ฐากูร บุนปาน | สังคมนี้กลับถูก “พลังงานมืด” ดึงให้ถอยหลังกลับไปอย่างน้อย 50 หรือ 100 ปี

ไม่ต้องแปลกใจหรอกนะครับ

ถ้าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะถอยหลังไปอยู่เป็นประเทศด้อยพัฒนาที่สุดในกลุ่มอาเซียน

หรือเผลอๆ จะถอยไปอยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่สุดของโลก

เพราะในขณะที่คนอื่นเขาเดินไปข้างหน้า

สังคมนี้กลับถูก “พลังงานมืด” (มีจริงๆ นะครับ ตามหลักฟิสิกส์–อย่าตีความกันเป็นอย่างอื่น) ดึงให้ถอยหลังกลับไปอย่างน้อย 50 หรือ 100 ปี

และโอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวโลก

ทั้งในแง่ชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งในแง่ของ “ความเป็นคน” ที่ครอบคลุมทั้งสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ และพลังในทางบวกทั้งหลาย

บอกได้ว่ายาก ถึงยากที่สุด

เพราะที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่คือความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง

ในทางเศรษฐกิจ ก็อย่างที่ทุกคนเห็น

ความสามารถในการแข่งขันในภาคเศรษฐกิจเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเกษตรหรืออุตสาหกรรม

เราหลุดโลกไปเรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่ไม่มีความสามารถ ไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อม และไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอที่จะรองรับ “เศรษฐกิจใหม่” อย่างเทคโนโลยีทั้งหลาย

ไม่ว่าจะเอไอ ไอโอที โทรคมนาคม หรืออื่นๆ

ที่พอจะประคองตัวไปได้ (ถ้าไม่เจ๊งระเนระนาดเพราะปัญหาเฉพาะหน้ากันไปก่อนในรอบนี้) ก็คือภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

แต่ก็อีหรอบเดียวกัน

การเร่งตักตวงกอบโกยประโยชน์เฉพาะหน้า โดยไม่สนใจที่จะเสริมสร้างหรือรักษารากฐานสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม (หมายถึงชีวิตของชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่ของปลอมที่แค่ทำเลียนแบบขายนักท่องเที่ยว) ความสะอาด และความปลอดภัย

ปล่อยอย่างนี้ไปอีกไม่นาน

การท่องเที่ยวก็จะกินตัวเอง แล้วค่อยๆ เหี่ยวแห้งตายไปเหมือนการเกษตรและอุตสาหกรรม

ถึงตอนนั้นก็เอวัง

อันที่จริงถึงโครงสร้างเศรษฐกิจซวนเซจะพังมิพังแหล่ แต่ถ้าโครงสร้างทางการเมืองแข็งแรง

ก็ยังพอมีทางที่จะตะกายพ้นจากหลุมดำนี้ไปได้

แต่อนิจจา โครงสร้างการเมืองไทยนั้น “อุบาทว์” เสียยิ่งกว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

จึงนอกจากจะไม่ได้เป็นตัวช่วยแล้ว ยังกลายเป็นตัวถ่วงอีกต่างหาก

หรือใครคิดว่าสังคมที่ไม่มีหลักกฎหมาย ระบบการเมืองที่ใคร “หน้าด้านกว่า-กำปั้นใหญ่กว่า” ก็ยึดอำนาจไป

จะนำพาสังคม-คนส่วนใหญ่เดินไปสู่ความรุ่งเรืองไพบูลย์ได้บ้าง

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สรุปภาพความขัดแย้งและการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา

ว่าเป็น “สงครามเบ็ดเสร็จ”

คือมีการทุ่มสรรพกำลังทุกอย่าง ดาหน้ากันออกมาทุกองค์กร และไม่ละอายที่จะใช้ทุกวิธีการ

จนไม่เหลือหลักการ บุคคล หรืออะไรต่อมิอะไรให้ยึดเหนี่ยวต่อไป

ถึงอย่างนั้นก็ยังเอาชนะพลังของความเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ทำได้มากที่สุดคือยื้อเวลา

ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็คือเพิ่มปัจจัยวิกฤตให้กับความวิกฤตมากขึ้น

ดังนั้น ยิ่งยื้อไปอีกนานแค่ไหน ก็ยิ่งสั่งสมปัจจัยและพลังของความเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้นเท่านั้น

ส่วนปัจจัยและพลังที่ว่านี้จะนำไปสู่อะไร

ไม่มีใครรู้

แต่ไอ้ตรงไม่รู้นี่แหละครับที่อันตรายนัก

กรณีคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นแค่อีกหนึ่งในยอดภูเขาน้ำแข็งที่ปรากฏ

ข้างใต้นั้นยังมีสารพัดปัจจัยและปัญหากองสุมซ้อนทับกันอยู่

เหมือนแผ่นเปลือกโลกที่สั่งสมความเครียด รอเงื่อนไขและเวลาสุกงอมกลายเป็นแผ่นดินไหว

ส่วนจะเมื่อไหร่ หรือหลังจากนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ไม่รู้อีกนั่นแหละครับ

รู้แต่ว่าตอนนี้อยากกลับไปหาหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ชุด “สถาบันสถาปนา” ของไอแซ็ก อาซิมอฟ มาอ่านใหม่อีกรอบ

เพราะอนารยยุคที่ทอดรออยู่ข้างหน้าของสังคมนี้ดูมืดมนและยืดยาว

แม้อาจจะไม่ถึง 10,000 ปีเหมือนในนิยาย

แต่ก็ส่อเค้าจะกินเวลาและโกลาหลไม่น้อยกว่ากัน

คำถามคืออะไรจะเป็นจุดเปลี่ยน ที่จะย่นเวลาและความโกลาหลนี้ให้น้อยลงได้เหมือนสถาบันสถาปนา

หรือจะสมัครใจเดินถอยหลังเข้าหลุมดำกันอีกสัก 2-3 ชั่วอายุคน

เลือกกันได้นะครับ