การ์ตูนที่รัก / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ / สูญสิ้นความเป็นคนเล่ม 3 ตอนอวสาน

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

สูญสิ้นความเป็นคนเล่ม 3 ตอนอวสาน

 

เคยเขียนถึงหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “สูญสิ้นความเป็นคน” ผลงานของจุนจิ อิโตะ จากวรรณกรรมญี่ปุ่นเรื่องเอกชื่อเดียวกันของโอซามุ ดะไซ เมื่อไม่นานมานี้

หนังสือการ์ตูนเป็นลิขสิทธิ์ของรักพิมพ์พับลิชชิ่ง ส่วนหนังสือวรรณกรรมต้นฉบับใช้สำนวนแปลของวิภาดา กิตติโกวิด สำนักพิมพ์คนบ้าหนังสือ เพื่อเทียบเคียง

วันนี้เล่ม 3 ซึ่งเป็นตอนจบออกวางแผงแล้ว เมื่ออ่านดูพบว่ามีคุณค่าควรแก่การพูดถึงอีกครั้งเพื่อความสมบูรณ์

หนังสือของโอซามุ ดะไซ เป็นวรรณกรรมคลาสสิคของญี่ปุ่น เวลาอ่านควรอ่านช้าๆ เพื่อซึมซับถ้อยคำพรรณนาอย่างตั้งใจ จะช่วยให้เกิดมโนภาพ มโนภาพนั้นเป็นเช่นไรแล้วแต่ภูมิหลังของนักอ่านแต่ละคน นี่เป็นวิธีทำงานของวรรณกรรม

ในขณะที่จุนจิ อิโตะ โดดเด่นเรื่องการเขียนการ์ตูนสยองขวัญที่ดิบ เถื่อน และตรงไปตรงมา เขาใช้ลายเส้นที่โจ่งแจ้งและวิธีเล่าเรื่องที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมจับต้องได้ งานเขียนทุกเรื่องของเขาขึ้นชั้นคลาสสิคเช่นกัน

 

เล่ม 3 เริ่มต้นด้วยโยโซติดเหล้าและป่วยด้วยโรคปอดแล้ว เขามีประสาทหลอนมองเห็น “ผีห่ามากมาย” กับนางในอดีตที่เคยพานพบ

เขาสับสนและเดินโซซัดโซเซไปจนกระทั่งพบฮิโรโกะ สาวเจ้าของร้านขายยาแห่งหนึ่ง โยโซให้ฮิโรโกะช่วยจัดยาให้ แต่ยานั้นไม่ได้ผล ฮิโรโกะจึงเริ่มต้นฉีดมอร์ฟีนให้แก่เขาจนกระทั่งเขาเสพติด ต้องวนเวียนกลับมาขอฉีดยาอยู่เสมอ

ที่ฝาบ้านของฮิโรโกะ เธอใช้สมุนไพรและดอกไม้แห้งมาแขวนประดับประดาเป็น “ภาพสยองขวัญ” วันหนึ่งสองหนุ่มสาวพลอดรักกันหลังจากได้ยาฉีดไปคนละเข็ม ทันใดนั้นมีลูกค้าแวะมาซื้อยาพอดี เธอคือโยชิโกะ

เวลานั้นโยโซอยู่กินกับโยชิโกะอยู่แล้ว หลังจากวันนั้นโยชิโกะจับได้ว่าโยโซมาหลับนอนที่บ้านของฮิโรโกะบ่อยครั้ง เธอไม่พูดอะไรแต่เริ่มมีอาการย้ำคิดย้ำตามด้วยอาการหวาดระแวง เธอหน้าคล้ำกลอกตาไปมาดูเหมือนผีเข้าไปทุกที เธอกลับไปหาพืชพิษที่ร้านขายยาของฮิโรโกะเพื่อนำมาฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายสำเร็จในเวลาต่อมา

หลังการตายของโยชิโกะ ฮิโรโกะรู้สึกผิดจึงเผาพืชพิษที่เก็บสะสมไว้แต่ไฟนั้นลามทั่วบ้าน เธอวิ่งเข้าไปช่วยเหลือพ่อซึ่งนอนป่วยเดินไม่ได้แล้วถูกไฟคลอกตายพร้อมกันทั้งพ่อ-ลูก โยโซเมื่อเห็น “ภาพศพที่ไฟคลอกตาย” ก็เสียใจจนหมดสติไป เป็นสหายในอดีตคือฮิราเมะ โฮริกิ และคู่ขามาดามเคียวบาชิช่วยกันนำตัวเขาส่งโรงพยาบาลจิตเวชในเวลาต่อมา

“สูญสิ้นความเป็นคน” จุนจิ อิโตะ เขียนวลีนี้ในจังหวะนี้

โยโซลงแดงในโรงพยาบาล เขามองเห็นตัวเอง และมีภาพหลอนผีผู้หญิงนับร้อยพันตามหลอกหลอน จุนจิ อิโตะ วาดภาพในอดีตที่โยโซเคยทำกรรมไว้กับใครต่อใคร เป็นต้นเหตุให้เพื่อนตาย ทำลูกพี่ลูกน้องสองสาวตาย นัดหญิงสาวฆ่าตัวตายแต่ตนเองรอด ตามด้วยโยชิโกะและฮิโรโกะในที่สุด เหล่านี้ถูกวาดออกมาให้เห็นอย่างจะแจ้ง

