คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : มองความเจ็บไข้จากมุมพุทธพราหมณ์ผี ท่ามกลางภัยโรคระบาดภายใต้รัฐบาลป่วยๆ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เพื่อนคนหนึ่งกล่าวกับผมว่า มีชีวิตในท่ามกลางโรคระบาดโดยไม่รู้ว่าตัวเองป่วยหรือไม่ น่ากลัวกว่าป่วยจริงๆ เสียอีก เพราะถ้ารู้ว่าป่วยยังสามารถรีบรักษาให้หายได้ และอย่างน้อยก็จะระวังตัวไม่เอาโรคที่เป็นไปติดคนอื่น

ปกติผมมักจะเก็บท้ายบทความเอาไว้ด่าหรือจิกกัดเหน็บแนมเสียดสีรัฐบาล ท่านผู้นำและบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของท่าน หรือใครต่อใครที่ผมเห็นสมควรจะด่า

แต่มาครานี้ขอใช้ต้นบทความเสียเลยเพราะฉุนจัด

ภาวะการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 กลายเป็นวิกฤตระดับโลก แต่รัฐบาลหลายประเทศสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างดี เช่น ประเทศไต้หวัน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อน้อยมากและรัฐสามารควบคุมการระบาดได้

รัฐบาลไต้หวันเอาจริงเอาจังมากกับกรณีนี้ ไม่มีรัฐมนตรีสาธารณสุขมาบอกว่าก็แค่ไข้หวัดธรรมดา ไม่มีการส่งออกหน้ากากป้องกันโดยที่คนในประเทศแทบจะไม่มีใช้ ไม่มีอะไรบ้าๆ บวมๆ อีกมากดังที่ปรากฏให้เห็นในบ้านเรา

บางคนพูดกันว่า อย่าไปโทษหรือจะหวังพึ่งแต่รัฐบาล ให้เราดูแลตัวเอง

ผมคิดว่า ความคิดแบบ “โทษแต่ตัวเอง” อย่างนี้ยิ่งช่วยสะท้อนความไม่เอาไหนของรัฐบาลมากขึ้น

ถ้าเราจะต้องพึ่งแต่ตัวเองไปทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับรัฐ แล้วเราจะมีรัฐบาลไปทำ (ส้นตีน) อะไร

แถมมีก็ไม่มีเปล่า ยังต้องเสียภาษีให้ด้วยอีกต่างหาก

 

ความกังวลเรื่องนี้ดูจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากแถลงการณ์ของรัฐไทยที่ไม่ได้ทำให้มีความมั่นใจอะไรเลย ผู้คนพากันซื้อประกันโควิด กักตุนอาหาร ทำทุกอย่างที่เชื่อว่าจะรอดได้ ทั้งๆ ที่รัฐสามารถลดความกังวลได้อีกมากด้วยมาตรการที่ชัดเจน

อ่อ ในเวลาแบบนี้ก็น่าสงสัยนะครับ ปกติองค์กรทางศาสนาน่าจะต้องมีการแสดงบทบาทแล้ว อาจทำพิธีอะไรสักอย่าง หรือมีถ้อยคำปลุกปลอบหรือวรคติธรรมอะไรก็ว่าไป ซึ่งอาจช่วยให้คนลดความเครียดลงบ้าง

แต่ผมสังเกตว่ามีเพียงกลุ่มก้อนทางศาสนาเล็กๆ น้อยๆ ที่พยายามจะช่วยกัน หาวิธีทำให้คนสบายใจ เป็นต้นว่า นำเอาคำสอนครูบาอาจารย์และบทสวดมนต์บางบทที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับโรคภัยมาเผยแพร่ในช่วงเวลาแบบนี้

ผมจึงคิดว่านอกจากเรายังคงต้องพยายามไล่อีรัฐบาลนี้เหมือนเดิมแล้ว หากใครมีศรัทธาแล้วกำลังพักอยู่ที่บ้าน การสวดมนต์ภาวนาหรือทบทวนคำสอนก็น่าจะเป็นประโยชน์

อย่างน้อยก็ช่วยลดความเครียดและได้ฝึกแผ่ความรักความกรุณาไปเยียวยาจิตใจของกันและกันบ้าง ไม่ให้ต้องป่วยทั้งกายทั้งใจไปพร้อมกัน

ส่วนผมเองก็อยากนำเสนอมุมมองต่อความเจ็บป่วยจากทางศาสนาแบบ “พุทธ พราหมณ์ ผี” โดยเฉพาะข้อแนะนำจากฝ่ายพุทธทิเบตเท่าที่ทราบ

