“พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” หัวหน้าผู้แทนพิเศษฯ ชูนโยบาย “ประสานงาน” ดับไฟใต้

การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ถือเป็นนโยบายที่สำคัญของทุกรัฐบาล เร่งผลักดัน เพื่อให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ โดย “คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล” นี้ตั้งขึ้นตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 57/2559 เรื่องการปรับปรุงการบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยผู้แทนพิเศษฯ ดังกล่าวจะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยปฏิบัติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสื่อสารโดยตรงกับนายกรัฐมนตรีเพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาที่ล่าช้า

ทั้งนี้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษฯ เปิดเผยถึงความรู้สึกในการทำหน้าที่ใน 4 เดือนที่ผ่านมาว่า

ผมมีความรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในด้านนี้ เพราะในอดีตที่ผ่านมา ได้เคยมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาตั้งแต่เป็นนายทหาร กระทั่งเป็น ผบ.ทบ. ผมยินดีที่ได้กลับมาช่วยดำเนินงานนี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคำสั่ง คสช. 57/2559 ได้ออกมาให้เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ระบุหน้าที่ชัดเจนให้ประสานงาน กำกับดูแล แนะนำ และบูรณาการงานของส่วนราชการต่างๆ ให้สอดคล้อง และสามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้

เพื่อนำไปสู่จุดลุหมาย คือความสงบสุขในพื้นที่ จชต. ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้

: หลังรับมอบตำแหน่ง มองความหวังอย่างไร

มีผู้แทนพิเศษฯ ย่อมดีกว่าไม่มีแน่นอน เพราะการที่เราลงไปในพื้นที่จะเห็นว่างานบางอย่างเหมือนว่าไปด้วยกันไม่ค่อยดีเท่าใด ถ้ามีคนมาเชื่อมต่อบูรณาการกันแล้ว งานจะผสานกันไม่ซ้ำซ้อนกัน และหน้าที่ของผู้แทนพิเศษฯ คือการบูรณาการให้เกิดการร่วมกันคิดร่วมกันทำ จะทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ขณะเดียวกันงานผู้แทนพิเศษฯ เมื่อลงไปในพื้นที่ จชต. ต้องมีสำนักงาน ซึ่งสำนักงานตั้งในค่ายสมเด็จพระศรีสุริโยทัย กองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีทีมงานฝ่ายอำนวยการ ทีมงานธุรการให้ผู้แทนพิเศษฯ และสามารถประสานป้อนข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้แต่ละท่านในการลงพื้นที่

นอกจากนั้น ในส่วนกลาง ในคำสั่ง 57/2559 ได้กำหนดให้ผู้แทนพิเศษฯ ประสานในทุกระดับ ทั้งระดับรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวง อธิบดีที่เกี่ยวข้อง และในระดับพื้นที่ เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องเคลื่อนไหวการทำงานทั้งในพื้นที่และส่วนกลางที่กระทรวงกลาโหม ซึ่งส่วนที่เป็นหลักในการดำเนินการจะอยู่ที่ พล.ร.15

: ทีมงานผู้แทนพิเศษฯ ใครเป็นผู้คัดเลือก

มีการหารือกันทั้งนายกฯ รองนายกฯ และผมมีส่วนระบุตัวบุคคลทั้ง 13 ท่าน เห็นว่ามีความเหมาะสม ต้องเข้าใจว่าการแก้ไข จชต. มอบหมายให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นหลักในการแก้ไขปัญหา ในส่วนสายงานของการพัฒนา ศูนย์อำนวยการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็รับผิดชอบ และสายการปกครองก็เป็นของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มาอยู่ในการควบคุมแก้ไขปัญหาในภาพรวมของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. เพราะฉะนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 แต่ละยุคมีประสบการณ์ มีความรู้ เมื่อกำหนดมาเป็น 13 ท่านที่ส่วนมากเป็นทหาร ในพื้นที่ภาคใต้ทหารจะมีประสบการณ์มาก โดยมีตำรวจและพลเรือนเข้ามาร่วมด้วย ผมคิดว่าทีมทั้ง 13 คนล้วนมีประสิทธิภาพอย่างดี

: สถานะผู้แทนพิเศษฯ เป็นเพียงผู้ประสานงานจะมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่

