นักเรียน-นักศึกษา “อัพไรซิ่ง” “แฟลชม็อบ” ลามทั้งประเทศ “ตร.” มองเป็นได้หรือไปไม่ถึง?

ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาตามสถาบันต่างๆ จัด “แฟลชม็อบ” คือเหตุการณ์ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และตัดสิทธิ์ทางการเมืองต่อ 16 คณะกรรมการบริหารพรรค อนค.เป็นระยะเวลา 10 ปี จากกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องว่า การที่พรรค อนค.กู้ยืมเงินกว่า 191 ล้านบาทจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค ถือเป็นการรับผลประโยชน์อื่นใด เนื่องจากเป็นการกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ และถือเป็นรายรับของพรรคที่มากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี

คำสั่งประหารชีวิตทางการเมืองครั้งนี้ ยังผลให้มวลคลื่นที่สะสมกำลังพัดพาใต้ผิวน้ำมานาน เคลื่อนตัวในระดับที่สูงขึ้น ดังที่เห็นการรวมตัวเรียกหาความโปร่งใสของรัฐบาลจากบรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษาสถาบันต่างๆ

ปรากฏการณ์ไฟลามทุ่งครั้งนี้ มีคนบอกว่าจุดติดแล้ว รอเพียงวันเวลาลงถนนครั้งใหญ่เท่านั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “รองฯ เปีย” พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เปิดมุมมองจากประสบการณ์ที่เคยผ่านม็อบเหลืองพันธมิตร ครั้งเป็น ผกก.สน.ลุมพินี ก่อนจะผ่านม็อบแดง นปช.ตอนดำรงตำแหน่งรอง ผบก.อคฝ.บอกเล่าว่า การข่าวในครั้งนี้ยังไม่มีเรื่องน่าเป็นห่วง ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มอบนโยบายปฏิบัติเป็นแก่นหลักใน 3 ประเด็นคือ

อย่างแรก ไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มนักศึกษา เพียงแต่เฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย การป้องกันมือที่สามเป็นสำคัญ

อย่างที่เห็นในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จู่ๆ ก็มีชายคนหนึ่งขึ้นไปป่วนแกนนำ เพราะหากไม่มีตำรวจไปดูแลเลย แล้วเกิดเหตุอันตรายขึ้นก็จะเป็นปัญหาตามมา

2. การชุมนุมสามารถกระทำได้ตามสิทธิพลเมือง แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ปราศจากความรุนแรงและไม่ลงไปปิดถนน ปิดสถานที่ราชการจนรบกวนประชาชนคนอื่น ซึ่งการชุมนุมในสถานศึกษา ตำรวจจะไม่มีสิทธิเข้าไปห้ามไม่ให้จัด และไม่ต้องขอสถานที่ล่วงหน้า 24 ชั่วโมงกับเจ้าหน้าที่

และ 3. เป็นเรื่องสำคัญ คือหลีกเลี่ยงการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับมวลชน อย่างที่เห็นว่าในหลายๆ ม็อบครั้งนี้แทบไม่มีตำรวจในเครื่องแบบ แต่หากพบการกระทำผิดหรือสุ่มเสี่ยงจะรุนแรง ให้รายงานผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการอีกครั้ง

พล.ต.ต.สมประสงค์ยังกล่าวถึงประเด็นที่มีข่าวโซเชียลว่าเจ้าหน้าที่ขอตรวจบัตรประชาชน นักศึกษาที่จะมาชุมนุมยังมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ โดยอ้างว่าเป็นการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ในการชุมนุมยังไงก็ต้องมีตำรวจคอยดูแลความเรียบร้อย เพราะเราไม่อาจรู้ว่าคนที่สวมเสื้อสถาบันมหาวิทยาลัยนั้นๆ เป็นนักศึกษาจริงหรือไม่ เพราะมีผู้ชุมนุมบางรายก็อายุมากแล้ว จะคาดเดาไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในการขอตรวจบัตรประชาชนนั้นไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนสามารถกระทำได้ โดยทวิตเตอร์ไอลอว์ อ้างถึงคำสั่งกระทรวงมหาดไทยปี 2561 ระบุให้ตำรวจในท้องที่ชุมนุมยศ ร.ต.ต.ขึ้นไปเท่านั้นจึงจะขอตรวจได้