เผื่อใครอยากทดลองดูก็ไม่เสียหาย

 

ความเจ็บป่วยของสัตว์โลกท่านว่าเกิดจากสองอย่าง

อย่างแรกคือความเสื่อมถอยของอวัยวะน้อยใหญ่ อันนี้ใครก็ไม่อาจห้ามได้ เพราะมันเสื่อมสลายไปตามอายุขัย

กับความเจ็บป่วยเกิดจากเชื้อโรคหรือปัจจัยภายนอกต่างๆ

ความเจ็บป่วยอย่างหลังก็เป็นไปตามสภาวการณ์ แต่หลายครั้งไม่ได้เกิดแค่เพียงกับคนคนเดียว เพราะเกิดเป็นโรคระบาดร้ายแรงที่บางครั้งทำให้เกิดความวิบัติฉิบหายต่อบ้านเมือง ตำนานตั้งบ้านแปงเมืองเก่าๆ หลายสำนวนพูดเรื่องนี้ (เห็นว่าอาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ กำลังจะมีหนังสือเล่มใหม่เกี่ยวกับเรื่องโรคระบาดในประวัติศาสตร์ น่าติดตามมากครับ)

คนโบราณบางส่วนคิดว่าโรคระบาดเป็นการกระทำของภูตผีปีศาจ เรียกว่า “ห่าลง” หรือห่ากิน นอกจากจะใช้วิธีการทางแพทย์เท่าที่จะมีแล้ว ก็ใช้วิธีการทางศาสนาด้วย

เป็นต้นว่า สวดมนต์หรือทำพิธีขจัดปัดเป่าให้ความเจ็บป่วยนั้นหายไป

 

ศาสนาฮินดูนั้นมองความเจ็บป่วยในสองลักษณะ

อย่างแรกตามความเชื่อโบราณ คือคุณผีกระทำให้เจ็บป่วย ดังนั้น จึงยกผีบางตนขึ้นให้เป็นเทพ จะได้เซ่นไหว้บูชาให้ความเจ็บป่วยนั้นหายเสีย เช่น พระศีตลาเทวี หรือพระมาริอัมมาของชาวอินเดียใต้

นอกจากนี้ ความเจ็บป่วยยังเกิดขึ้นได้จากพลังของกรรม พลังของดวงดาวและการสูญเสียความสมดุลของธาตุต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งเรียกว่า “ตรีโทษ” ซึ่งเป็นทฤษฎีในทางอายุรเวทว่าโทษที่เกิดแต่ธาตุพื้นฐานของร่างกายสามอย่าง คือ วาตะ (ลม) ปิตตะ (ไฟ) กผะ (น้ำ) จะทำให้คนเราเจ็บป่วย

การรักษาโรคตามแบบประเพณีอินเดียจึงต้องรวมสมุฏฐานของโรคทุกอย่างเข้าด้วยกัน แล้วแก้ไปตามหลักนั้น

เช่น หากเป็นทั้งผีกระทำและป่วยจากธาตุ ก็ต้องทั้งทำพิธีและกินยาไปด้วย ซึ่งเขาไม่ได้มองว่าขัดกัน เพราะหลักแพทย์โบราณไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวคิดวิทยาศาสตร์กายภาพอย่างเดียวเหมือนทุกวันนี้

การรักษาแบบนี้ ปัจจุบันเขาเรียก “การรักษาแบบองค์รวม” คือดูแลทั้งร่างกาย ความเชื่อ จิตใจ ชุมชน สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

 

ส่วนพุทธศาสนายิ่งน่าสนใจเข้าไปอีก คือนอกจากจะมองคล้ายทางพราหมณ์เขาแล้ว พุทธศาสนายังเห็นว่า เราสามารถแบ่งความเจ็บป่วยได้สองอย่าง คือความเจ็บป่วยทางกายกับทางใจ ความเจ็บป่วยทางใจนั้นส่งผลทางกายด้วย และอาจกล่าวได้ว่า ความป่วยทางใจนี้เป็นพื้นฐานของความ “ป่วย” ที่แท้จริงด้วยซ้ำ

หากมองว่าความเจ็บป่วยคือ “ความทุกข์” อย่างหนึ่ง เป็นไปได้ที่เราจะป่วยทางกาย โดยปราศจากความทุกข์ทางใจ ด้วยเหตุนี้ ดูเหมือนจิตใจจะเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญมากกว่ากาย

