ศัลยา ประชาชาติ : งัดแผนรับมือโควิด-ล็อกเอาต์ ธุรกิจทิ้งออฟฟิศ-ทำงานจากบ้าน ตั้งเซ็นเตอร์สำรองต่างจังหวัด

ขณะที่สถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยและทั้งโลกยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุดรัฐบาลประกาศใช้มาตรการเข้มในการป้องกันการแพร่ระบาดโดยให้ปิดพื้นที่เสี่ยงกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเวลา 14 วัน ได้แก่ สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ โรงมหรสพ เป็นการชั่วคราว ในช่วงวันที่ 18-31 มีนาคม 2563 นี้

แม้ยังไม่ถึงขั้น “ปิดเมือง” เหมือนที่หลายประเทศดำเนินการ แต่บรรดาธุรกิจใหญ่ต่างๆ ทั้งภาคการเงิน โทรคมนาคม พลังงาน ผู้ผลิตรถยนต์ ฯลฯ ต่างก็ได้เตรียมแผนฉุกเฉินที่เรียกว่า “แผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ” หรือ BCP (Business Continuity Planning) เพื่อดูแลไม่ให้การดำเนินงานหยุดชะงัก

หากถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลมีการประกาศการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ระยะที่ 3 หรือมีการปิดพื้นที่บางส่วนในกรุงเทพฯ

โดยเฉพาะสถาบันการเงินส่วนใหญ่ก็เตรียมแผน BCP ไว้พร้อม ทั้งการแบ่งทีมทำงาน การเตรียมออฟฟิศสำรอง และศูนย์สำรองไอที เพราะธุรกรรมทางการเงินถือว่าเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจจะให้เกิดการหยุดชะงักไม่ได้

 

“สารัชต์ รัตนาภรณ์” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารได้แยกพนักงานส่วนหนึ่งที่รับผิดชอบงานสำคัญและไม่สามารถหยุดได้ เช่น ฝ่ายระบบไอที ห้องค้าเงิน เป็นต้น ให้ไปทำงานอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติงานสำรองที่เตรียมไว้ 2 แห่ง คือ ศูนย์แจ้งวัฒนะ และศูนย์ฝึกอบรมหาดตะวันรอน พัทยา เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานกลุ่มนี้เสี่ยงติดเชื้อ และบางส่วนก็ให้ทำงานจากที่บ้านได้

“ตอนนี้ให้พนักงานที่เป็นหน่วยงานสำคัญๆ ไปทำงานที่แจ้งวัฒนะแล้ว โดยไม่ต้องรอสถานการณ์รุนแรง แต่หากเริ่มมีปิดพื้นที่บางส่วน เราจะกระจายไปที่ตะวันรอนต่อไป” นายสารัชต์กล่าว

ขณะที่ “ธนาคารกสิกรไทย” มีรายงานระบุว่า ขณะนี้เริ่มแบ่งทีมทำงานเช่นกัน โดยให้แยกสถานที่ทำงานกัน เพื่อป้องกันความเสี่ยง กรณีเกิดปัญหาขึ้นในสถานที่แห่งหนึ่ง พนักงานที่อยู่อีกสถานที่หนึ่งก็สามารถดำเนินงานต่อเนื่องไปได้ เพื่อให้งานทุกอย่างไม่สะดุด

สำหรับกรณีรุนแรงถึงขั้นปิดเมือง ก็มีแผนให้พนักงานบางส่วนทำงานที่บ้าน

รวมถึงเตรียมสำนักงานสำรองไว้รองรับ ทั้งสำนักงานสีลม เสือป่า และศูนย์การเรียนรู้ที่บางปะกง

 

ฟากธุรกิจประกัน ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทเตรียมศูนย์สำรองการทำงาน 2 แห่ง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี เพื่อให้พนักงานเข้าทำงานในกรณีฉุกเฉิน

รวมถึงเตรียมระบบและอุปกรณ์ให้พนักงาน 200 คน สามารถทำงานที่บ้านได้

ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือให้ตัวแทนประกันทำงานได้โดยไม่ต้องออกจากบ้านหรือไปพบลูกค้า เช่น การส่งกรมธรรม์ผ่านแอพพลิเคชั่น เป็นต้น

