จากชัตดาวน์ ถึง Lockdown

หลังจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ นำกำลังทหารกองทัพบก ออกฉีดยาฆ่าเชื้อโรคในเขตชุมชนต่างๆ ยามวิกาล อย่างเงียบๆ

แบบไม่หวังผลการเป็นข่าว หรือการประชาสัมพันธ์ มาระยะหนึ่ง

แต่หลังจากวันที่ 26 มีนาคม 2563 นี้แล้ว

การวางบทบาทเป็นกองหลังของ “ทหาร” คงไม่สามารถจะทำให้เงียบได้อีกแล้ว

ด้วย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้

เพื่อเป็นมาตรการสกัดการระบาดของโควิด-19 นั้น

ทำให้กองทัพ “ต้อง” มีบทบาท

ทั้งนี้ ในมาตรา 6 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินคณะหนึ่ง

ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ

ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อํานวยการสํานักข่าวกรองแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการ

เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ

มีอํานาจหน้าที่ติดตามและตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศที่อาจเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี

จะเห็นว่า ล้วนเป็นฝ่ายข้าราชการประจำ

โดยเฉพาะผู้นำเหล่าทัพเข้ามามีบทบาททุกเหล่าทัพ

และเชื่อว่าจะใช้กำลังพลของกองทัพเป็นหลัก

แน่นอน กองทัพบกซึ่งมีกำลังพลมากที่สุด ย่อมถูกวางบทบาทเป็นฝ่ายนำ

ประกอบ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้บัญชาการทหารบกเก่า จึงถนัดและชำนาญในการใช้ทหารอยู่แล้ว

จึงเชื่อว่า กองทัพบกจะมีบทบาทสูงมากๆ

พล.อ.อภิรัชต์ซึ่งเก็บตัวเงียบๆ มาตลอด คงไม่อาจทำเช่นนั้นได้แน่นอน แม้ว่าการจัดรูปแบบการทำงานจะให้ ผบ.สส. และเลขาธิการ กอ.รมน. เป็นฝ่ายนำ แต่ ผบ.ทบ.ก็ยังน่าจะโดดเด่นถึงนายกฯ จะไม่ได้มอบให้เป็นหมายเลข 1 ก็ตาม

ทั้งนี้เพราะมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระบุการออกข้อกำหนดที่มีความจําเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น

ไม่ว่าการห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กําหนด

ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือน ข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกําหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ

รวมถึงให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กําหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กําหนด

ข้อกำหนดเหล่านี้ รัฐบาลคงอาศัยกำลังจากกองทัพบกเป็นหลัก

ซึ่งนี่เองทำให้สายตาจับจ้องไปที่ผู้นำเหล่าทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.อภิรัชต์จะเป็นตัวช่วย พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังประสบปัญหาการบริหารงานอย่างไร

โดยเฉพาะหากจะเลือกใช้วิธี “ยาแรง” ล็อกดาวน์ (Lockdown) กรุงเทพฯ หรือพื้นที่ระบาดโควิด-19 เพื่อที่จะควบคุมการระบาดให้อยู่หมัด

ส่วนจะมีอะไรตามมา หรือเป็นมาตรการพ่วง หลังจากนั้น สังคมคงต้องช่วยกันจับตากันต่อไป

และเชื่อว่าคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากอย่างแน่นอน

เราคงจำได้ ถึงคำอีกคำหนึ่ง นั่นคือ ชัตดาวน์-Shutdown

ซึ่งฐิติกร สังข์แก้ว และ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว แห่งสถาบันพระปกเกล้า โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นผู้ดูแล ได้เรียบเรียงเรื่อง Shutdown กรุงเทพฯ หรือ “ปิดกรุงเทพฯ” ไว้อย่างเป็นระบบ

ว่าเป็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 13 มกราคม 2557 ถึง 2 มีนาคม 2557

เพื่อรณรงค์กดดันให้รัฐบาลรักษาการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่ง

ทั้งยังเสนอให้ดำเนินการปฏิรูปการเมืองในทุกระดับก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ “Shutdown กรุงเทพฯ” เป็นการดำเนินการเคลื่อนไหวต่อยอดมาจากยุทธศาสตร์ดาวกระจายที่กลุ่ม กปปส.ใช้มาตลอดนับตั้งแต่เริ่มมีการปักหลักชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556

เป็น “ยุทธการยึดเมืองหลวง” อันเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานราชการและการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

เพื่อส่งสัญญาณให้ต่างชาติรับรู้ว่าประเทศไทยเป็นรัฐล้มเหลว (failed state)

กลุ่ม กปปส.ได้กระจายผู้ชุมนุมทั้งหมดเข้าตรึงพื้นที่ 7 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ประกอบด้วย 1) แจ้งวัฒนะ ของ กปปส.นนทบุรี เป็นแกนนำ พร้อมด้วยหลวงปู่พุทธะอิสระ และมวลชนจากราชดำเนินไปสมทบ 2) ห้าแยกลาดพร้าว เป็นมวลชนจากภาคเหนือและอีสาน พร้อมด้วยคณะครูอาจารย์จาก ม.เกษตรฯ และ ม.รังสิต เป็นกำลังสำคัญ 3) เวทีที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะเป็นมวลชนจากราชดำเนินและมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่นเดียวกับ 4) แยกปทุมวัน ที่มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบ 5) สวนลุมพินี ของชาวสีลม 6) เวทีอโศก ที่มีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันบัณทิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นเจ้าภาพ 7) เวทีแยกราชประสงค์ มี ดร.เสรี วงษ์มณฑา เป็นหัวหน้าทีม

