เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | น่านน้ำระนองนอง

มีโอกาสได้ร่วมขบวน ส.ว.พบประชาชนภาคใต้ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

มีเรื่องราวให้แหลงมากหลาย

ผู้นำขบวนคือ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และว่าที่ ร.ต.เชิดศักดิ์ จำปาเทศ อดีต ผวจ.ระนอง ผู้ว่าฯ ปัจจุบันคือ คุณจตุพจน์ ปิยัมปุตระ เป็นฝ่ายเจ้าถิ่น หัวหน้าผู้ต้อนรับ

เสน่ห์ระนองที่เคยรู้อยู่ชินหูคือ “ระนองเมืองฝนแปด-แดดสี่” หมายความว่า เป็นเมืองที่มีสองฤดูคือ ฤดูฝนแปดเดือน กับฤดูไม่มีฝนมีแต่แดดสี่เดือน ครบสิบสองเดือนหนึ่งปีพอดี

อีกเสน่ห์ระนองคือ จากท่อนหนึ่งในเพลง “ล่องใต้” แต่งโดยคุณพยงค์ มุกดา ที่ว่า

“ระนองน้องจ๋า เหมือนน้ำตาของพี่ตกนอง

เพราะต้องจากน้อง จากระนองมาทั้งน้ำตา”

เล่นคำนองกับน้องดีนัก

เคยมา “เขียนแผ่นดิน” เมืองระนองเมื่อปี พ.ศ.2534 สี่แห่งคือ น้ำร้อนระนอง สายน้ำกระบุรี ถ้ำพระขยา ท่าน้ำระนอง ดังกลอน “น้ำร้อนระนอง” ที่ยกมานี้

ระนองมีสามน้ำคือ น้ำเค็ม น้ำจืด น้ำร้อน น้ำเค็มคือทะเลอันดามัน น้ำจืดคือแม่น้ำกระหรือกระบุรี และน้ำร้อนคือแหล่งน้ำแร่ที่เรียกบ่อน้ำร้อน ขึ้นชื่อของเมืองระนองนั่น

ดังนั้น ก็อาจเพิ่มเสน่ห์ระนองเข้าไปอีกหนึ่งรวมเป็นสามได้เลยคือ

“ฝนแปด แดดสี่ วารีสาม”

หนึ่งน้ำสำคัญคือ ทะเลระนอง คณะ ส.ว.พบประชาชนระนองเที่ยวนี้ ก็เพื่อมาติดตามโครงการต่างๆ ที่จะมาบูรณาการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของชาวจังหวัดระนองโดยตรง

โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือระนอง

ดังมีเจ้าหน้าที่ตัวแทน นอกจากของจังหวัดแล้วก็มีตัวแทนจากกรมการค้าต่างประเทศ กรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมเสวนาหารือ ที่มีทั้งประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมอยู่เต็มห้องประชุม พร้อมทั้งชาวคณะได้ลงพื้นที่ยังท่าเรือระนองด้วย

จำเพาะที่ระนองนี้มีความเป็นพิเศษคือ เป็นจังหวัดแรกของชายฝั่งทะเลตะวันตกของไทย คือฝั่งอันดามันซึ่งเหมาะสมจะเป็นท่าเรือสากล ดังเรียกเซาท์เทิร์นซีบอร์ดของทะเลภาคใต้บ้านเรานี้

ท่าเรือระยองจะเชื่อมการค้าทางทะเลระหว่างประเทศได้ถึงอีกสี่ประเทศนอกจากไทย คือ พม่า อินเดียที่เมืองเชนไน (อินเดียใต้) ศรีลังกา และมาเลเซีย

สำคัญคือ ระนองอยู่ใกล้ศูนย์กลางประเทศคือเมืองหลวง มากกว่าจังหวัดอื่นของทะเลฝั่งตะวันตกหรืออันดามัน แค่ประมาณหกร้อยกว่ากิโลเมตรเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้น ทางบกและทางทะเลฝั่งตะวันออกมาระนองใกล้สุด ทางทะเลก็ดังจะมีโครงการขุดคอคอดกระนั้น ด้วยเหตุพื้นที่แคบสุดระหว่างทะเลตะวันออกกับทะเลตะวันตก ก็อยู่ช่วงพื้นที่ระนองนี่เอง

ทางรถไฟยิ่งใกล้สุดคือ จากสถานีรถไฟในพื้นที่ชุมพรมาระนอง โครงการเชื่อมทางรถไฟว่าจะเสร็จภายในสี่หรือห้าปีนี้

การคมนาคมทั้งทางบก ทางทะเลนี่แหละเป็นบูรณาการสำคัญที่จะทำให้เมืองระนองได้รุ่งเรืองเนืองนองสมศักยภาพของเมืองระนองที่สุด

นี่เป็นภาระและพันธะที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม เป็นจริงโดยเร็วที่สุด

รวมทั้งคณะ ส.ว.ชุดนี้ด้วย พึงทำหน้าที่ ต.ส.ร. คือ ติดตาม เสนอแนะ เร่งรัด “การปฏิรูปเชิงรุก” ให้เป็นจริงโดยเร็วด้วย

มีโอกาสได้เสนอแนะให้จังหวัดระนองจัดให้มีพื้นที่วัฒนธรรมโดยเฉพาะคือ “ภูมิเมืองระนอง”

“ภูมิเมือง” ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์เมือง ต่างคือ ภูมิเมืองเป็นการเล่าเรื่องของเมืองผ่านงานศิลปะ ซึ่งต้องใช้ศิลปะการเล่าเรื่องเป็นสำคัญ

เมืองระนองมี “เรื่องเล่า” มากมาย ขาดแต่การ “เล่าเรื่อง” โดยเฉพาะ “ศิลปะการเล่าเรื่อง”

ดังย่านในกำแพงเมืองเก่าของระนองมีอนุสรณ์สถานของต้นตระกูล “ณ ระนอง” เก็บภาพบรรพบุรุษต้นตระกูลกับแท่นบูชาโดยมีทายาทคือคุณโกศล ณ ระนอง เป็นผู้เล่าประวัติให้ฟัง

ซึ่งจำเป็นยิ่งต้องบันทึกเสียงคำบรรยายหรือคำบอกเล่าพร้อมภาพขณะเล่าเรื่องไว้ด้วยจะดียิ่ง

ด้วยนี่แหละคือ “ศิลปะการเล่าเรื่อง” เพราะลำพังการบันทึกด้วยตัวอักษรและเสียงเท่านั้น เป็นเพียงการ “เล่าเรื่อง”

แต่ถ้ามีภาพประกอบขณะเล่าหรือบรรยายไปด้วย ก็จะเป็น “ศิลปะการเล่าเรื่อง” ซึ่งทุกแหล่งแห่งที่มักยังขาดอยู่

เนื้อหาความสำคัญของเมืองระนองอันควรมีผ่านศิลปะการเล่าเรื่องด้วยงานศิลปะหลากหลายนั้นได้เสนอเป็นสี่ภูมิสำคัญ เช่นเดียวกับที่เสนอไว้กับเมืองกาญจน์ และทุกแหล่งแห่งที่ด้วยสี่ภูมินี้คือ

ภูมิศาสตร์ ภูมิทัศน์ ภูมิประวัติ ภูมิธรรม

เป็นจัตุภูมิซึ่งบังเอิญผู้ว่าฯ ระนองชื่อจตุพจน์ ดูสมคล้องเป็นภูมินามสำคัญร่วมสัมฤทธิ์ภารกิจอันเป็นมงคลแก่

ชาวระนองโดยแท้