บทสุดท้ายในหนังสือการ์ตูนเขียนให้โอบะ โยโซ ได้พบโอซามุ ดะไซ ในโรงพยาบาล ทิ้งไว้ให้นักอ่านการ์ตูนที่สนใจติดตามอ่านและตีความตอนจบของจุนจิ อิโตะ ไว้ที่ตรงนี้

 

จุนจิ อิโตะ ได้เขียนหมายเหตุไว้ว่า เขาได้เปลี่ยนเนื้อเรื่องบางตอน อันที่จริงมิใช่เพียงบางตอน เขาเปลี่ยนเนื้อเรื่องไปมาก ส่วนที่ถูกเปลี่ยนในเล่มสามนี้มีอะไรที่สำคัญบ้าง

หนังสือต้นฉบับเขียนถึงคุณนายร้านขายยาว่าเป็นโปลิโอแต่กำเนิดและใช้ไม้เท้า มีพ่อสามีที่นอนป่วยอยู่ในบ้าน ตอนที่โยโซพบกับเธอครั้งแรกนั้น

“ชั่วขณะที่ผมสบตาหญิงเจ้าของร้าน ผมเห็นเธอดูราวกับถูกแสงไฟส่องจนตาลาย แหงนหน้าเบิกตาโตยืนนิ่ง นัยน์ตาที่เบิกกว้างนั้นไม่มีแววแปลกใจ ไม่แสดงความรังเกียจ แต่เป็นแววของการขอความรอด ทั้งเต็มไปด้วยอารมณ์โหยหา โอ เธอต้องเป็นคนเคราะห์ร้ายด้วย เพราะคนเคราะห์ร้ายนั้นมักไวต่อความเคราะห์ร้ายของคนอื่น”

อ่านแล้วก็เห็นจริงว่าคุณนายร้านขายยาเป็นคนเคราะห์ร้าย

เราจะวาดรูป “ความเคราะห์ร้าย” ออกมาเป็นการ์ตูนได้อย่างไร

โอซามุ ดะไซ มิได้ระบุชื่อคุณนายร้านขายยา เรื่องความสัมพันธ์ของคนทั้งสองนอกเหนือจากเรื่องการให้มอร์ฟีนแก่โยโซแล้วก็เขียนเพียงว่า “สร้างความสัมพันธ์ที่น่าเกลียดกับคุณนายพิการร้านขายยา”

เราจะวาดรูป “ความสัมพันธ์ที่น่าเกลียด” ออกมาเป็นการ์ตูนได้อย่างไร

หนังสือต้นฉบับมิได้ให้โยชิโกะตาย ซึ่งหนังสือใช้ชื่อว่าเรียวโกะ แต่เป็นเรียวโกะ ฮิราเมะ และโฮริกิที่พาโยโซไปโรงพยาบาลจิตเวช แล้วจบย่อหน้านี้ว่า “ผมยุติการเป็นคนโดยสิ้นเชิง”

พี่ชายของโยโซมาพาโยโซออกจากโรงพยาบาลไปอยู่ในชนบทหลังจากที่พ่อตาย แม้ว่าพ่อจะเป็นผู้สร้างความทุกข์ให้แก่เขาทั้งชีวิต แต่ความตายของพ่อมิได้ปลดเปลื้องอะไรมากมายนัก

“ผมรู้สึกว่าอวัยวะที่รองรับความเจ็บปวดของผมก็ว่างเปล่าไปในทันใด ผมยังรู้สึกว่าการที่อวัยวะซึ่งรองรับความทุกข์ของผมนั้นหนักอึ้งอย่างที่สุดในชีวิตที่ผ่านมาก็เพราะพ่อ ผมจึงกลายเป็นลูกโป่งที่แฟบลงทันที สูญสิ้นแม้ความสามารถในการเป็นทุกข์”

อาจจะดีที่ว่าอวัยวะสัมผัสทุกข์นั้นหายไป แต่การสัมผัสอะไรมิได้เลยเล่าเป็นอย่างไร

เราจะวาดรูป “อวัยวะที่รองรับความเจ็บปวด” ออกมาเป็นการ์ตูนได้อย่างไร

 

ที่ชนบท โยโซถูกสาวรับใช้กลั่นแกล้งทารุณจวบจนแก่เฒ่า แม้ว่าจะมีอายุเพียงยี่สิบเจ็ดปี

หนังสือมีปัจฉิมบทเมื่อโอซามุ ดะไซ ได้รับบันทึกเรื่องของโอบะ โยโซ ในคราวหนึ่ง สองคนมิได้พบหน้ากันจริงๆ เหมือนในการ์ตูน

แม้ว่าจุนจิ อิโตะ จะเขียนใหม่บางตอน แต่ที่เขาทำได้คือเขียนนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรม ได้แก่ “ผีห่ามากมาย” “ภาพสยองขวัญ” “ภาพศพที่ไฟคลอกตาย” ต้องถามความเห็นคนที่อ่านการ์ตูนอย่างเดียวโดยไม่อ่านวรรณกรรมมาก่อนว่ารู้สึกอย่างไร