อภิญญา ตะวันออก : ความรื่นรมย์ครั้งสุดท้ายในสัจนิยม ละครพูดเขมร

อภิญญา ตะวันออก

ใคร่เห็นว่า ในที่สุดความฝันของหงษ์ ฑุนฮัก นักการละครสมัยใหม่ผู้สถาปนาวงการละครพูดหรือละครเวทีกัมพูชาก็กลับมาอีกครั้งในปีนี้ 2563/2020 ที่แวดวงละครเวทีเขมรกำลังเฉิดฉายทั้งปีกฝั่งฝรั่งเศสซึ่งบุกเบิกมาก่อนนั้นและสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งลูกหลานเขมรอพยพผู้ยึดอาชีพนักการละครกำลังผลักดันตนเองไปสู่แถวหน้าละครเวทีสมัยใหม่ในแบบเรื่องเล่าเขมรๆ

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น หงษ์ ฑุนฮัก ผู้สถาปนาวัฒนธรรมละครเวทีสมัยใหม่ที่จะเข้ากับยุคสัจจะสังคมนิยมแห่งยุคสมัยในปี “60-“70 ดูหมือนปริง สาคร หนึ่งในศิษย์รุ่นแรกๆ ของฑุนฮัก นักละครพูดและมรดกกรรมแห่งยุคเขมรแดงอีกรายที่ต่อสู้กับความฝันอันยิ่งใหญ่ ราวกับอัศวินคนสุดท้าย ณ ป้อมปราการแห่งความฝัน

ปริง สาคร พลีตนกับความฝันไปกับละครเวทีเขมรที่ตกต่ำและไม่ประสบความสำเร็จนั้น จนถึงวันที่ลมหายใจสุดท้ายของเขามาถึง

แต่ใครจะทราบว่า นับแต่หงษ์ ฑุนฮัก นำละครพูดมาสู่กัมพูชา (2493) 70 ปีแล้วที่วงการละครพูดเขมรเคยถือกำเนิดขึ้นที่นี่ ล้มตายไปกับผู้คนราวเกือบ 2 ทศวรรษ (2522-2543) พร้อมๆ กันกับการฟื้นคืนอย่างช้าๆ ที่เลือนรางแต่เต็มไปด้วยความหวัง

ทว่าในที่สุดละครเวทีสัจนิยม รูปแบบแต่ครั้งเริ่มต้นของกัมพูชา ดูจะค่อยๆ ผงะและกลับมาอย่างท้าทาย แม้จะเป็นในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปนั้นคือ-อัตลักษณ์ความเป็นละครเวทีที่วิพากษ์สังคมแบบเขมร!

 

การขยายส่วนนี้โดยปริง สาคร (2477-ไม่แน่ชัด) ก่อให้เราได้รำลึกห้วงปลายละครเวทีเขมรราวปี พ.ศ.2544 ที่เรื่องดังกล่าวถูกถ่ายทอดไว้ เราจึงตีจินตนาการวัฒนธรรมการละครเขมรยุคนั้น จากเริ่มต้น-รุ่งราง-แลสู่ความตกต่ำอย่างน่าใจหาย

ปริง สาคร ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ศาสตร์แขนงนี้กลับมาเขมรอีกได้

เมื่อกัมพูชาเปลี่ยนไปแล้ว ยุคสมัยของเขาก็ร่วงโรยไปด้วยอุปสรรคนานาที่จะหวนคืนความสั่นสะเทือนทางสังคมเยี่ยงในอดีตได้

“เราขาดทั้งมือเขียนบท คนที่มีอุดมการณ์และกล้าตีแผ่จริยธรรมทางสังคมอย่างถึงแก่นแท้ ในวงการศิลปะการละครก็เช่นนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับว่า แม้ผู้คนจะยังไม่ถึงกับชอบมันมาก แต่เราก็ต้องกล้าที่จะนำเสนอด้วย แต่ทรัพยากรมนุษย์ในศาสตร์แขนงนี้ ก็ยากที่สร้างมันขึ้นมาภายในวันเดียว

“เพราะมันไม่ใช่แค่ผู้กำกับฯ หรือเราเท่านั้นที่ดูกันเอง แต่เราต้องเล่นให้คนดู นั่นคือสิ่งที่เราต้องตระหนัก ในเทคนิคละครเวทีแล้ว หาก Rehearsal ไม่ดี ก็อย่าหวังเลยว่าการแสดงนั้นๆ จะดีได้”

เหมือนตาเฌง พน นักละครเวทีรุ่นครูที่พูดไว้ “จงหมั่นหว่านเมล็ดถั่วลงดิน รดน้ำและรอจนกว่าจะงอกขึ้นมาเอง”

