คุยกับทูตเยฟกินี โทมิคิน ความร่วมมือไทย-รัสเซีย มีพลวัตมากขึ้นในทุกมิติ (จบ)

การโจมตีทางอากาศบริเวณสนามบินนานาชาติกรุงแบกแดดของสหรัฐเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้นายพลคัสเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ (Quds Force) ของอิหร่าน และนายอาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดิส รองผู้นำกองกำลังฮาชด์ชาบี (Hashd Shaabi) ของอิรักเสียชีวิต

กระทรวงต่างประเทศรัสเซียระบุว่า การที่สหรัฐสังหารนายพลอิหร่านครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพในภูมิภาค และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในตะวันออกกลาง

แต่จะนำไปสู่ความตึงเครียดรอบใหม่ในภูมิภาค

นายเยฟกินี โทมิคิน (His Excellency Mr. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยให้ความเห็นว่า

“สำหรับรัสเซีย เรามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการแก้ปัญหาอย่างสันติในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งของโลกที่มีความขัดแย้ง เป็นข้อพิพาทมาเป็นเวลายาวนาน ระหว่างอิสราเอลกับประเทศอาหรับ ระหว่างอิหร่านกับประเทศอื่นๆ และระหว่างประเทศต่างๆ บนคาบสมุทรอาหรับหรืออ่าวเปอร์เซีย รวมทั้งปัญหาผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่ในซีเรีย”

“สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรในยุโรปได้มีการประชุมเพื่อสันติกันหลายเวที สำหรับรัสเซีย เราไม่มีความสุขกับปัญหาหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในส่วนนี้ของโลก ซึ่งไม่ได้อยู่ห่างไกลจากผืนแผ่นดินรัสเซีย และแน่นอนว่า มันอาจทำลายมาตรการสันติภาพของรัสเซียเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ก่อการร้ายในซีเรียได้”

“แต่เราเชื่อว่า ทุกฝ่ายต่างมีสติปัญญาและความคิดที่ฉลาดรอบคอบ ดังนั้น เราจึงได้แต่ขอให้ผู้เกี่ยวข้องมาประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อช่วยกันแก้ไขสถานการณ์นี้”

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมากับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย

“เมื่อมาประจำกรุงเทพฯ ปีแรก เป็นเวลาประจวบเหมาะกับประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ดังนั้น งานหลักของสถานทูตตลอดปี 2019 คือการอำนวยความสะดวกให้ประเทศรัสเซียมีส่วนร่วมในการประชุมต่างๆ ของอาเซียน รวมทั้งการเดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย”

“ความคืบหน้าบางประการ คือการเปิดสถานกงสุลใหญ่สหพันธรัฐรัสเซียที่จังหวัดภูเก็ต ผมมั่นใจว่าการเปิดสถานกงสุลแห่งนี้ จะทำให้เราสามารถให้ความช่วยเหลือพลเมืองรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของพวกเขาด้วยเช่นกัน”

“สำหรับปีนี้ หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดก็คือ การเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 75 ปี วันแห่งชัยชนะ (Victory Day) ซึ่งเป็นวันที่กองทัพอดีตสหภาพโซเวียตมีชัยเหนือกองทัพนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง”

“ในการนี้ สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียจะจัดงานด้านวัฒนธรรมและการศึกษามากมาย นอกจากนี้ ชุมชนรัสเซียในไทยโดยการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูต ก็จะจัดกิจกรรมบางอย่าง ได้แก่ กองทหารอมตะ (Immortal Regiment) ด้วยเช่นกัน”

“แต่โชคไม่ดีที่การเตรียมการเฉลิมฉลองนั้นถูกขัดขวางจากบางประเทศที่พยายามเขียนประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาใหม่ บางอย่างถึงกับทำให้เป็นเท็จ ด้วยเหตุนี้ นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย จึงต้องสร้างความกระจ่างอย่างมากมายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก่อนที่สงครามจะปะทุขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถลงการณ์ของประธานาธิบดีปูติน (ดูบันทึกได้ที่ en.kremlin.ru/events/president/news/36273) ซึ่งได้สร้างความกระจ่างต่อบทบาทของโปแลนด์เมื่อเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สอง”

