สปส.หวั่นเงินชดเชยลูกจ้างกระทบโควิด ไม่พอกิน เล็งเพิ่มมากกว่า 7.5 พันก่อนชง ครม.

นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้มีการประกาศให้สถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงเกิดการแพร่เชื้อปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว และมีลูกจ้างจำนวนมากได้รับผลกระทบนั้น ทางคณะกรรมการประกันสังคมคม (บอร์ด สปส.) ได้มีมติให้มีการจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างจำนวน 50% ของเงินค่าจ้างแต่ไม่เกิน 7,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน แต่ทางผู้บริหารก็ยังมีความกังวลอยู่ว่าเงินจำนวนนี้จะเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหรือไม่ จึงอาจจะมีการพิจารณาให้เพิ่มมากกว่านี้ โดยจะหารือกันอีกครั้งก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ทั้งนี้ การลงทะเบียนว่างงานในกรณีดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมเหมือนกับการลงทะเบียนว่างงานปกติอื่นๆ

“ในส่วนของการชดเชยที่ผู้ประกันตนได้แน่นอนคือไม่ต่ำกว่า 50% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 7,500 บาท ติดต่อกัน 2 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เรามองแล้วว่าครอบคลุมถึงมาตรการสั่งปิดสถานที่เสี่ยงถึงวันที่ 12 เมษายน 2563 แต่ถ้าสถานการณ์ลากยาวไปกว่านั้น บอร์ดก็จะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะขยายการจ่ายเงินชดเชยออกไปอีกได้อย่างไรบ้าง” นายดวงฤทธิ์กล่าว

นายดวงฤทธิ์กล่าวว่า อีกประเด็นที่ประชาชนมีความเข้าใจผิดและสงสัย กรณีบอร์ด สปส.มีมติเพิ่มอัตรากรการจ่ายเงินชดเชยการขาดรายได้กรณีว่างงาน 2 กรณีคือ 1.ผู้ประกันตนลาออก รับเงินกรณีว่างงาน 45% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน (บังคับใช้ 2 ปี) 2.ผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง รับเงินกรณีว่างงาน 70% ของคำจ้าง ไม่เกิน 200 วัน (บังคับใช้ 2 ปี) มติส่วนนี้สำหรับกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคโควิด-19 แต่อย่างใด