แต่ละครเวทีมิง่ายอย่างงั้น ปริง สาคร ย้อนถึงวันที่ตนจำความได้

เมื่ออายุเพียง 5-6 ขวบ ก็เดินเท้าจากหมู่บ้านเพื่อไปดูละครบาสักที่เปิดวิกห่างไปถึง 10 กิโลเมตร การชมละครเวทีของเขาและคนยุคนั้นคือชีวิตประจำวันของชาวเขมร และไม่แปลกเลยว่าเพียงยังศึกษามัธยมต้นในชนบทของกำปงจาม เขาก็ได้คัดตัวเป็นนักเรียนทุนการแสดงระดับวิทยาลัยในกรุงพนมเปญแล้ว

บ่งบอกถึงระบบศึกษาด้านการละครกัมพูชาว่ามีฐานรากที่เข้มแข็ง และไม่น่าแปลกใจเลยว่า วันหนึ่ง เมื่ออุปสงค์และอุปทานพร้อมเพรียงกันได้ พวกเขาจึงกลับมายืนแถวหน้าอีกครั้ง

และมันได้พิสูจน์แล้วว่า ความมีเสน่ห์ของละครเวทีเขมรจากโลกภายนอกยังคงเป็นที่นิยมเสมอ

 

แรงส่งภายนอกประเทศนี้เกิดขึ้นกว่ารอบทศวรรษจากโปรดักชั่น Th??tre du Soleil ในเมืองลิยงของฝรั่งเศส ที่เริ่มจาก “ละครคาโรงของนโรดมสีหนุ”1 https://youtu.be/8r0pv0hkNZ4

แรงบันดาลใจจากความรันทดยุคเขมรแดงที่ถูกนำมาเขียนบทโดยเอเลน ซิกซูส์ (2530) ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวความขัดแย้งของตัวละครจริงในประวัติศาสตร์ 3 ยุคสมัย (2498-2522)

อาทิ นโรดม สีหนุ, พระบาทสุระมฤทธิ์, สมเด็จพระนางโกสะมัก, ลอน นอล, พล พต/สล็อต ซอ, เอียง สารี, เขียว สัมพัน, เอียง ทีริต, ฮู ยุน, สิริ มาตะ, หม่อมสวายฯ

ไม่น่าเชื่อว่า นี่คือบทละครจากฟากฝั่งกัมพูชา หลังจากที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเอาแต่ดัดแปลงบทละครจากตะวันตก อาทิ เช็กสเปียร์-เชคอฟ ไม่เท่านั้น เมื่อต่อมามันถูกผลิตอย่างสมบูรณ์ในฉบับที่แสดงโดยชาวเขมรที่เริ่มจากคณะละครเล็กในพระตะบอง (Phare Ponleu Selpak) ในปี พ.ศ.2550

นับแต่นั้น ละครลูกผสมเวอร์ชั่นนี้ก็กลายเป็นวัฒนธรรมละครเวทีแนวใหม่ที่ประสบความสำเร็จในต่างแดนโรงละครลิยงและปารีส ตั้งแต่ 2554 จนปัจจุบัน

เอเลน ซิกซูส์ (83) ตัวละครของเธอคนเดียวที่ยังมีชีวิตคือเขียว สัมพัน และเขาถูกจองจำอยู่คุก ขณะละครเรื่องนี้ยังเป็นที่นิยมไปนั้น ด้านหนึ่งแล้ว ได้เปิดกว้างให้เห็นว่า ละครเวทีสัจจะสังคมนิยมยังคงมีตัวตน ด้วยความเป็นประวัติศาสตร์แบบกัมพูชา

 

วัฒนธรรมละครเวทีแบบลูกผสมนี้เอง ที่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ออกไป จากฝรั่งเศส-ยุโรปสู่อเมริกา นิวยอร์ก-ลอสแองเจลิส ที่ซึ่ง 4 ทศวรรษก่อนมีชาวเขมรอพยพมาตั้งรกรากจำนวนมาก

ลอเรน ยี มือเขียนบทสมัครเล่นและโปรดักชั่นละครเวที ซึ่งไม่ได้เติบโตมากับวัฒนธรรมสัจจะสังคมนิยมแบบกัมพูชา กระนั้น ละครเวทีในแบบของเธอที่เริ่มจากเชื่อมโยงชาวเขมรลี้ภัยก็มีกลิ่นอายความย้อนยุคนี้อยู่ แม้นัยทีเธอจะหยิบความสำเร็จจากยุคเขมรเสรีปี “70 ที่ดนตรีร็อกได้มีอิทธิพลต่อคนพนมเปญเช่นเดียวกับจีไอ