แต่อย่างที่ผมบอกไปครับ แม้ว่าใจจะสำคัญกว่า แต่มันก็ไม่สามารถแยกออกจากกายได้ โดยเฉพาะพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานที่ถึงกับถือว่า กายนี้เป็นที่ตั้งของปัญญากาย เป็นรากฐานที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าจิต จึงต้องดูแลทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน

พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีพระสูตรเกี่ยวกับความเจ็บป่วยคือพระคิริมานนทะสูตรและโพชฌงคสูตร ซึ่งย่อมาเป็นบทสวด “โพชฌงคปริตร” นิยมสวดให้ผู้ป่วยฟัง เนื้อหาเล่าถึงพระพุทธะโปรดสาวกที่ป่วยโดยให้พิจารณาธรรมอันเป็นกำลังไปสู่ความหลุดพ้น แล้วมีผลานิสงส์ให้หายป่วยได้

ส่วนฝ่ายวัชรยานนั้นรากฐานของความเจ็บป่วยทางใจที่จะส่งผลต่อกาย ฝ่ายวัชรยานเรียกว่า “ยาพิษทั้งห้า” คือ กิเลสห้าอย่าง ได้แก่ ความหลง (โมหะ) ความติดข้อง (ราคะ) ความโกรธหรือไม่พอใจ (เทวษ) ความหลงตน (มานะ) และความอิจฉา (ริษยา)

กิเลสหรือยาพิษทั้งห้านี้ เมื่อมีขึ้นย่อมทำให้จิตใจไม่เป็นสุข เมื่อจิตใจไม่สงบ ร่างกายก็ปั่นป่วนเจ็บไข้ตาม

พระพุทธะจึงเป็น “หมอ” ที่พยายามรักษาความป่วยไข้ของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยยาคือธรรมโอสถอันวิเศษที่แปรเปลี่ยนยาพิษทั้งห้าให้กลายเป็นปัญญาญาณทั้งห้าแทน

ด้วยเหตุนี้ ทางฝ่ายมหายานและวัชรยานจึงมีพระพุทธะองค์หนึ่ง นามพระไภษัชยคุรุไวฑูรยปรภาราชา แปลว่า พระพุทธะผู้เป็นเจ้าแห่งครูของยารักษาอันมีแสงรุ่งเรืองดุจแก้วไพฑูรย์ อาจเรียกสั้นๆ ว่าพระหมอ หรือพระพุทธการแพทย์ก็ได้

ฝ่ายมหายานนับแต่โบราณนับถือพระพุทธะองค์นี้ยิ่งนัก และแผ่ความเชื่อนี้ไปทุกดินแดนที่มหายานไปถึง ในบ้านเราก็ยังมี “อโรคยศาลา” มากมายที่ประดิษฐานพระพุทธะองค์นี้ รวมทั้งการนับถือ “พระกริ่ง” อันเป็นร่องรอยวัชรยานในเถรวาทของเรา

พระไภษัชยคุรุฯ มีพระวรกายสีน้ำเงินเหมือนไพลินหรือลาพิสลาซูรีซึ่งเป็นหินที่ชาวทิเบตและจีนเชื่อว่ามีอำนาจเยียวยา ทรงมีปณิธานที่จะฉุดช่วยสรรพสัตว์จากภัยต่างๆ โดยเฉพาะจากโรคภัยไข้เจ็บ

ในพระสูตรของพระองค์ มี “ธารณี” หรือมนต์พิเศษที่พระพุทธะได้เปล่งสำแดงเพื่อให้สรรพสัตว์นำไปภาวนาให้เกิดผลานิสงส์ให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ

ผมจึงขอนำธารณีมนต์นี้มาแสดงไว้ เผื่อท่านใดมีศรัทธาอยากสวดท่องจะได้ช่วยให้สบายใจขึ้น และยิ่งหากจะให้ต้องตรงตามคติมหายานก็ควรสวดท่องมิใช่แค่เพื่อตนเอง แต่เพื่อให้สรรพสัตว์ทั้งปวงได้รอดพ้นจากความป่วยไข้ทั้งทางกาย-ใจ ดังนี้

“นะโม ภะคะวะเต ไภษัชยะคุรุ ไวฑูรยะประภาราชายะ ตะถาคะตายาระหะเต สัมยักสัมพุทธายะ ตัทยาถา โอม ไภษัชเย ไภษัชเย มหาไภษัชเย ราชา สะมุทคะเต สะวาหะ”

ขอท่านผู้อ่านและสรรพสัตว์ทั้งปวง จงปลอดภัยและหายจากโรคภัยไข้เจ็บ

ทั้งทางกาย-ใจด้วยเทอญ