม่ชัดเจน

เพื่อนที่บางครั้งไม่ได้ตักเตือนเราด้วยท่าทีอ่อนโยน

ไม่ใช่คู่หูอย่างอดิเทพ

ผมหมายถึง กระทิง…