พิศณุ นิลกลัด : ทำไมญี่ปุ่นไม่เก่งซูโม่

พิศณุ นิลกลัด

ขณะนี้ที่ญี่ปุ่นกำลังมีการแข่งขันซูโม่รายการที่สองของปี ที่โอซาก้า

ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการจัดการแข่งขันซูโม่อาชีพ

ในแต่ละปี มีการจัดการแข่งขันซูโม่ หรือ Grand Sumo Tournament ทั้งสิ้น 6 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน ทุกการแข่งขันเริ่มวันอาทิตย์ และจบวันอาทิตย์

การแข่งขันซูโม่รายการที่หนึ่งของปีจัดในเดือนมกราคม ที่สนามโคคุกิคัง (Kokugikan) หรือที่รู้จักกันในชื่อซูโม่ สเตเดี้ยม ในกรุงโตเกียว

สำหรับการแข่งขันซูโม่รายการที่สองของปี จัดที่เมืองโอซาก้า ที่เอดิออน อารีน่า โอซาก้า (EDION Arena Osaka) ซึ่งเพิ่งเริ่มการแข่งขันไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม และจะจบวันที่ 26 มีนาคม

 

แม้ซูโม่เป็นกีฬาประจำชาติญี่ปุ่น ที่มีการแข่งขันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ค.ศ.1684

แต่ว่าในปัจจุบันแชมป์ซูโม่กลับเป็นนักซูโม่จากต่างชาติ เช่น มองโกเลีย, ฮาวาย, ซามัว หรือประเทศในยุโรปตะวันออก ที่มีความชำนาญด้านมวยปล้ำ

นานถึง 19 ปี ที่ประเทศญี่ปุ่นไม่มีแชมป์ซูโม่ที่เป็นคนญี่ปุ่นแท้ๆ ที่เกิดและโตที่ญี่ปุ่นได้แชมป์ซูโม่ระดับสูงสุดเรียกว่า Grand Champion ซึ่งมีทั้งหมด 10 ชั้น

จนกระทั่งการแข่งขันซูโม่เมื่อเดือนมกราคมที่เพิ่งผ่านมา นักซูโม่ฉายา คิเซโนะซาโตะ (Kisenosato) วัย 30 ปี ได้เป็นแชมป์ชั้นโยโกสุนะ (Yozozuna) ซึ่งเป็นแชมป์ซูโม่ระดับสูงสุด สร้างความดีใจให้กับชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก มีการฉลองกันใหญ่โต

 

ในการแข่งขันซูโม่ครั้งที่ 2 ของปีที่กำลังแข่งขันกันอยู่ตอนนี้ มีซูโม่อาชีพญี่ปุ่น 588 คน ส่วนซูโม่จากต่างประเทศมีเพียง 35 คน เป็นซูโม่จากมองโกเลียถึง 23 คน ซึ่งในการแข่งขันที่ผ่านๆ มาสัดส่วนของซูโม่ญี่ปุ่นกับซูโม่ต่างชาติก็อยู่ประมาณนี้ เพราะทางญี่ปุ่นจำกัดจำนวนซูโม่ต่างชาติที่ลงแข่งขัน

แต่ดูจากหน้าตาแทบจะไม่ทราบว่าเป็นซูโม่ต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซูโม่จากมองโกเลียที่เป็นเอเชียเหมือนกัน

นอกจากนั้น เวลาแข่งขัน ซูโม่ต่างชาติจะตั้งฉายาตัวเองเป็นชื่อญี่ปุ่น

 

การที่ซูโม่ต่างชาติได้แชมป์มากกว่าซูโม่ญี่ปุ่นถือเป็นความอับอายสำหรับชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง

สาเหตุที่ซูโม่อิมพอร์ตเก่งกว่านั้นเพราะมีพื้นฐานเป็นนักมวยปล้ำมาก่อน มีเทคนิคที่พัฒนามากกว่าการปล้ำแบบซูโม่ญี่ปุ่นที่ใช้การเดินหน้าชนอย่างเดียว ไม่มี “เหลี่ยมมวย” ที่หลากหลาย

นอกจากนี้ ความนิยมของชายญี่ปุ่นที่จะมาฝึกเป็นซูโม่ก็ลดลงอย่างมาก เพราะฝึกหนักแต่เงินน้อย อย่างแชมป์ชั้นโยโกสุนะระดับสูงสุด ได้เงินเดือนจากสมาคมซูโม่ญี่ปุ่น เดือนละ 2,820,000 เยน หรือ 875,000 บาท

ซึ่งถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับนักกีฬาอาชีพญี่ปุ่น อย่างเบสบอล, ฟุตบอล หรือเทนนิสที่ค่าเหนื่อยแต่ละปีเป็นหลักร้อยล้านบาท

 

ในอดีตซูโม่มักเป็นเด็กผู้ชายต่างจังหวัดที่หวังจะร่ำรวยด้วยการเป็นซูโม่

แต่ปัจจุบัน มีงานอย่างอื่นที่ทำแล้วรวยได้

นอกจากนั้น กีฬาซูโม่ดูไม่เท่ ไม่สมัยใหม่ เหมือนฟุตบอล หรือเบสบอล ทำให้ยอดสมัครซูโม่ที่สมาคมซูโม่เปิดรับญี่ปุ่นแต่ละปีลดลงเรื่อยๆ ปีละไม่ถึง 100 คน ต่างจากปี 1992 ที่มีคนสมัครกว่า 200 คน

ในขณะที่ซูโม่ต่างชาติ เห็นว่าการมาเป็นซูโม่ในญี่ปุ่นเป็นเส้นทางแห่งการหลีกหนีความยากจน ต้องการหารายได้จากการเป็นซูโม่ ส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวที่ประเทศของตัว โดยซูโม่ระดับแชมป์อาจทำรายได้สูงถึง 30 ล้านบาทต่อปี จากเงินรางวัลและการเป็นนายแบบโฆษณา

ผู้ชายเท่านั้นที่เป็นซูโม่ได้ ผู้หญิงไม่รับสมัคร ส่วนใหญ่จะเริ่มสมัครที่อายุ 15 ปี และเลิกแข่งเมื่ออายุ 30 กว่าๆ

หลังจากเลิกแข่งแล้ว ก็จะทำงานในสนามแข่งซูโม่ เป็นคนเก็บตั๋ว หรือพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ไม่โก้สำหรับคนรุ่นใหม่