รบ.ยิ้ม-รธน.ฉลุย ได้ทีไล่สื่อถามต่างชาติ ทำไมยัง “ตั้งแง่”

ผ่านไปแล้ว การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ผลคะแนนที่นับไปแล้ว 94 เปอร์เซ็นต์ รอประกาศผลเป็นทางการ พบว่า มีผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งประเทศ 27.6 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ 50 ล้านคน

ถือว่าต่ำกว่าเป้าที่รัฐบาลและ กกต. ตั้งไว้สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์

ร่างรัฐธรรมนูญ ได้คะแนนเห็นชอบ 15.5 ล้านเสียง คิดเป็น 61.40 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นชอบ 9.7 ล้านเสียง คิดเป็น 38.60 เปอร์เซ็นต์

คำถามพ่วง ได้คะแนนเห็นชอบ 13.9 ล้านเสียง คิดเป็น 58.11 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นชอบ 10 ล้านเสียง คิดเป็น 41.80 เปอร์เซ็นต์

รวมบัตรดี 26,688,729 บัตร เสีย 869,043 บัตร

ผลการลงมติ แน่นอนว่าย่อมสร้างความพอใจให้กับรัฐบาลและฝ่ายสนับสนุน ขณะที่ฝ่ายคัดค้านอยู่ในอาการเซ็งไปตามๆ กัน

เกิดการตีความขยายผลประชามติว่า เท่ากับประชาชนกำลังปฏิเสธพรรคการเมือง เพราะก่อนลงประชามติ พรรคใหญ่ 2 พรรคได้แก่ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ออกมาประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

แต่ประชาชนไม่ได้โหวตตามที่ 2 พรรคชี้นำ

ทำให้เริ่มคาดการณ์ว่า อาจจะนำไปสู่การ “เซ็ตซีโร่” หรือยุบพรรคการเมืองทุกพรรคแล้วจดทะเบียนใหม่

หลังจากทราบผลประชามติ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ออกมากล่าวถึงแผนงานขั้นต่อไป

และระบุว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปลายปี 2560 หรือ 2561 เนื่องจากจะต้องปรับเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเติมคำถามพ่วงเข้าไป และต้องร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ โดยมี 4 ฉบับจะต้องร่างก่อน เพื่อให้จัดเลือกตั้งได้

ทำให้วันรุ่งขึ้น 8 สิงหาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาย้ำว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแม็ป คือภายในปี 2560

ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม มีการประชุมร่วมระหว่าง ครม. กับ คสช. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงผลการประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้กล่าวขอบคุณทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำให้การลงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

โดยเฉพาะ กรธ. ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการทำหน้าที่อย่างหนักในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยในช่วงเวลาต่อไปจากนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะเดินหน้าไปตามโรดแม็ป ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ โดยในระยะที่ 3 ยังคงจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2560

ส่วน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และเป็นหนึ่งใน คสช. เผยว่าไม่ได้ชี้แจงอะไรในที่ประชุม เพียงแต่ขอบคุณกระทรวง ทบวง กรมที่มาช่วยงาน

เพราะการที่ร่างรัฐธรรมนูญถูกเผยแพร่ไปได้พอสมควรก็เพราะฝ่ายต่างๆ ช่วยงาน ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู ก ข และ ค

นายมีชัย กล่าวว่า กรธ. ใช้เวลา 30 วันในการร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง จากนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 30 วัน ขั้นตอนทุกอย่างเรียบร้อยก็ส่งมาที่นายกฯ ทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญภายใน 90 วัน ซึ่งอาจจะอยู่ราวๆ เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

หากไม่มีใครทักท้วงก็สามารถร่างกฎหมายลูกควบคู่ในระหว่างรอประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญได้ ส่วนการร่างกฎหมายลูกนั้นจำเป็นต้องร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับก่อน

