หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ ‘สูญพันธุ์’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
สมเสร็จ - สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกชนิดหนึ่งที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘สูญพันธุ์’

ในยุคที่ผมเริ่มต้นทำงานในป่า

เมื่อพูดถึงคำว่าสูญพันธุ์ ผมจะนึกถึงสมัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งเป็นกวางชนิดหนึ่ง ว่ากันว่า เป็นกวางที่มีเขาสวยงามที่สุด

สมันมีแหล่งอาศัยอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง แถวรังสิต ปทุมธานี ชานๆ เมืองกรุงเทพฯ

พวกมันสูญพันธุ์ไปเพราะแหล่งอาศัยถูกปรับเปลี่ยนเป็นนาข้าว, โรงงานอุตสาหกรรม และเมือง รวมทั้งโดนฆ่าเพื่อเอาเนื้อและเขา

สมันมีอยู่เฉพาะในประเทศไทย

เมื่อพวกมันสูญพันธุ์ นั่นหมายความว่า เป็นการสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ด้วย

 

ถึงวันนี้ คำว่าสูญพันธุ์ ดูเหมือนเป็นคำที่เราได้ยินบ่อย ความเปลี่ยนแปลงทำให้มีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มากมายหมดสิ้น คาดกันว่ามีจำนวนไม่น้อยหมดสิ้นไปก่อนที่คนจะรู้จัก

สัตว์และพืชจำนวนมากที่ยังเหลือ ต่างก็อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์

เมื่อสัตว์ตัวหนึ่งสูญพันธุ์ มันคือจุดเริ่มต้นที่จะเกี่ยวโยงเป็นลูกโซ่

จนกระทั่งมาถึงคน นี่ไม่ใช่เรื่องที่เราไม่รู้

แต่บางทีเราคิดว่ามันไกลตัว

 

ทํางานอยู่ “หลังเขา” ใช่ว่าจะอยู่ห่างไกลความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เข้ามาอยู่ในยุคดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในป่าดิบทึบสักเพียงไร

สำนักงานในป่า ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือสถานีวิจัย การทำงานรวบรวมข้อมูลต่างๆ คอมพิวเตอร์คืออุปกรณ์สำคัญ

จานรับสัญญาณอินเตอร์เน็ต ได้รับการเปลี่ยนให้เป็นระบบความเร็วสูง

ความรวดเร็วคือหัวใจ ดูคล้ายกับว่า ไม่มีใครอดทนรออะไรๆ ได้

 

ผมอ่านพบงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่บอกว่า วันนี้มีคนทำอะไรหลายๆ อย่างอันเป็นสิ่งพื้นฐานไม่เป็น

ผมไม่แปลกใจ

งานวิจัยชิ้นนี้สรุปว่า ถึงที่สุด คนอาจต้องพึ่งพาทักษะของร่างกายในการจะมีชีวิตอยู่

ชีวิตคงมีปัญหา หากมีวันที่เราพึ่งพาเทคโนโลยี่ไม่ได้แล้ว

ผมไม่คิดว่า คนผู้ซึ่งไม่ยอม “ไหล” ไปพร้อมๆ กับโลกใบใหม่จะเชยหรือตกยุค

การพึ่งพาเทคโนโลยีแต่เพียงความจำเป็น หรือใช้ ให้น้อยที่สุดนั้นทำยากกว่ายอมรับและไหลไปกับมันมาก

 

ในช่วงฤดูแล้งอย่างนี้ ป่าไม่ใช่สถานที่น่ารื่นรมย์นักหรอก แม้ว่าในเดือนกุมภาพันธุ์ กลางคืนสภาพอากาศยังเย็นยะเยือก แต่กลางวันเราต้องเดินไปตามด่าน ในสภาพอากาศร้อนอบอ้าว เหงื่อชุ่ม และหลีกไม่พ้นกับแมลงนานาชนิด ยุง, ผึ้ง ไม่แค่สร้างความรำคาญ แต่มันสามารถต่อยเราให้ปวดได้

ป่าแห้งแล้ง ใช่ว่าการเดินไปตามด่านจะสบาย

ใบไม้ร่วงหล่นลงมาทับถมบนพื้น ช่วยให้เดินนุ่มเท้าก็จริง แต่ถ้าเป็นเส้นทางชันๆ ใบไม้โดยเฉพาะใบไผ่แห้งๆ จะทำให้การเดินพบกับการลื่นไถลง่ายๆ

น้ำในลำห้วยสายเล็กๆ แห้งเหือด เหลือแต่ก้อนหินระเกะระกะ

ในลำห้วยสายหลักๆ ระดับน้ำมีเพียงท่วมข้อเท้า

สภาพอากาศอันร้อนอบอ้าว ในช่วงบ่าย เหล่าสัตว์ป่าต่างมุ่งหน้ามาที่ลำห้วยสายหลัก

ช่วงเวลาที่ผมร่วมกับทีมศึกษาเสือโคร่งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ตั้งแต่ต้นฤดูแล้ง เราพบซากเหยื่อเสือโคร่งบ่อย

ฤดูแล้งหนึ่ง เราพบว่าเสือโคร่งล่าควายป่าได้ถึง 3 ตัว

เสือใช้ซากอย่างคุ้มค่า ควายป่าตัวหนึ่ง มันใช้เวลากินร่วมสองสัปดาห์

 

ไม่ว่าจะฤดูกาลใด สัตว์ป่ารู้ถึงการต้องปรับตัวไปกับสภาพแห่งอาศัยที่เปลี่ยนแปลง

สำหรับสัตว์ป่า พวกมันมีเพียงสองฤดูกาล

คือ ฤดูฝน กับ ฤดูแล้ง

พวกมันปรับตัวจากฤดูกาลหนึ่งสู่ฤดูกาลหนึ่ง

ปฏิบัติเช่นนี้มาเนิ่นนานแล้ว

 

ข้อดีของการอยู่ “หลังเขา” คือ ทำให้มองเห็นความเป็นไปของ “เมือง” ชัดเจน

ผมเชื่อเรื่องความเปลี่ยนแปลง โลกเป็นเช่นนี้มานานแล้ว เปลี่ยนจากยุคหนึ่งมาสู่อีกยุคตลอดเวลา

บางอย่างสิ้นสุดพร้อมกับการเกิดใหม่ของบางอย่าง

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่บริษัทต่างๆ ที่เคยรุ่งเรือง ต้องปิดตัว เพราะ “ปรับตัว” ไม่ทันกับ “โลก” ที่รุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

 

ข้อดีอีกประการของการอยู่ “หลังเขา” คือ ได้มีโอกาสอยู่ในสังคมเดียวกับเหล่าสัตว์ป่า

พวกมันสอนให้ผมรู้ว่า

มีสัตว์หลายชนิดปรับตัวได้เก่ง ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

บางชนิดไม่มีทักษะเช่นนั้น

อีกไม่นานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก สัตว์พวกนี้จะสูญพันธุ์

แต่สิ่งที่สัตว์พวกนี้แสดงให้ผมเห็น

คือ จะสูญพันธุ์ไปตามสายพันธุ์ที่พวกมันเป็น

หรือหากยังอยู่ “วิถี” ที่พวกมันยึดถือ ก็สูญพันธุ์ไปแล้ว

“สูญพันธุ์” ทั้งๆ ที่ยังมีลมหายใจ