หากเป็นชั้นประทวนต้องตรวจที่ด่านตรวจตามกฎหมายเท่านั้น

ฟากของ “เดอะแจ๊ค” พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เผยถึงการรวมกลุ่มจัดแฟลชม็อบว่าตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าทางกลุ่มเขาจะยกระดับชุมนุมเป็นม็อบลงถนนหรือไม่ ส่วนการจะบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันม็อบลงถนนนั้น ไม่ใช่เพียงตำรวจฝ่ายเดียวที่จะออกคำสั่งนี้ได้ ต้องประเมินสถานการณ์ร่วมกับหลายหน่วยอยู่ตลอด

แต่ขอฝากไปยังแกนนำ หรือคนที่อาศัยนักเรียน-นักศึกษาเป็นหัวหอกว่าอย่าเติมเชื้อไฟ เพราะอดีตมีให้เห็นเสมอ เมื่อมีความผิด นับ 1 แล้วถอยหลังไม่ได้ สำหรับนักเรียน-นักศึกษาเอง ขออย่าตกเป็นเครื่องมือกลุ่มการเมือง หากจะชุมนุมก็ต้องเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น แม้จะจัดขึ้นในสถานศึกษาก็ตาม

พ.ต.อ.กฤษณะยังตอบถึงกระแสข่าวที่ว่า รัฐบาลอาจอาศัยช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในการปรามคนไม่ให้รวมตัวชุมนุมว่า ขอให้แยกแยะออกจากกัน เพราะเรื่องการแพร่ระบาดของโรคก็มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบดูแลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนตำรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นการเฝ้าระวังไปที่กลุ่มผู้ชุมนุมกับคนปกติที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ซึ่งการชุมนุมถือเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

แต่ผู้ชุมนุมก็ต้องระวังตัวเองทั้งจากโรค และการสร้างสถานการณ์จากมือที่สาม

อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงที่ได้ประเมินสถานการณ์การยกระดับชุมนุมในครั้งนี้ว่า “ไฟกองนี้อาจจุดไม่ติด” โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งคือแนวทางการเรียกร้องของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวยังไม่มีน้ำหนักมากพอจะสั่นรากฐานของรัฐบาลได้

โดยการปราศรัยแต่ละครั้ง มักโจมตีไปที่ตัวบุคคลมากกว่าการนำข้อมูลผลงานรัฐบาลขึ้นมาชำแหละ ดังเช่นม็อบพันธมิตรฯ ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ ที่เผยเอกสารสร้างความน่าเชื่อถือทางด้านวิชาการเกี่ยวกับการทุจริตของรัฐบาลในยุคนั้นมาเผยแพร่ต่อประชาชน

ปัจจัยต่อมาคือแรงจูงใจการชุมนุมครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่มีฐานเสียงเป็นกลุ่มวัยรุ่นส่วนมาก มองว่าเป็นผลกระทบต่อความรู้สึกไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นกับพรรค มากกว่าผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ

ทำให้ผู้คนยังมารวมตัวกันได้ในปริมาณที่แคบ และหากนับจำนวนนักศึกษาจริงๆ จะพบว่าม็อบแต่ละแห่งมีต่ำกว่าหลักพัน เพราะยังมีกลุ่มการเมืองเก่าแฝงตัวเข้ามาอยู่มากกว่า แม้จะมีกลุ่มม็อบอาชีพคอยบริหารจัดการเป็นเบื้องหลังในการแฝงตัวมาด้วยก็ตาม

พลังนักศึกษา อาจดูไร้กำลัง แต่ไม่ควรประมาท เพราะบางทีอาวุธที่กองทัพกลัว อาจไม่ใช่ภัยจากโลกไซเบอร์ แต่เป็นอาวุธทางความคิดซึ่งเป็นพลังบริสุทธิ์ที่นักศึกษามีติดตัวอยู่แล้ว

เพียงแต่รอจังหวะให้สถานการณ์สุกงอมเท่านั้น