“หากต้องชัตดาวน์กรุงเทพฯ เราก็มีแผนเตรียมพร้อมไว้ หลักๆ จะต้องดูว่าชัตดาวน์ที่ไหน ซึ่งบริษัทมีสาขาทั่วประเทศไว้รองรับอยู่แล้ว ตอนนี้เบื้องต้นยกเลิกการประชุมหรืองานที่มีการรวมตัวของคนจำนวนเยอะๆ เปลี่ยนวิธีการพบลูกค้าแบบเผชิญหน้าก็ให้โทรศัพท์แทน” ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว

เช่นเดียวกับนางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ไทยประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทมีการเตรียมพร้อมแบ่งทีมไปทำงานยังที่ทำการสำรองคือ สาขารัตนาธิเบศร์ และบางส่วนทำงานจากที่พัก แต่หากเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่กรุงเทพฯ บริษัทก็มีออฟฟิศสำรองที่สาขาพัทยา

 

ธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งถือเป็นอีกบริการสำคัญที่จะต้องให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่องนั้น นางสาววราลี จิรชัยศรี หัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า บริษัทเพิ่มมาตรการเข้มขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติงานทุกส่วนและการให้บริการลูกค้าเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก

รวมถึงการแบ่งทีมพนักงานที่ทำงานแทนกันได้ เตรียมพื้นที่ทำงานทดแทน กรณีต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงานชั่วคราว รวมถึงนำดิจิตอลแพลตฟอร์มมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน เช่น สัมภาษณ์พนักงานใหม่ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระบบ remote access หรือการให้ทำงานที่บ้าน

ด้านธุรกิจผลิตน้ำและไฟฟ้าป้อนนิคมอุตสาหกรรม นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) กล่าวว่า บริษัทมีแผน BCP บริษัทได้ซักซ้อมการเวียนพนักงานในกรณีมีพนักงานติดเชื้อต้องกักตัว 14 วัน ระหว่างโรงกรองน้ำใน 10 นิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถทำงานทดแทนกันได้

“ในกรณีที่การระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 เราก็มีแผนทำไซต์งานสำรองและได้เริ่มซักซ้อมการย้ายสถานที่ทำงาน ระหว่างอาคารสำนักงานทั้ง 5 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยอาคารสำนักงานทั้งหมดสามารถทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในแง่ของอุปกรณ์การทำงานและโครงข่ายข้อมูล นอกจากนี้ ในส่วนของพนักงานที่ต้องเข้าถึงระบบซอฟต์แวร์และไฟล์ต่างๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ผ่านโน้ตบุ๊กของพนักงาน” นายนิพนธ์กล่าว

ขณะที่นายรักษ์พงศ์ อรุณวัฒนา ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบัญชีและงบประมาณ บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) กล่าวว่า บริษัทมีสาขาและออฟฟิศกระจายอยู่ทั่วประเทศและมีพื้นที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก หากเกิดเหตุการณ์รุนแรง อย่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้าสู่ระยะที่ 3 ก็สามารถย้ายไปปฏิบัติงานในสาขาที่ไม่ได้รับผลกระทบได้ทันที ส่วนระบบไอทีก็มีการจัดตั้งไซต์งานสำรองไว้แล้ว

 

สําหรับค่ายรถยนต์อย่างบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร ระบุว่า บริษัทได้เตรียมสำนักงานสำรองไว้พร้อม นอกจาก “อาคารภิรัช” ถนนสุขุมวิท ที่เป็นสำนักงานใหญ่แล้ว ยังมีมาสด้าเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ที่ถนนกรุงเทพกรีฑา, คลังอะไหล่ที่บางนา รวมถึงโรงงานผลิตรถยนต์มาสด้าออโต้อัลลายแอนซ์ ที่จังหวัดระยองอีกด้วย

“วันนี้ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ว่าจะพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไหน โดยส่วนตัวเห็นว่าหากต้องเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงขึ้น การออกไปตั้งฐานบัญชาการที่นอกเขตเมืองน่าจะเหมาะสมกว่า” นายชาญชัยกล่าว

จวบจนถึงเวลานี้ ยังไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ดังนั้น การที่ทุกธุรกิจต่างก็ต้องยกระดับแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ล่วงหน้าก็เป็นเรื่องที่จำเป็น ทั้งเพื่อความปลอดภัยของพนักงานและธุรกิจจะได้ไม่หยุดชะงัก

และเห็นได้ชัดถึงความพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ ตราบเท่าที่ยังประเมินสถานการณ์ว่าจะต้องรับมือกับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อไปอีกนานพอสมควรนั่นเอง