ผมคิดว่าทุกภาคส่วนเข้าใจว่าในคำสั่งมีความชัดเจนในขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ไม่สามารถสั่งการได้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะส่วนราชการมีผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ดังนั้น ถูกต้องแล้วที่ผู้แทนพิเศษฯ ลงพื้นที่ไปไม่ควรไปก้าวก่ายสายการบังคับบัญชา แต่เราจะไปฟังและแนะนำ ซึ่งเราจะใช้การบูรณาการ และการทำงานที่ได้รับมอบหมายที่ไม่ไปก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ใคร ซึ่งการให้คำแนะนำอย่างมีเหตุมีผล ส่วนราชการต่างๆ ก็ให้เกียรติ แล้วนำไปสู่การปฏิบัติงานได้อย่างดี

“ผมยืนยันว่าไม่มีข้าราชการเกียร์ว่าง เพราะเราไม่ได้ไปแข่งขันอะไรกับใครเลย ให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ศอ.บต. และส่วนราชการต่างๆ ไปทำงาน เพียงแต่เราจะไปมองการทำงานของพวกเขา พร้อมทั้งไปกำกับดูและแนะนำ หากเกิดปัญหาติดขัดอะไร เราก็พยายามแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรที่ขัดกัน แต่เราจะไปดูหน่วยปฏิบัติ แล้วร่วมกันขับเคลื่อนหน่วยปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้นไป”

: ต้องขับเคลื่อนอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ตามโรดแม็ปผู้แทนพิเศษฯ

เราใช้ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนดและมีนโยบายการบริหาร และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2560-2562 เป็นแนวทางหลัก และที่สำคัญที่สุดคือยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่เป็นหลักในการแก้ไขปัญหา จชต. นั่นคือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย ตัวผู้ปฏิบัติต้องตั้งใจทำอย่างแท้จริง แล้วประสิทธิภาพ ประสิทธิผลจะเกิดขึ้นได้ตามจุดมุ่งหมาย

“ตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว เข้าใจในที่นี้อะไร ก็คือเข้าใจคนในพื้นที่เป็นอย่างไร มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร เข้าใจพื้นที่ เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมความเป็นมุสลิม เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องเข้าถึง ซึ่งการเข้าถึงปัญหา เงื่อนไขในพื้นที่มีอะไรที่ควรจะต้องแก้ไข และนำมาสู่การพัฒนาอะไรต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเราทำตามยุทธศาสตร์ของพระองค์ท่านก็จะเป็นผลที่ดีอย่างแน่นอน”

ยุทธศาสตร์ผู้แทนพิเศษฯ คืองานความมั่นคง งานพัฒนา และงานเสริมสร้างความเข้าใจ ซึ่งเราใช้คำว่า 2+1 นั่นคือใช้งานความมั่นคง และงานพัฒนาเป็นหลักที่ท่านนายกฯ ได้มอบหมายให้ในส่วนนี้ ซึ่งทั้งสองอย่างทำอยู่บนฐานการเสริมสร้างความเข้าใจ พูดง่ายๆ เราก็มียุทธศาสตร์สองบวกหนึ่งนั่นเอง ในส่วนนี้จะอธิบายไปถึงกลไกให้เป็นผลสำเร็จเราได้จัดทำเป็นโรดแม็ปขึ้นมา ในนั้นจะใช้กลุ่มงานภารกิจ 7 กลุ่ม อาทิ กลุ่มงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การดำเนินการด้านความยุติธรรม และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จนถึงการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง

เราก็เอากลุ่มงานเหล่านี้มาบรรจุในยุทธศาสตร์สองบวกหนึ่ง โดยใส่กรอบระยะเวลาเข้าไปว่าในแต่ละงานต่างๆ ซึ่งระยะแรกเป็นระยะเร่งด่วนตั้งแต่ 2560 ว่าควรทำอะไรบ้าง ระยะกลาง คือ ในห้วง 5 ปี และระยะที่ 3 ตั้งแต่ 5 ปีไปจนถึงยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาล เพราะฉะนั้น เราจะมากำหนดให้เป็นกรอบการเดินงานโรดแม็ปตามยุทธศาสตร์ที่มีอยู่

โดยหน่วยปฏิบัติแต่ละหน่วยจะทำอะไรสอดคล้องกัน ไม่ทับซ้อนกัน ต้องทำงานร่วมกัน