วิเคราะห์ : ภัยแล้งมาแล้ว! รัฐบาลเอาอยู่ได้ไหม?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สถานการณ์บ้านเมืองของเราวันนี้ตกอยู่ในภาวะคับขัน มีปัจจัยลบๆ เข้ามากดทับในทุกด้าน ตั้งแต่การส่งออกชะงัก เศรษฐกิจตกต่ำ โรงงานปิดตัว คนว่างงาน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทรุดฮวบ โรคระบาดโควิด-19 ขย้ำซ้ำ

ด้านการเมืองส่อเค้าวุ่นไม่เลิก การใช้กฎหมายไร้ความเป็นธรรม นักการเมืองบางคนในสภามีพฤติกรรมน่าขยะแขยง พูดจาสับปลับปลิ้นปล้อน ประชาชนคนธรรมดา นิสิต นักศึกษา นักเรียนทนไม่ได้พากันชุมนุมประท้วง

วิกฤตภัยแล้งยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปีก่อนก็เพิ่มระดับรุนแรง ขณะที่กรมอุตุฯ ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนมีนาคม ยาวไปถึงกลางพฤษภาคม อุณหภูมิร้อนจัดในหลายพื้นที่

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจชี้ว่า ภัยแล้งเป็น 1 ปัจจัยลบทำให้เศรษฐกิจไทยป่วนหนักอยู่แล้วหนักข้อมากขึ้นไปอีก เนื่องจากในภาคเกษตรมีชาวนาชาวไร่มากถึง 30 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรรายได้ต่ำชักหน้าไม่ถึงหลังเกือบ 64%

สถานการณ์ภัยแล้งกินระยะเวลานาน จากสาเหตุฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อน ฝายหรือแหล่งน้ำสำรองลดลง ไม่เพียงพอต่อการป้อนให้กับพื้นที่การเกษตร

พืชเกษตรหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงทั้งสิ้น เมื่อน้ำมีไม่มากพอ เกษตรกรต้องงดปลูกพืช การจ้างงานลดลงเป็นเงาตามตัว

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประเมินว่า ถ้าภัยแล้งหยุดลงแค่เดือนพฤษภาคม ผลเสียหายเกิดกับภาคเกษตรตกราว 24,000 ล้านบาท

ถ้าลากยาวไปถึงมิถุนายน ภาคเกษตรจะเสียหายหนักถึง 41,000 ล้านบาท

รัฐบาลจะเอา “ภัยแล้ง” อยู่หรือเปล่า ต้องตามดูอย่ากะพริบตาเด็ดขาด

 

ที่น่าสงสัย การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยทำไมยังด้อยประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่มีการวิจัยค้นคว้า จัดตั้งหน่วยงานและใช้เงินงบประมาณในการจัดการบริหารมากมาย แต่กระนั้น ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เมื่อเกิดปัญหา รัฐบาลได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แจกน้ำ ขุดบ่อบาดาล หรือไม่ก็เตือนให้ชาวนาหยุดทำนาปรัง

เมื่อครั้งเป็นนักข่าวดูแลสายข่าวภูมิภาค ได้รับมอบหมายลงไปขลุกพื้นที่ทำข่าวเรื่องภัยแล้งและเรื่องน้ำท่วมมาหลายครั้ง เห็นสภาพความเป็นไปในพื้นที่แห้งแล้งกันดารในเวลานั้นไม่ต่างอะไรกับปัจจุบัน

ทุกครั้งที่เกิดภัยแล้ง มีกลุ่มนักวิชาการ นักคิด เสนอให้ปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำของประเทศเสียใหม่ ณ วันนี้ ก็ยังเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันอยู่

อย่างประเด็นการปฏิรูปที่ดินและการเก็บภาษีน้ำเป็นเรื่องหลักที่พูดกันต่อเนื่องมานานนับทศวรรษ

นักวิชาการเห็นว่าการใช้ที่ดินมีความสัมพันธ์กับการใช้น้ำอย่างแยกไม่ออก พื้นที่ลุ่มน้ำในประเทศไทยมีทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ

บางลุ่มน้ำมีพื้นที่เกษตรกระจุกตัวอยู่แล้ว แต่ความเป็นเมือง โรงงานรุกคืบจนกระทั่งพื้นที่เกษตรกับเมืองก็อยู่ปะปนกัน

ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่แหล่งน้ำมีอยู่จำกัด

การบริหารจัดการผังเมืองมีส่วนสำคัญ ในการจัดสมดุลระหว่างความเป็นเมือง จำนวนประชากรและปริมาณน้ำใช้ในการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม

พื้นที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยามีจำนวนประชากรราวๆ 17 ล้านคน ต้องการใช้น้ำเกือบ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน มีปริมาณน้ำเพียง 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

จึงมีการตั้งคำถามว่า ในอนาคตข้างหน้า เมื่อน้ำต้นทุนมีอยู่จำกัด ไม่เพียงรองรับความเติบโตของเมือง จำนวนประชากรที่มีแต่ขยายตัวใหญ่ขึ้น มีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การก่อสร้างกีดขวางทางน้ำก็มีมากขึ้น และยังคงปลูกข้าว ปลูกมัน อ้อยอยู่อีก

รัฐจะจัดการรับมือกับปัญหานี้อย่างไร?

 

ปัญหาน้ำเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้งหรือน้ำท่วม

ยามน้ำแล้ง ทุกคนต้องการใช้น้ำเหมือนกัน แต่น้ำมีจำกัด รัฐมีคำสั่งห้ามดึงน้ำไปใช้ในไร่นา โรงงานอุตสาหกรรม ก็เกิดปัญหาการผลิตลดต่ำลง ราคาสินค้าแพงขึ้น หรือในบางพื้นที่เกิดการแย่งชิงน้ำ ความแตกแยกในสังคมตามมา

ในยามน้ำท่วม ทุกคนก็พยายามเรียกร้องให้ผลักน้ำพ้นจากชุมชน แต่หากบริหารจัดการผิดพลาด อย่างเช่น เมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศ 1.4 ล้านล้านบาท

ข้อเสนอให้มีการจัดแบ่งโซน ทำผังเมืองใหม่ กำหนดเขตการเกษตร แบ่งให้ชัดว่า พื้นที่ตรงนี้มีปริมาณน้ำรองรับพืชเกษตรอะไรได้บ้าง พืชที่ต้องการน้ำมากๆ เช่น ข้าว ควรจะควบคุมให้ปลูกได้กี่ไร่

เช่นเดียวกับพื้นที่เมืองที่ใช้สำหรับที่อยู่อาศัย ทำธุรกิจการค้า หรือโรงงานอุตสาหกรรมต้องวางผังให้มีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการปลูกสร้างอาคาร หรือโครงสร้างพื้นฐานจะต้องคำนึงถึงเส้นทางน้ำ

การวางผังเมืองต้องหลีกเลี่ยงการปิดกั้นทางน้ำไหล เพื่อป้องกันน้ำท่วมเมือง

ความจำเป็นในการจัดผังเมืองใหม่ เพื่อให้การใช้ที่ดินมีประสิทธิภาพมากที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ

พื้นที่ก่อสร้างในปัจจุบันที่ขวางทางน้ำต้องจัดการแก้ปัญหา เช่น เสนอแผนเยียวยาให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ย้ายออกไป

 

อีกประเด็นที่มีการเสนอมานานแล้ว นั่นคือเรื่องการเก็บภาษีน้ำ

ในปัจจุบัน การใช้น้ำยังมีช่องว่างเหลื่อมล้ำอยู่มาก เกษตรกรส่วนใหญ่คิดว่าน้ำเป็นของฟรี ถ้าปล่อยให้ใช้น้ำอย่างไม่บันยะบันยัง จะเป็นปัญหาเรื้อรังและเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม เพราะคนอยู่ต้นน้ำสามารถใช้น้ำได้เต็มที่ คนที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำ ได้น้ำในปริมาณน้อยลง

การจัดสรรน้ำจึงต้องทำอย่างเป็นธรรมและเป็นระบบ

ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ มีการพูดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ยังไม่เห็นมีการทำในภาคปฏิบัติ

มองกันยาวๆ ในอนาคตข้างหน้า ปรากฏการณ์โลกร้อนจะมีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นเพราะอุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ

จึงเชื่อได้ว่าการจัดการบริหารน้ำอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะไม่สามารถรับมือกับวิกฤตภัยแล้งหรือน้ำท่วมในอนาคตอย่างแน่นอน