“นอกจากนี้ เรายังมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะกระตุ้นความร่วมมือให้มากยิ่งขึ้นในเรื่องของมนุษยธรรม ดังเวทีการประชุมอธิการบดีของรัสเซียและไทย ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เราจะยังคงทำงานต่อไปในเรื่องการขยายการแลกเปลี่ยนนักศึกษา โดยการจัดหาทุนการศึกษาแก่เยาวชนไทยเพื่อไปศึกษาต่อที่รัสเซียให้มากขึ้น”

“ทั้งนี้ ยังมีแผนการจัดเวทีการแสดงศิลปะของทั้งสองประเทศ รวมทั้งผู้ผลิต บริษัทให้เช่าภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยที่มีสาขาทางด้านการละคร และองค์กรอื่นๆ ได้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมมือเชิงปฏิบัติในด้านนี้”

“การเชื่อมโยงอันใกล้ชิดระหว่างภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซียและจังหวัดต่างๆ ของไทยนั้น สามารถเพิ่มพูนให้เกิดความร่วมมือกันทางด้านการค้าและเศรษฐกิจ รวมถึงการติดต่อกันทางวัฒนธรรมและมนุษยธรรมระหว่างประเทศของเรา ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่ถูกจำกัดเพียงการติดต่อกันระหว่างมอสโกและกรุงเทพฯ แต่เราเห็นศักยภาพที่สำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม เมืองอัจฉริยะ (smart cities) การท่องเที่ยว พลังงาน และยังถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะดึงดูดนักเรียนไทยให้สนใจมหาวิทยาลัยระดับภูมิภาคของรัสเซียในสาขาต่างๆ ด้วย”

เกี่ยวกับการลงทุนของไทยในรัสเซีย ท่านทูตเยฟกินี โทมิคิน เล่าว่า

“การลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจรในรัสเซียนั้นขันแข็งที่สุด โดยมีซีพีฟู้ดส์ (CP Foods) เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทยทางความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจในรัสเซีย”

“เมื่อปี 2019 การลงทุนรวมในด้านเกษตรกรรมของรัสเซีย (ฟาร์มสุกรในภูมิภาค Kaluga, Moscow, Kursk และฟาร์มสัตว์ปีกในภูมิภาค Leningrad) มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และผลจากปี 2018 บริษัทอยู่ในลำดับที่ 7 ในแง่ของปริมาณการผลิตเนื้อสัตว์ในรัสเซีย”

“ซีพีฟู้ดส์ ตั้งใจที่จะขยายเศรษฐกิจในตลาดรัสเซียรวมทั้งผ่านการปฏิบัติตามโครงการอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ของเขตตะวันออกไกลของสหพันธ์ อุตสาหกรรมเกษตรครบวงจรเพื่อการเก็บเกี่ยวและกรรมวิธีด้านถั่วเหลืองนั้น คาดว่าจะเป็นก้าวแรกในทิศทางนี้ในปัจจุบัน ด้วยความช่วยเหลือของกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย และกองทุนเพื่อการพัฒนาตะวันออกไกล”

“ยังมีนักลงทุนไทยที่อยู่ในงานด้านการบริการในรัสเซีย ซึ่งได้แก่ ร้านอาหาร ร้านนวด โดยเราหวังว่าในภายภาคหน้านั้น การลงทุนของไทยในประเทศของเราจะเข้ามาในภาคส่วนไฮเทคด้วย”

“ส่วนอีกทิศทางหนึ่งที่เป็นไปได้ซึ่งเริ่มขึ้นโดยรัฐบาลรัสเซีย คือเขตที่ต้องพัฒนาก่อนในตะวันออกไกลและเมืองท่าปลอดภาษีวลาดิวอสต็อก นักลงทุนต่างชาติจะได้รับภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายทีเดียวหากนำเงินไปลงทุนในเขตเหล่านั้น”

สําหรับการลงทุนของนักธุรกิจรัสเซียในไทย แม้มูลค่าการลงทุนจะยังไม่สูงมากนัก แต่ประเทศไทยคือหนึ่งในเป้าหมายหลักของรัสเซีย หากจะเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