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ ประกาศเป้าหมายปลายทางของยุทธศาสตร์ “Shutdown กรุงเทพฯ” เป็นไปเพื่อให้ข้าราชการและหน่วยงานราชการหยุดทำงาน จึงหวังผลให้รัฐบาลล้มเหลวในการสั่งการ จนท้ายที่สุดต้องยอมลาออกจากรัฐบาลรักษาการ

เพื่อเปิดทางให้กับการตั้ง “สภาประชาชน” ทำหน้าที่นิติบัญญัติ และมีรัฐบาลคนกลางมาบริหารประเทศ

ยุทธศาสตร์ “Shutdown กรุงเทพฯ” ปิดยึดพื้นที่สำคัญทางราชการและทางธุรกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่องระหว่างวันที่ 13 มกราคม 2557 ถึง 2 มีนาคม 2557

แต่ขณะเดียวกันก็ปรากฏการต่อต้านคัดค้านจากกลุ่มการเมือง และภาคประชาชนจำนวนหนึ่ง

อาทิ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศไม่เห็นด้วยกับการ “Shutdown กรุงเทพฯ” ของกลุ่ม กปปส. พร้อมรณรงค์สนับสนุนให้มีการจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

นำไปสู่เหตุการณ์ปะทะกันทั้งที่รู้และไม่รู้ฝ่าย ตลอดหลายเดือนนั้น

ก่อผลกระทบด้านธุรกิจ การค้า และการท่องเที่ยว อย่างรุนแรง

ดังนั้น ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. จึงประกาศบนเวทีปราศรัยให้ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป จะคืนพื้นที่จราจร สีลม ปทุมวัน ราชประสงค์ อโศก และย้ายเวทีไปตั้งมั่นที่สวนลุมพินีเพียงแห่งเดียว

อันถือเป็นการสิ้นสุดยุทธศาสตร์ “Shutdown กรุงเทพฯ” ซึ่งกินระยะเวลาเดือนครึ่ง

หลังจากนั้นจึงปรับแปรยุทธศาสตร์ไปเป็นปิดราชการและธุรกิจตระกูลชินวัตรเป็นระยะๆ แทน

ขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนดำเนินการต่อต้านขับไล่รัฐบาลรักษาการ และเรียกร้องการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร

ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การรัฐประหารดังกล่าวถูกปูทางโดย กกปส.

โดยยุทธศาสตร์ “Shutdown กรุงเทพฯ”

เป็นหนึ่งในยุทธวิธีสำคัญ ที่ใช้เชื้อเชิญให้ทหารออกมาปฏิวัติ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาสู่อำนาจด้วยการ “Shutdown”

และได้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตลอดการเป็นรัฐบาลช่วงแรกร่วม 5 ปี

ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านไปใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และเข้าสู่การเลือกตั้งเมื่อ 22 มีนาคม 2562 โดยปราศจากอำนาจเหล็กโดยเฉพาะมาตรา 44

บริหารประเทศต่อในฐานะ “รัฐบาลผสม”

ซึ่งก็ไม่ราบรื่นนัก ต้องเผชิญปัญหาต่างๆ มากมาย จนถูกระบุว่าเป็นรัฐบาลเมาหมัด

รัฐบาลขาดซึ่งเสถียรภาพ มีสภาพปริ่มน้ำ จนต้องใช้วิธีดูด ดึง ซื้อ เอา ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าไปร่วม พร้อมกับเดินเกมยุบพรรคฝ่ายตรงข้าม

จนทำให้มีเสียงสนับสนุนกระเตื้องขึ้น

แต่ปัญหาก็ยังรุมเร้ารัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาภายในพรรคร่วม และปัญหาภายนอกที่กระแสต่อต้านรัฐบาลก่อตัวขึ้นมาอย่างน่าวิตก

ประสานกับผลพวงจากการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ทิ้งรอยบอบช้ำให้กับรัฐบาลไม่น้อย มีการเรียกร้องให้ปรับคณะรัฐมนตรี

ขณะที่กระแสข้างหน้าเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก และเปิดทางรัฐธรรมนูญใหม่

ในภาวะที่ซวดเซ ยังเจอปัญหาที่ไม่คาดฝันมาถล่ม นั่นคือ การระบาดของไวรัสโควิด-19

อันนำไปสู่วิกฤตของประเทศในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม จนไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเอาตัวรอดอย่างไร

แต่ในความโชคร้ายดังกล่าว

รัฐบาลก็มีความชอบธรรม ที่จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหมือนกับหลายประเทศที่เผชิญปัญหาเดียวกัน

สามารถดึงอำนาจเบ็ดเสร็จมาไว้ในมืออีกครั้ง

โดยมีกองทัพเป็นกองหนุนอันแข็งแกร่งให้

ซึ่งต้องรอดูว่า รัฐบาลจะใช้อำนาจออกมาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 ให้อยู่หมัดอย่างไร

ที่คาดหมายกันก็คือการล็อกดาวน์ (Lockdown) กรุงเทพฯ หรือพื้นที่ระบาดโควิด-19 อย่างหนัก ไม่ให้คนเคลื่อนย้าย หรือกักตัวอยู่ในบ้าน

รวมถึงมาตรการเข้มข้นอื่นอีก

ซึ่งก็ต้องจับตาว่า รัฐบาลที่มาจากการ Shutdown และกำลังไปถึงการใช้วิธี Lockdown เพื่อสยบวิกฤตไวรัสโควิด-19

จะประสบความสำเร็จหรือไม่

และจะจำกัดอำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เฉพาะวิกฤตไวรัส

หรือรุกคืบไปตาม “กองเชียร์ฮาร์ดคอร์”

นั่นคือ ยุให้กวาดล้างเสี้ยนหนามทางการเมืองอื่นๆ ด้วยเสียเลย