สุจิตต์ วงษ์เทศ : เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

 

วรรณกรรมการเมือง
เรื่อง เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาŽ
ของ กลุ่มพระเพทราชา กับ ออกหลวงสรศักดิ์

[บางตอนจากเอกสารวิชาการเรื่อง การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2523]

ออกพระเพทราชาได้แสดงตนให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายการนำทหารฝรั่งเศสเข้ามาในประเทศไทย แม้ว่านโยบายนี้อาจเสนอขึ้นโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันบ้านเมืองจากฮอลันดาก็ตาม
ออกพระเพทราชาได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างของกษัตริย์ในอินเดียที่ต้อนรับพวกโปรตุเกสและฮอลันดาในทำนองนี้ จนในที่สุดก็ต้องเสียเมืองให้ฝรั่ง
นอกจากนี้ออกพระเพทราชาก็แสดงตนอย่างเปิดเผยว่าไม่ชอบฝรั่ง ออกหลวงสรศักดิ์บุตรชายเคยมีเรื่องกับฟอลคอน ถึงชกต่อยกัน อันนี้ช่วยชี้ให้เห็นชัดเจนว่าความไม่ชอบฝรั่งของออกพระเพทราชานั้นมุ่งเฉพาะไปยังฟอลคอนด้วย ในสมัยเมื่อฝรั่งเศสได้ก่อตั้งกองทหารในประเทศไทยแล้ว ออกพระเพทราชาก็พอใจแสดงให้ขุนนางทั้งหลายเห็นว่า เขามีเจตนาจะปลดปล่อยคนสยามทั้งมวล จากอาณัติของพวกฝรั่งเศส
แนวนโยบายของออกพระเพทราชาเช่นนี้ทำให้ผู้สนับสนุนอยู่ไม่น้อยทั้งในหมู่ชนชั้นสูงและราษฎร แม้แต่พระราชธิดาก็มีผู้กล่าวกันว่ามิได้พอพระทัยที่มีพวกฝรั่งเศสตั้งอยู่เลย
ออกพระเพทราชามีความสัมพันธ์อันดีกับพระภิกษุสงฆ์ มีรายงานว่าสนิทชิดชอบดีกับพระสังฆราชแห่งละโว้ นอกจากนี้ยังได้อาศัยพระภิกษุเป็นตัวการยุยงให้ก่อการจลาจลขึ้นตามหัวเมือง มีผู้คนและกระสุนดินดำไว้ในมือเป็นอันมากเห็นได้ชัดว่า ออกพระเพทราชาได้พยายามนำเอาประชาชนเข้าร่วมในแนวร่วมของตนเพื่อต่อต้านฝรั่งและพระนารายณ์ด้วย
โดยอาศัยความร่วมมือกับพระภิกษุสงฆ์ ออกพระเพทราชารู้จักที่จะปลุกปั่นประชาชนตามวิถีทางวัฒนธรรมของประชาชน เช่น ใช้พราหมณ์ซึ่งเป็นโหราจารย์ทำนายว่าฝรั่งเศสจะถูกขับออกไป แม้ว่าจะได้รับการต้อนรับในทีแรก และจะมีการฆ่าฟันกันล้มตายอย่างมาก คำพยากรณ์เหล่านี้ทำให้เกิดบรรยากาศที่ตึงเครียดและทำให้จิตใจของคนพร้อมจะรับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น ในต้นปี ค.ศ. 1688 ได้เกิดข่าวลือว่าจะเกิดอาถรรพณ์แก่บ้านเมืองอันเป็นข่าวลือที่สร้างขึ้นให้สอดคล้องกับข่าวลือเรื่องการประชวรของพระนารายณ์ เข้าใจได้ว่าข่าวลือเหล่านี้ก็คงจะมาจากค่ายของออกพระเพทราชานั่นเอง
การรณรงค์สร้างข่าวลือของกลุ่มออกพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์นี้คงได้ทิ้งร่องรอยไว้ในหลักฐานฝ่ายไทยคือ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาŽ ลำนำสั้นๆ บทนี้มีผู้จดจำได้และจดลงไว้เป็นตอนต้นในหลังสือเรื่องกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 แต่กล่าวว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระนารายณ์
อย่างไรก็ตามเห็นได้ชัดว่าเนื้อความของเพลงยาวบทนี้ตรงกันกับที่บรรยายไว้เป็นภาษาความเรียงใน คำให้การชาวกรุงเก่า และกล่าวว่าเป็นคำทำนายของพระเจ้าสุริเยน ทราธิบดีหรือพระเจ้าเสือ
ออกจะเป็นการประหลาดที่พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงราชย์อยู่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาวทำนายอนาคตของบ้านเมืองตนเองไปในทางวิบัติ ลำนำบทจึงอยู่นอกกรอบของจารีตทางการเมืองและวรรณกรรมของไทย และออกเป็นการยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายจุดมุ่งหมายของการแต่งได้เลย หากแต่ว่าเมื่อนำเอาเนื้อความของเพลงยาวบทนี้สอดใส่ลงไปในอุบัติการณ์ทางการเมืองที่เฉพาะของปลายสมัยพระนารายณ์แล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะอธิบายจุดมุ่งหมายของออกหลวงสรศักดิ์ (หรือพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี) ในการแต่ง และเมื่อพิจารณาเช่นนี้ก็จำต้องยอมรับด้วยว่าเพลงยาวพยากรณ์บทนี้มีประสิทธิภาพในวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยที่แต่งนี้อย่างยิ่ง
กลอนเพลงยาวบอกโดยนัยแก่ผู้ฟังว่าพระนารายณ์และราโชบายของพระองค์คือการไม่เคารพต่อหลักการแห่งทศพิธราชธรรม และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดความวิปริตต่างๆ แก่บ้านเมือง ความวิบัติที่กำลังมาถึงกรุงศรีอยุธยานั้น เพลงยาวพยากรณ์เน้นซึ่งความวิปริตแห่งความปกติธรรมดาหรือจารีตประเพณี ซึ่งเป็นที่รับรองและสมมติกันว่าเป็นธรรมโลก เช่น

เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา   จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปบุรุษจะแพ้แก่ทรชน   มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว   คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก   จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นผู้น้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ   นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย   น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า   เพราะจันทานมันเข้ามาเสพสม
ฯลฯ

ความวิปริตเหล่านี้จะนำมาซึ่งความวิบัติแก่กรุงศรีอยุธยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระราโชบายที่เข้าใจไม่ได้ของพระนารายณ์ การกดขี่ขุนนางฝ่ายปกครอง การเถลิงอำนาจอย่างผิดทำนองคลองธรรมของฝรั่งและเสนาบดีต่างชาติ การไม่เคารพต่อจารีต ประเพณีของการปกครองบางอย่าง และท่าทีคุกคามพระพุทธศาสนาของรัฐบาลและนักบวชมิจฉาทิฐิที่รัฐบาลหนุนหลัง ฯลฯ เพียงพอที่จะทำให้ผู้ฟังเพลงยาวนี้เห็นพ้องต้องกันว่าบ้านเมืองกำลังวิปริตอาเพศอย่างชัดแจ้ง การตกต่ำของขุนนางทำให้ลูกหลานผู้ดีเหล่านี้พร้อมจะรับการโค่นล้มราชตระกูลปราสาททองลง อย่างน้อยก็เพื่อยุติความวิปริตอาเพศทางสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ตำตานี้

ยิ่งการอิงคำทำนายให้สอดคล้องกับพุทธทำนายในชาดก ก็ยิ่งทำให้เพลงยาวพยากรณ์บทนี้มีประสิทธิภาพในการสื่อความอาเพศของบ้านเมืองได้มากขึ้น เพราะดูเหมือนมีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างแฝงอยู่ในคำพยากรณ์

ความสำเร็จของเพลงยาวพยากรณ์นี้ในด้านการเมืองจะเห็นได้ดีจากการจดจำเพลงยาวนี้สืบมาอีกร่วม 3 ชั่วคน แม้ว่านัยสำคัญทางการเมืองของมันได้เลือนหายไปแล้ว และหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาใน ค.ศ. 1767 กลับเกิดนัยทางการเมืองใหม่ที่ไม่สัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายทางการเมืองเดิมของออกหลวงสรศักดิ์เลยก็ตาม

เพลงยาวŽ
มาจากกลอนเพลงชาวบ้าน

สุจิตต์ วงษ์เทศ

เพลงยาว เป็นสมบัติของชาววัง มีที่มาจากกลอนเพลงชาวบ้านทั่วไปในตระกูลภาษาไต-ไท
แต่เดิมกลอนเพลงชาวบ้านมีขนาดสั้นๆ 3 วรรค, 4 วรรค, 8 วรรค เมื่อชาววังสร้างสรรค์แต่งยาวกว่านั้นเลยเรียกเพลงยาว นิยมขึ้นต้นด้วยวรรครับ (วรรคที่สอง) ลงท้ายด้วย เอยŽ
เพลงยาว มีอย่างน้อย 2 ความหมาย คือ อย่างกว้าง และอย่างแคบ ดังนี้

