วิเคราะห์ : เมื่อ “โควิด-19” เปลือยสังคมไทยอันยากจนและเหลื่อมล้ำ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ธนาคารโลกประจำประเทศไทยแถลงคนจนในประเทศไทยในช่วงระหว่างปี 2558-2561 เพิ่มขึ้นจาก 4,850,000 คน เป็น 6,700,000 คน เป็นตัวเลขน่าจะแทงใจดำใครต่อใครหลายคนในรัฐบาลชุดนี้

เพราะห้วงเวลาที่คนจนเพิ่มจำนวนมากขึ้นอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ในเวลานั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านเศรษฐกิจ โชว์วิชั่นว่า ในปี 2561 รัฐบาลเร่งดำเนินนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ โดยประสานหลายหน่วยงานเพื่อดำเนินนโยบายอย่างบูรณาการ เชื่อว่าปัญหาความยากจนจะหมดไป

วันนี้นายสมคิดไม่ได้เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่ยังรั้งตำแหน่งรองนายกฯ ส่วนนายกฯ เป็นคนเดิมคือ พล.อ.ประยุทธ์ และเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแทน ทว่าความยากจนไม่ได้หมดไปอย่างที่คุย

ตรงกันข้าม คนจนกลับเพิ่มขึ้นทะลุเฉียดๆ 2 ล้านคน

ถ้าเป็นประเทศเจริญมีอารยธรรมการเมืองอย่างญี่ปุ่น ป่านนี้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และนายสมคิดต้องออกมาโค้งคำนับกล่าวคำขอโทษประชาชนพร้อมกับประกาศลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว

ต่อมสำนึกสาธารณะอย่างนี้ สำหรับการเมืองไทยคงเป็นเรื่องมโน หรือไม่ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะเป็นจริง

 

ธนาคารโลกยังแจกแจงอีกว่า การเติบโตของรายได้ครัวเรือนและการบริโภคหยุดชะงักลงทั่วประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คนจนเพิ่มขึ้น

ความยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ

คนจนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งล้านคนในแต่ละภาค

ส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง อัตราความยากจนสูงที่สุดเป็นครั้งแรกในปี 2560

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี เติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ คือร้อยละ 2.7 ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 และภาวะภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นภาคที่ยากจนที่สุด

ธนาคารโลกยังเปรียบเทียบสถานะความยากจนในอดีตกับปัจจุบัน เมื่อปี 2531 ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างก้าวหน้า ทำให้ความยากจนลดลงถึงร้อยละ 65.2 แต่ปี 2561 อัตราการยากจนลดลงแค่ร้อยละ 9.85

แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการประเทศของรัฐบาลยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2531 มีความต่างกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในยุค คสช.

เวิลด์แบงก์ชี้อีกว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นสำคัญของประเทศไทย ความมั่งคั่งยังคงไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชากรที่มีรายได้ต่ำล่างสุด 40%

ช่วงปี 2558-2560 ที่ผ่านมายังพบว่าประชากรรายได้ต่ำมีการบริโภคและรายได้ติดลบอีกด้วย

แนวโน้มการเติบโตที่พลิกผันของกลุ่มประชากรกลุ่มนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดจากรายได้แรงงานทุกประเภทลดลง รวมถึงการหยุดนิ่งของการเพิ่มค่าแรง และรายได้จากภาคการเกษตรและธุรกิจลดลง

 

กล่าวโดยสรุปภาพรวมของธนาคารโลกว่า คนไทยในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รวยแค่กระจุก แต่จนกระจายมากกว่าเดิม

ความยากจนนั้น สาเหตุหลักมาจากการมีรายได้ต่ำซึ่งเป็นผลจากการได้รับโอกาสที่ไม่เท่าเทียม เรียนมาน้อยไม่มีความรู้ทักษะความสามารถ

เมื่อไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนในโรงเรียนมาตรฐาน ไม่มีครูดีๆ ไม่มีระบบการเรียนการสอนทันสมัยก็ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นสูงขึ้น

ความรู้ต่ำต้อยไปทำงานก็ได้รายได้ต่ำ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ก็ย่ำแย่ รวมตัวกันอยู่ในชุมชนแออัด ขาดสุขอนามัยที่ดี สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยมลพิษทั้งน้ำเน่า น้ำเสีย ขยะ กลิ่นเหม็น