“ผลจากการเยือนไทยของคณะทำงานภาคธุรกิจรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 และเวทีธุรกิจรัสเซีย-ไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2019 เป็นการยืนยันถึงผลประโยชน์อันมีศักยภาพของนักลงทุนรัสเซียในการปฏิบัติตามโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ซึ่งบริษัทรัสเซียต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษที่จะทำให้สนามบินอู่ตะเภามีความทันสมัย และสร้างกลุ่มการบินและอวกาศของ EEC”

“เฮลิคอปเตอร์ของรัสเซีย (Helicopters of Russia) และบริษัทไทยที่เป็นหุ้นส่วนภายในกรอบของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ก็ร่วมกันปฏิบัติงานโครงการด้านการจัดการศูนย์บริการ เพื่อการรักษาและซ่อมแซมเฮลิคอปเตอร์ที่สร้างขึ้นโดยรัสเซียในจังหวัดระยอง”

เฮลิคอปเตอร์ของรัสเซีย บริษัทในเครือของรอสเทค (Rostec State Corporation) รัฐวิสาหกิจด้านกลาโหมของรัสเซีย ได้เคยนำเฮลิคอปเตอร์พลเรือนรุ่นใหม่ล่าสุดของบริษัท ได้แก่ Mi-171A2 และ Ansat มาทำการบินสาธิตให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในไทยได้ชมที่สนามบินอู่ตะเภาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการนำอากาศยานรุ่น Mi-171A2 และ Ansat เดินทางมาสาธิตการบินทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ที่ผลิตโดยรัสเซียในประเทศไทย ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะให้บริการทุกประเภทที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษาและซ่อมแซมตามปกติ การแก้ไขปัญหา และการเปลี่ยนอะไหล่

“อีกทั้งบรรดาผู้ผลิตของรัสเซียก็พร้อมที่จะเข้าร่วมในการทำให้ระบบรถไฟไทยมีความทันสมัยในวงกว้าง โดยจัดการลำเลียงหัวรถจักรและรถบรรทุกสินค้าของรัสเซียสู่ตลาดท้องถิ่น และยังมีโครงการระดับกลางในเรื่องของการบริการด้านการท่องเที่ยว และการประมง”

ความท้าทายและอุปสรรคในการค้าระหว่างไทย-รัสเซีย

“ผู้นำประเทศของเราทั้งสองมีเป้าหมายอันแน่วแน่ในการให้ได้มาซึ่งปริมาณการค้าทวิภาคีจำนวนหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่โชคไม่ดีที่สถานการณ์เศรษฐกิจจุลภาคโดยรวมของเราทั้งสองและในโลกนั้นค่อนข้างทำให้ปริมาญการค้าลดลงเล็กน้อยบ้างในปีที่แล้ว”

“ทั้งนี้ ตามสถิติของไทยนั้น มูลค่าการซื้อขายจากเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2019 อยู่ที่ 3.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ (-6.1%) การส่งออกของรัสเซียมายังประเทศไทยอยู่ที่ 2.12 พันล้าน (-0.1%) รัสเซียนำเข้าจากประเทศไทยอยู่ที่ 0.89 พันล้าน (-18%)”

“งานที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่นั้น คือ การยังคงกระจายโครงสร้างการส่งออกและนำเข้าต่อไป และในเวลาเดียวกัน เราก็จะสานงานต่อไปเพื่อขยายการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้ว ซึ่งขอบเขตความร่วมมือที่เป็นไปได้นั้นรวมถึงวิทยาการที่เป็นไฮเทคทางด้านอวกาศ เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อสันติ อีกทั้งยังมีโอกาสทางด้านการบิน การต่อเรือ การคุ้มครองสภาพแวดล้อม วิทยาการข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร การผลิตวัสดุก่อสร้าง และอื่นๆ อีกมากมาย”

“เรารู้สึกได้ว่า ยังคงมีปัญหาใหญ่คือ การขาดข้อมูลข่าวสารสำหรับนักธุรกิจทั้งชาวรัสเซียและชาวไทย เกี่ยวกับโครงการในการลงทุนขนาดเล็กและขนาดกลาง หุ้นส่วนที่มีศักยภาพ เงื่อนไข และการรับประกันนักลงทุนชาวต่างชาติ”