บันทึกเหตุการณ์

อย่างกว้าง หมายถึง แบบแผนกลอนอย่างหนึ่ง ใช้แต่งบันทึกเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำนองเป็นจดหมายเหตุ เช่น คำทำนาย, การเดินทาง ฯลฯ
มีหลักฐานเก่าสุดคือเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา (คล้าย เฟกนิวส์Ž ทางการเมืองปัจจุบัน) แต่งขึ้นโดยกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามสมเด็จพระนารายณ์ฯ
ยุคปลายอยุธยา มีบันทึกการเดินทางของหม่อมภิมเสน นั่งเรือออกจากอยุธยา ผ่านเมืองบางกอก ไปเมืองเพชรบุรี ต่อมาเรียกเพลงยาวหม่อมภิมเสน บางทีก็เรียกนิราศเมืองเพชรบุรี
ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ร.1 ทรงพระราชนิพนธ์ เพลงยาวนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง เมื่อคราวเสด็จไปรบพม่าที่เมืองกาญจนบุรี พ.ศ. 2329
สุนทรภู่เจริญรอยตามขนบดั้งเดิมสมัยอยุธยา นิยมใช้กลอนเพลงยาวแต่งเรื่องต่างๆ เช่น นิราศ, นิทาน, ฯลฯ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ (อยู่ในประวัติสุนทรภู่) ว่า กลอนสุภาพของสุนทรภู่ คือกลอนเพลงยาว

จดหมายรัก

อย่างแคบ หมายถึง จดหมายรักของหญิงกับชายที่แต่งเป็นกลอนเพลง แต่แต่งอย่างยาว เรียก เพลงยาวสังวาส เป็นเครื่องเล่น (หรืองานอดิเรก) ของคนชั้นนำผู้ดีมีตระกูล แต่งเกี้ยวพาอวดโวหารเล่นๆ สนุกๆ เท่านั้น โดยไม่จริงจังอะไร
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่าเริ่มใช้กลอนเพลงแต่งเป็นเพลงยาวสังวาส เมื่อปลายสมัยอยุธยา (หลังเพลงยาวพยากรณ์ฯ)
เพลงยาวไม่เป็นสมบัติของหญิงสาวกับชายหนุ่มชาวบ้านทั่วไปตามที่มักเข้าใจกัน เพราะทุกคนเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก

ทำไมเรียก เพลงŽ ?

กลอนเพลงยาว คำว่าเพลงเป็นคำเขมร แล้วไทยยืมมาใช้ใน 2 ความหมาย คือ หมายถึงทำนองดนตรีอย่างหนึ่ง กับคำขับ (ร้อง) มีทำนองอีกอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ เพราะกลอน มีต้นทางจากคำขับลำนำหรือคำร้อง ที่เรียกเพลง (คนขับคำกลอน หรือร้องคำกลอน เรียกแม่เพลง หรือพ่อเพลง แต่ทางโคราชเรียกหมอเพลง) หากมีทำนองคลอไปด้วย มักเรียกเพลงดนตรี
สุนทรภู่ก็เรียก เพลงดนตรีŽ มีในพระอภัยมณีว่า แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลง หมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริงŽ
กลอนเพลง หมายถึงวลีคล้องจองส่งสัมผัสท้ายวรรค เช่น เพลงฉ่อย, เพลงโคราช, เพลงเกี่ยวข้าว, เพลงสงฟาง, เพลงเต้นกำรำเคียว ฯลฯ จนกระทั่งมีพัฒนาการอีกทางหนึ่งเป็นกลอนบทละครและกลอนตลาด (หรือกลอนแปด) นอกจากนั้นยังมีกลอนเซิ้ง คือร่าย, และกลอนลำ (คือโคลง)
ตัวอย่างกลอนเพลงขนาดสั้นๆ จากวลีคล้องจองในภาษาประจำวัน คือ

๏ เสียทองเท่าหัว
ไม่ยอมเสียผัว   ให้ใคร

นี่เป็นร่องรอยเก่าของกลอนที่ขึ้นต้นด้วยบทวรรครับหรือวรรคที่สอง ว่า เสียทองเท่าหัวŽ ต้นแบบกลอนเพลงยาว 
กลอนชาวบ้าน ต่อมาชาววังรับไปปรับปรุงมีพัฒนาการอีกทางหนึ่ง ใช้แต่งคำขับลำนำเพลงดนตรี เช่น ดอกสร้อย, สักวา, บทมโหรี แล้วยาวขึ้นเป็นบทเสภา, บทละคร ฯลฯ