ลอเรน ยี วางชื่อบทละครของเธอแบบเดียวกับ “ละครคาโรงของนโรดมสีหนุ” (L”histoire terrible mais inachev?e de Norodom Sihanouk, roi du Cambodge) ของเอเลน ซิกซูส์ ราวกับเป็นเนื้อหาวิชาการ กระนั้น “ดนตรีเขมรสมัย” (Cambodian Rock Band) ก็ยังมีมุมสวยงามในแบบฤดูร้อนของนิวยอร์ก (https://youtu.be/fFp0ZqZr7_I)

และสิ่งนี้เองกระมังที่ดึงดูดชาวเขมร-อเมริกันซึ่งพวกเขาเวลานี้ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว เหลือก็แต่การถวิลหาอดีต อัตลักษณ์แขฺมร์ที่น่าหลงใหลนั่น รวมทั้งการถ่ายผ่านไปสู่เด็กเขมรรุ่นหลังที่เกิดบนแผ่นดินอเมริกา

ลอเรน ยี บอกเล่าถึงแรงบันดาลในการทำละครเรื่องนี้ แม้ว่าละครลูกผสมของเธอจะสวมบทบาทโดยนักแสดงอเมริกันที่ไม่มีเชื้อสายทางเขมรเลยก็ตาม

ยุคสมัยแห่งการแสดงได้เปลี่ยนไปแล้วสำหรับวัฒนธรรมการละครของตะวันตก คำขานรับนี้เองที่ทำให้ชาวนิวยอร์กเขมร-อเมริกัน 300 ชีวิตแห่กันไปชม “ดนตรีเขมรสมัย” ทักษะการร้องและพูดเขมรแปร่งๆ อาจไม่ใช่สาระที่คนดูเหล่านี้ต้องการรับรู้ สัจนิยมแบบ “ละครคาโรงของนโรดมสีหนุ” ที่ฝรั่งเศส

แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า ชาวเขมรนิวยอร์กจะไม่นิยมละครพูดกัมพูชา!

 

ข้ามไปอีกฟากยังนครลอสแองเจลิส มลรัฐที่ชาวเขมร-อเมริกันตั้งรกรากเป็นชุมชนมากที่สุดของประเทศ อุง กัลยาน (Kalean Ung) บุตรสาวอุง ชินนารี อดีตนักเรียนทุนสีหนุราชด้านการดนตรี ซึ่งไม่เคยกลับประเทศ ก่อนเหตุรัฐประหาร (1970)

สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการละครของสหรัฐ และผ่านอาชีพการแสดงละครมาหลายโปรดักชั่น ทว่าวันหนึ่งกัลยานก็พบกล่องเก็บจดหมายเก่าของพ่อ

นั่นเอง ตัวแทนแห่งการวถวิลหาอดีตในโศกกรรม ค่ายผู้ลี้ภัยเขาอีด่างและไซต์ทูซึ่งต่างเป็นญาติของบิดาก็โถมทับเข้ามาในจิตใจ ถ้อยความหมายในเรื่องราวอันรันทดที่ถั่งโถมอยู่ในจดหมาย ที่ญาติของพ่อร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อตั้งรกรากประเทศที่ 3

“Letter From Home” แรงบันดาลใจในบทละครที่เขียนและแสดงโดยอุง กัลยาน สำหรับฉันหากใครเคยสัมผัสกับวิถีผู้ลี้ภัยในไซต์ทูหรือเขาอีด่างแล้ว พวกเขาต้องรู้จักถึงวิถีอันพิเศษในแบบสัจจะสังคมนิยมเล็กๆ ที่เป็นชีวิตแบบชาวเขมรเวลานั้น (https://youtu.be/Akwy4AYwVdI)

น่ายินดีที่อุง กัลยาน วางแผนจะเปิดการแสดงละครเรื่องนี้ หากว่า โควิด-19 จะไม่แผลงฤทธิ์จนถึงฤดูร้อนกลางปีนี้ ณ ตอนนั้น เราคงได้ชม “จดหมายจากบ้าน” ที่กรุงเทพฯ

ฉันคิดว่า แม้ธีมหลักสัจนิยมในละครพูดแบบเขมรจะยังไม่สมบูรณ์ในละครลูกผสม ณ วันนี้ แต่หากนักบุกเบิกละครพูดรุ่นนั้นยังมีชีวิตแล้วละก็

พวกเขาคงตื้นตันกับโพรงฝัน 70 ปีที่รอคอยมายาวนาน