เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ผิดที่ถูกทาง

ศึกซักฟอกรัฐบาลจบลง แม้รัฐบาลจะยังไม่จบ แต่ก็เป็นเครื่องเตือนสติให้ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักในทุกเรื่อง

ติดใจที่ ส.ส.ท่านหนึ่งทิ้งท้ายอภิปรายด้วยการท้านายกฯ “ดวลปืน” หน้าวัดพระแก้ว

เห็นใจกับความจริงจังและจริงใจของท่าน ส.ส.ผู้นี้ แต่ประเด็นทิ้งท้ายนี้มีสาระน่าสนใจตรงที่สะท้อนภาวะ “มิจฉาทิฏฐิ” ค่านิยมของสังคมไทยอย่างน่าเป็นห่วงยิ่ง

ค่านิยมที่เป็นมิจฉาทิฏฐินี้คือ การตัดสินปัญหากันด้วยชีวิตให้ตายตกกันไปข้างหนึ่ง เมื่อไม่สามารถจัดการกับปัญหานั้นๆ ได้ด้วยเหตุผลและด้วยการยอมรับ เหมือนมาตรการโบราณคือ ดำน้ำ ลุยไฟ

เอาความเก่งกว่า เป็นมาตรวัด ว่างั้นเถิด

ท่าทีที่จริงจังและจริงใจทิ้งท้ายของท่าน ส.ส.นั้น ดูเป็น “ลูกจริง” มากกว่าจะเป็น “ลูกเล่น”

ค่านิยมมิจฉาทิฏฐิอีกเรื่องคือ การอ้างเอาวัดพระแก้วเป็นสถานที่ตัดสินชี้ขาดด้วยมาตรการโบราณดังกล่าว

วัดพระแก้วคือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันเป็นที่สถิตขององค์พระแก้วมรตก พระคู่บ้านคู่เมืองสยามมาแต่ดึกดำบรรพ์ วัดพระแก้วจึงเป็นเสมือนมงคลสถานศักดิ์สิทธิ์ การฆ่ากันจะด้วยปรารภเหตุใดๆ ก็ตาม เป็นเรื่องอัปมงคลที่ไม่พึงทำให้บังเกิด ณ มงคลสถานอันศักดิ์สิทธิ์นี้

จะอ้างเหตุว่า พระย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม โดยขยายความคำว่าธรรม หมายถึงผู้บริสุทธิ์ที่ฆ่าผู้ไม่บริสุทธิ์ลงเสียได้ ตามมาตรการโบราณนั้นเป็นเรื่องผิดที่ผิดทางยิ่ง

การทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงนั้นเป็นบาป การฆ่าคนจะด้วยเหตุใดก็ตามเป็นบาปยิ่ง

ยิ่งฆ่ากันในสถานมงคลศักดิ์สิทธิ์ก็ยิ่งบาปหนัก

ดังโวหารว่า “การทำผิดในโบสถ์ไม่เป็นเหตุให้พ้นบาป”

แม้จะท้าดวลกันหน้าวัดไม่ใช่ในโบสถ์ก็บาปหนาแล้ว ด้วยการกระทำอัปมงคลย่อมเป็นบาปอยู่ในตัว จะอ้างพระคุ้มครองหรือให้องค์พระพิสูจน์ถูกผิดด้วยวิธีอัปมงคล เช่นนี้ยิ่งบาปยิ่งและยิ่งผิดยิ่งด้วย

นี้คือมิจฉาทิฏฐิ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นค่านิยมที่ดำรงอยู่จริงในสังคมไทย

ดังเอะอะก็สาบานหน้าพระ โดยเฉพาะวัดพระแก้ว สาบานนั้นพอทำเนาด้วยมุ่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นสำคัญ มากกว่าจะมุ่งเอาชีวิตกันดังการท้าดวลนั้น

เห็นใจและเข้าใจกับความจริงจังและจริงใจของท่าน ส.ส.ผู้ทิ้งท้ายอภิปรายซักฟอกรัฐบาลวันนั้น

มันสะท้อนอะไรๆ ในสังคมได้อย่างน่าคิดและน่าเป็นห่วงยิ่ง

อีกเรื่องคือ การชุมนุมเชิงสร้างภาพ (แฟลชม็อบ) ของนักเรียน-นักศึกษา เห็นด้วยกับพลังความคิดใหม่ของคนรุ่นใหม่ แต่ยังดูผิดที่ถูกทางชอบกลอยู่

ขอคัดลอกข้อความทางไลน์ที่ส่งต่อๆ กันมา

ดังนี้

อุดมคติของคนหนุ่มสาวบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2017

ย้อนกลับไปบนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2017 ที่พิธีกรการประกวด สตีฟ ฮาร์วีย์ ถามนางงามจากประเทศไทยในรอบ 5 คนสุดท้ายว่า

“คุณคิดว่าขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของคุณคืออะไร และเพราะอะไร”

(What do you think has been the most important social movement of your generation and why?)

มารีญาตอบว่า “เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยก็จริง แต่ขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคสมัย คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่ พวกเขาคืออนาคต พวกเขาคือกลุ่มคนที่เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะคนรุ่นใหม่คือคนที่ต้องดูแลโลกที่พวกเราอาศัยอยู่”

(So far, we are having aging population but the most important movement in our time is the youth. So the youth is the future, is something we have to invest in because they are the ones to look after the earth that we live in.)

ทำไมถึงนึกถึง “เยาวชนคนรุ่นใหม่” ในตอนนั้น

ทันทีที่มารีญาพูดจบ คำถามนี้ก็ได้ก่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ ตั้งแต่นิยามของคำว่า Social Movement หรือ ขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม ไปจนถึงความเห็นต่อคำตอบของนางงามจากประเทศไทย

มารีญาให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ว่า เหตุที่เธอเลือกตอบคำถามเช่นนั้นเพราะเห็นว่า

หนึ่งในปัญหาที่ตามมาจากก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ก็คือ แนวนโยบายต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาโดยคนรุ่นก่อน อาจจะไม่สะท้อนความต้องการของคนรุ่นใหม่

เธอยืนยันในคำตอบที่ตอบออกไปบนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สในวันนั้น เพราะเธอเชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่มีวิสัยทัศน์ในอนาคตสำหรับพวกเขา และพวกเขาคือคนที่จะทำวิสัยทัศน์ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม

มารีญาเชื่อว่า “ช่วงเวลาการเป็นนักเรียน-นักศึกษา เป็นช่วงเวลาที่เรากำลังสร้างอุดมการณ์ อุดมคติของเรา เพราะฉะนั้น สังคมต้องฟังเยาวชน ถ้าเริ่มจากจุดๆ นั้น เราก็ไปต่อได้” เธออธิบาย

line ต่อๆ กันมาของกมล กระมลตระกูล

2/3/63

พลังความคิดของคนรุ่นใหม่นี่แหละที่รัฐบาลต้องฟังโดยแยบคาย ภาษาพระว่า

โยนิโสมนสิการ