เด็กๆ ที่เกิดมาในชุมชนก็วนเวียนอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ กลายเป็นวงจรอุบาทว์

ยิ่งอัตราความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงขึ้นจะยิ่งส่งผลให้เกิดชุมชนแออัดมากขึ้น

 

ตั้งแต่เกิดรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลทิ้งกลุ่มคนจนไว้ข้างหลัง มุ่งช่วยเหลือเอื้อประโยชน์คนรวย

แกนนำในรัฐบาล คสช.อย่างเช่นนายสมคิด เคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจว่า ต้องฟื้นจากระดับบนก่อนคือรายใหญ่ก่อน เมื่อมั่นคงแล้วจึงมาดูที่เหลือ

มีข้อมูลชี้วัดได้ว่า รัฐบาลประยุทธ์ผลักดันกลุ่มทุนใหญ่ๆ ของประเทศให้มีอัตราการเติบโต ร่ำรวยมั่งคั่งอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่คนรายได้ต่ำยิ่งจนลง และความเหลื่อมล้ำถ่างห่างกันมากขึ้น

ในมิติทางการเมือง ได้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมใช้มาตรฐานต่างกันจนมีคำกล่าวว่า “ตุลาการวิบัติ” ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน

การบริหารจัดการประเทศเช่นนี้มีแนวโน้มจะเป็นความผิดพลาดนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมครั้งใหม่

การเกิดแฟลชม็อบของกลุ่มนิสิตนักศึกษาเป็นประเด็นที่น่าจับตา เพราะแสดงให้เห็นว่า ความไม่พอใจกับรัฐบาลชุดนี้แผ่ซ่านลงไปถึงระดับเยาวชนรุ่นหนุ่ม-สาว

ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในเวลานี้เข้าสู่ภาวะวิกฤตหนักสุด เพราะเครื่องยนต์หลักๆ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว หรือการบริโภคภายในประเทศ มีแต่ทรุดกับทรุด

ภาวะภัยแล้งกระหน่ำ จะทำให้คนตกงานจากภาคอุตสาหกรรม คิดจะกลับบ้านไปทำนาทำไร่ ก็พบกับความผิดหวังเพราะความแห้งแล้ง กระทบกับแรงงานในภาคเกษตร อีกทั้งผลผลิตก็หดหาย

โรคระบาดโควิด-19 ยังคงแผลงฤทธิ์แผ่ซ่านไปทั่วโลก ประเทศอิตาลีถึงขั้นรัฐบาลต้องใช้มาตรการเด็ดขาดสั่งกักพื้นที่ทางตอนเหนือ ห้ามคนเข้า-ออกโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะมีคนเสียชีวิตมากขึ้น

บางวันชาวอิตาเลียนตายพร้อมๆ กันถึง 133 คน และติดเชื้อเพิ่มเป็น 7 พันกว่าคนแล้ว ที่สหรัฐตัวเลขคนอเมริกันติดเชื้อโควิด-19 ทะลุ 500 คน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งเป็นแรงกระแทกให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวร่วงทรุดลงไปอีก

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ จากเดิมคาดจะโตร้อยละ 2.7 ลดเหลือแค่ร้อยละ 0.5 แต่ถ้าโลกต้าน “โควิด-19” ไม่ได้ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะถดถอยเป็นศูนย์ หรืออาจติดลบ

นักเศรษฐศาสตร์บางคนชี้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นเผาจริง ปลายปีอาจจะลอยอังคาร

ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังบริหารจัดการประเทศอาจต้องเจอม็อบคนจน ม็อบนักเรียน นิสิต นักศึกษารวมตัวขับไล่ ความปั่นป่วนอลหม่านวุ่นวายวนกลับมาเกิดซ้ำเหมือนยุคขัดแย้งแบ่งสีแดง-เหลือง

ถ้าสถานการณ์เลยเถิดไปไกลขนาดนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะทำอย่างไร เพราะกลายเป็นยักษ์ไร้กระบอง ไม่มีมาตรา 44 อยู่ในมืออีกแล้ว?