“ศักดิ์สยาม” นั่งหัวโต๊ะถกมาตรการรับมือเดินทางช่วงสงกรานต์

รมว.คมนาคม นั่งหัวโต๊ะ ถก! มาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2563

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ได้ประชุมเตรียมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2563 โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นางกอบกุล โมทนา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายสมัย โชติสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหากระทรวงคมนาคมร่วมประชุม ทั้งนี้ในที่ประชุมได้พิจารณาร่างแผนการเตรียมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2563 สรุปสาระสำคัญคือ

1. มาตรการหลัก ประกอบด้วย แผนรองรับการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล และแผนรองรับการเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ มีเป้าหมาย เพื่อบูรณาการการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการบริการขนส่งสาธารณะรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2563

2. หัวข้อรณรงค์ “ใส่ใจกำลังสาม เดินทางอุ่นใจ ปลอดภัยตลอดสงกรานต์” เน้นใส่ใจตนเอง ใส่ใจผู้อื่น และใส่ใจประชาชน

3. ตัวชี้วัด ประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดจัดบริการขนส่งสาธารณะ ประกอบด้วย รถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือโดยสาร และเครื่องบินอย่างเพียงพอต่อการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ จำนวนรถโดยสารสาธารณะที่เกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงไม่น้อยกว่า 15% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเทศกาลสงกรานต์ย้อนหลัง 3 ปี จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บเกิดบนถนนในความรับผิดชอบของกระทรวงฯ ลดลงไม่น้อยกว่า 15% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเทศกาลสงกรานต์ย้อนหลัง 3 ปี ผู้ประจำรถสาธารณะ รถไฟ และเรือสาธารณะทุกรายตรวจพบระดับแอลกอฮอล์เป็นศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เรือโดยสารสาธารณะและรถไฟไม่มีการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บในช่วงเทศกาลสงกรานต์

4. มาตรการรองรับ COVID-19 ในขนส่งสาธารณะ มีแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการหลักดังนี้
4.1 คัดกรองผู้โดยสาร/จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง หากตรวจพบผู้โดยสารต้องสงสัยป่วยหรือมีอาการให้ปฏิบัติตามแผนการของหน่วยงานกรณีโรคติดต่อ
4.2 ผู้ปฏิบัติงาน/ผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยาน สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า ท่าเรือโดยสารทุกแห่ง รวมถึงเจ้าหน้าที่ประจำขนส่งสาธารณะ ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวเอง ทำการวัดไข้ทุกวัน
4.3 ตั้งจุดบริการ อาทิ บริการให้คำปรึกษา หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เอกสารประชาสัมพันธ์ และประชาสัมพันธ์ภายในอาคารผู้โดยสาร
4.4 เตรียมการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หมายเลขติดต่อฉุกเฉินของโรงพยาบาล หน่วยกู้ภัย สถานีตำรวจ
4.5 ท่าอากาศยาน สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า ท่าเรือโดยสารทุกแห่งเพิ่มความถี่การทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะจุดที่มีโดนสัมผัสบ่อย
4.6 เครื่องบิน มีมาตรการในการให้บริการบนเครื่องบิน มาตรการในการจัดเตรียมอากาศยานและฆ่าเชื้อโรค การทำความสะอาดภายในอากาศยาน มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังสุขอนามัยของพนักงาน มาตรการการรับขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ มาตรการด้านโภชนาการ
4.7 รถไฟ/รถไฟฟ้า เพิ่มความถี่การทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคขบวนรถไฟฟ้าหลังปิดให้บริการ อบพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคในรถไฟ
4.8 รถโดยสาร/เรือโดยสาร มีมาตรการในการบริการบนรถ/เรือโดยสารสาธารณะ บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือแก่ผู้โดยสารก่อนขึ้นรถทุกครั้ง ผู้ประจำบนรถ/เรือให้เฝ้าระวังผู้โดยสารที่พบว่ามีไข้หรือมีอาการสุ่มเสี่ยง
4.9 เรือโดยสาร ทำความสะอาดภายในตัวเรือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำทุกวัน

5.กรอบระยะเวลาดำเนินการ การเตรียมความพร้อม ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ช่วงดำเนินการเข้มข้น ระหว่างวันที่ 10 – 16 เมษายน 2563 และการสรุปและประเมินผลภายในเดือนเมษายน 2563

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้ปรับช่วงดำเนินการเข้มข้นจากเดิมระหว่างวันที่ 10–16 เมษายน 2563 เป็นวันที่ 9–19 เมษายน 2563 สำหรับเส้นทางจุดที่เป็นคอขวดต่าง ๆ เช่น บริเวณสถานีบริการน้ำมันให้กรมทางหลวงช่วยบริหารจัดการไม่ให้เกิดการแออัดโดยอาจทำป้ายประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน เป็นต้น สำหรับการคืนผิวจราจรต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนวันที่ 9 เมษายน 2563 อย่างน้อย 7 วัน สำหรับการ KICK OFF ในช่วงเทศกาลของแต่ละหน่วยงานขอให้ดำเนินการให้มีความต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้มอบให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมการขนส่งทางบก หารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการลดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยอาจบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดอุบัติเหตุให้ได้ตามเป้าหมาย

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า รวมทั้งได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยการให้กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่มีหน้าที่ส่งประชาชนที่ผ่านการคัดกรองแล้วกลับภูมิลำเนา ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับสถานที่จัดส่งให้มีความชัดเจน มอบให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด เคร่งครัดดำเนินการตามประกาศเรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมรวบรวมข้อมูลรายงานให้กระทรวงฯ ทราบรายวัน