“อย่างก็ตาม สถานเอกอัครราชทูตร่วมกับสำนักงานการค้ารัสเซียและสมาคมธุรกิจ ต่างก็เข้ามามีส่วนอย่างแข็งขันในงานด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดงาน ตามหัวข้อเรื่อง ในเวทีระหว่างประเทศ ที่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจในระดับทวิภาคี”

ความคาดหวังและประเด็นที่ต้องติดตามกับประเทศไทยในปี 2020

“ประเทศไทยได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นผู้เล่นสำคัญในระดับระหว่างประเทศ โดยเป็นประธานอาเซียนที่ประสบความสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว รัสเซียเองก็เฝ้ารอที่จะมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์และมีผลประโยชน์ร่วมกันกับไทยในกรอบของกลไกพหุภาคีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งสองประเทศ”

“ถือเป็นความสนใจร่วมกันของเราที่จะก่อสร้างสถาปัตยกรรมแห่งความมั่นคงปลอดภัยอันเท่าเทียมและแบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งจะมุ่งไปสู่การได้มาซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพสำหรับทุกประเทศในภูมิภาคโดยไม่มีข้อยกเว้น โครงสร้างนี้ถูกสร้างขึ้นอย่างประสบผลสำเร็จโดยมีอาเซียนเล่นบทบาทนำ เราเห็นได้ว่าบางประเทศพยายามที่จะบั่นทอนโครงสร้างนี้ที่นำโดยบรรดามิตรอาเซียนของเรา เราไม่ยอมรับความพยายามเช่นนั้น และหวังว่าไทยซึ่งมีนโยบายต่างประเทศที่เป็นเอกเทศและสมดุลกับอาเซียนซึ่งเป็นแกนหลักจะมีความคิดเช่นเดียวกัน”

“ส่วนเรื่องการพัฒนาภายในประเทศไทยนั้น เราทราบว่า รัฐบาลไทยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติเพื่อเป็นกรอบการพัฒนาระยะยาวโดยมีระยะเวลาบังคับนานถึง 20 ปี ตั้งแต่ปี 2018-2037 (พ.ศ.2561-2580) มีโครงการไทยแลนด์ 4.0 และโครงการ EEC ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว เป้าหมายอันแน่วแน่เหล่านี้ไม่อาจสำเร็จได้โดยลำพัง และรัสเซียกับไทยก็เป็นหุ้นส่วนโดยธรรมชาติที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งกันและกัน”

“ในฐานะพลเมืองรัสเซียและเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ผมมีความสุขกับชีวิตที่นี่เพราะไทยเป็นประเทศที่เป็นมิตรมาก ไม่เพียงกับชาวรัสเซียเท่านั้น แต่กับคนต่างชาติจำนวนมาก และแน่นอนว่าผมชื่นชอบรับประทานอาหารไทยมากมายหลายอย่างทีเดียว”

เนื่องจากท่านทูตเคยประจำประเทศจีนถึงสามวาระ เรื่องอาหารจึงไม่เป็นอุปสรรค เพราะยึดมุขตลกของจีนที่ว่า

“คนจีนสามารถกินทุกอย่างที่บินได้ ยกเว้นเครื่องบิน สามารถกินทุกอย่างที่ลอยได้ ยกเว้นเรือดำน้ำ และสามารถกินทุกอย่างที่วิ่งได้ ยกเว้นรถไฟ”

ท่านทูตเยฟกินี โทมิคิน จบการสนทนาด้วยความว่า

“ประเทศไทยเป็นพันธมิตรกันมายาวนานและเชื่อถือได้ของรัสเซีย ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของเราเป็นกันเองและอบอุ่นมาก สิ่งนี้สามารถรู้สึกได้ไม่เพียงแต่ในช่วงของงานเลี้ยงรับรองอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่ยังอยู่ในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งในปี 2022 นับเป็นปีสำคัญยิ่งที่เราจะร่วมกันเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 125 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-รัสเซีย”