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องให้พรรคการเมืองจดทะเบียนพรรคใหม่ (เซ็ตซีโร่) ทั้งหมดหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า “ยังไม่ได้พิจารณา” เมื่อถามย้ำว่าแต่ยังไม่ได้ออกจากการเมืองพิจารณาหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า “มันมาจากไหน ผมไม่เข้าใจ”

เมื่อถามย้ำอีกว่าไอเดียนี้ยังมีอยู่หรือไม่ เพราะอย่างไรพรรคการเมืองก็มีอยู่ นายมีชัย กล่าวว่า “ก็นั่นน่ะสิ”

และเนื่องจากก่อนหน้าการลงประชามติ นานาชาติได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อประเทศไทย ให้เปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างได้แสดงออก ภายหลังทราบผลประชามติ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ได้กล่าวว่า การทำประชามติของเราเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีประชาชนออกมาใช้สิทธิกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ขอให้นานาประเทศเคารพเสียงของคนไทยเหมือนที่เขาเคารพเสียงประชาชนในประเทศต่างๆ ที่มีการทำประชามติ

ขอเชิญชวนให้มาร่วมกันชื่นชมกับการทำประชามติที่เรียบร้อยของคนไทย ซึ่งมีการแสดงความยินดีมาแล้วหลายประเทศ แต่ก็มีบางประเทศที่ยังตั้งแง่อยู่

อยากให้สื่อมวลชนถามกลับไปยังประเทศที่ยังไม่เข้าใจเราว่าเป็นเพราะอะไรถึงไม่เข้าใจไทย เนื่องจากการทำประชามติครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประชาชนออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก ทำไมจึงเลือกปฏิบัติ ไปเข้าใจแต่เสียงของประเทศอื่น

นายดอน เผยด้วยว่า หลังจากนี้จะมีการชี้แจงผลประชามติกับทูตต่างชาติทุกประเทศ เพื่อให้รับรู้ว่าสถานการณ์บ้านเราเป็นอย่างไร

ส่วนท่าทีจากฝ่ายที่จับตาการลงประชามติครั้งนี้ อาทิ ประชาคมยุโรปหรืออียู โฆษกของ นางเฟเดริกา โมเกรินี ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกแถลงการณ์ว่า จากการลงประชามติประชาชนชาวไทยเป็นส่วนใหญ่ได้ออกเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาของการรณรงค์ มีข้อจำกัดที่เข้มงวดเป็นอย่างมากต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งรวมไปถึงการห้ามจัดการอภิปรายและจัดการรณรงค์

“เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่การจำกัดเสรีภาพจะต้องถูกยกเลิก เพื่อให้มีกระบวนการทางการเมืองที่เปิดเผย มีส่วนร่วม และมีความรับผิดชอบ ทางสหภาพยุโรปยังคงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้รัฐบาลไทยสร้างสภาวะที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อที่นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปอย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลักทุกส่วนในประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมการอภิปรายอย่างมีส่วนร่วมและทำงานร่วมกันอย่างสันติ เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายนี้” แถลงการณ์ระบุ

ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยว่า จะไปยื่น ป.ป.ช. ศาลอาญาและศาลรัฐธรรมนูญ ให้เอาผิด กกต. เนื่องจากได้กระทำการหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้การไปลงประชามติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมหลายประการ

อาทิ การไม่แจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนอย่างทั่วถึง การเลือกปฏิบัติ โดยไม่เอาผิดกับผู้ชี้นำให้รับร่าง ส่วนผู้ที่ออกมารณรงค์คัดค้าน ถูกดำเนินคดี ฯลฯ การจัดทำบัตรประชามติเพียงใบเดียว แต่มี 2 ข้อคำถามทำให้ผู้มีสิทธิสับสน นำไปสู่การทำผิดกฎหมายประชามติจำนวนมาก

ห้วงเวลาต่อไปนี้ เป็นช่วงของข่าวการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง น่าจะเข้มข้นมากกว่าช่วงที่ผ่านมา