จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 28 ก.พ -5 มี.ค. 63

จดหมาย

 

0 น้ำตาจ่าแดง

 

เรื่องน้ำตาจ่าแดง

ทำให้นึกถึงเพลงน้ำตาจ่าโท ของสุรพล สมบัติเจริญ

แม้จะไม่มีความเกี่ยวโยงเพราะเป็นคนละบริบทกัน

แต่ก็ทำให้มีคำถามถึงจ่าแดง ที่ออกมาบีบน้ำตาขอโทษประชาชน

แต่ดูน้ำหนักเทไปที่กองทัพและหมามากกว่าประชาชนผู้จ่ายภาษี

จึงขอฝากความเห็นและข้อเสนอดังนี้

1) เหตุการณ์ปล้นอาวุธจากค่ายทหาร ไม่ได้เกิดเป็นครั้งแรกใช่ไหม

ทางกองทัพเคยมีแผนปฏิบัติการรองรับไว้บ้างหรือเปล่า

ถ้าไม่มี น่าจะถือได้ว่าเป็นความประมาทบกพร่องจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และเป็นเหตุให้น่าจะมีการฟ้องละเมิดได้

2) มีเงินซื้ออาวุธแพงๆ ได้ แต่ทำไมคลังอาวุธจึงไม่มีระบบป้องกันที่รัดกุม สำนักงานทั่วไปเขายังมีระบบสแกนนิ้วมือหรือกรอกรหัส

กรณีนี้น่าจะริบของเล่นแพงๆ เสียดีไหม?

3) คนร้ายใช้เวลาอยู่ในค่ายสุรธรรมพิทักษ์นานพอควร

มีการแจ้งเหตุระงับสกัดกั้นออกมาข้างนอกหรือไม่

หรือระบบหละหลวม จนไม่อาจสกัดกั้นได้

4) ระยะทางจากค่ายสุรธรรมพิทักษ์มาวัดป่าศรัทธารวม ระยะทางราว 9.5 ก.ม. ใช้เวลาเดินทางไม่น่าน้อยกว่า 15 นาที

เมื่อเกิดเหตุร้ายขนาดนี้ โดยคนร้ายมีอาวุธสงคราม ได้ยินมาว่า กองทัพบอกว่าเป็นเรื่องของตำรวจ

(ตรงนี้แม้จะอ้างว่าเป็นเรื่องของตำรวจ กองทัพก็น่าจะมีการติดตามคนร้ายใช่ไหม เพื่อแสดงความรับผิดชอบตามสมควร)

ฟังแล้วแปลกๆ เหมือนกับการปัดความรับผิดชอบ

มีการแจ้งตำรวจหรือประชาชนหรือไม่ว่าคนร้ายมีอาวุธร้ายแรง

เหตุการณ์นี้นำไปสู่การตายของเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชน

5) ระยะทางจากวัดป่าศรัทธารวม ไปเทอร์มินัล 21 ระยะทางราว 6 ก.ม. ใช้เวลาเดินทางไม่น่าน้อยกว่า 15 นาที

ทางกองทัพ (ค่ายฯ) มีการดำเนินการอย่างไรเพื่อระงับเหตุ เช่นเดียวกับข้อ 4 ข้างต้น ทั้ง 2 ข้อนี้ เกิดในที่สาธารณะ และหากมีการไล่ติดตามของทหาร ก็น่าจะมีการแจ้งเตือนหรือระงับ/ชะลอเหตุได้ใช่ไหม

6) จริงอยู่เหตุร้ายเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้แม้จะป้องกันกันอย่างดี

แต่ที่สำคัญสำหรับมืออาชีพ คือเมื่อเกิดเหตุแล้วจะมีการรับมืออย่างไร เพื่อจำกัดความเสียหาย (damage control)

การมาบีบน้ำตาและขอโทษไม่ช่วยอะไรนะจ่า ประชาชน (เจ้านายของจ่า) ด้วยการทหารที่เข้มแข็งไม่อ่อนไหวเจ้าน้ำตาและเป็นมิตรกับประชาชนไม่ใช่

7) เวลาเกิดเหตุร้ายแรงอย่างนี้ มืออาชีพเขาจะไม่โทษตัวบุคคลก่อน แต่จะต้องทำความจริงให้ปรากฏว่า ระบบมีความผิดพลาดอย่างไร แล้วแก้ไข เข้าใจไหม

8) ในประเทศที่เจริญแล้ว ผู้ที่ควรลาออกในกรณีเช่นนี้คือ รัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง

จ่าเองอาจไม่ต้องลาออกก็ได้ เพราะเป็นข้าราชการประจำ

อย่างไรตาม รัฐมนตรีบอกว่า ท่านไม่ใช่นักการเมือง ฉะนั้น คงไม่ต้องคิดเรื่องนี้

9) การวิสามัญฆาตกรรมคนร้าย อาจจำเป็นถ้าไม่มีทางเลือก แต่ถ้าจับเป็นได้ จะได้ข้อมูล นำมาป้องกันในอนาคตได้ รวมทั้งอาจสืบสาวไปถึงกระบวนการทั้งหมดได้

ท้ายที่สุด มีคนเคยถามว่า หมากับคน ใครฉลาดกว่ากัน

คำตอบคือ หมานะ

เพราะหมามักเข้าใจภาษาคน

แต่คนมักไม่ค่อยเข้าใจภาษาหมา

ฝากไว้แค่นี้นะจ่า

น้ำตาและการปกป้องกองทัพไม่มีประโยชน์เลย

ประชาชนเป็นนายของจ่านะ

จ่าทำงานก็ได้เงินเดือน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากอยู่แล้ว ไม่ต้องมาทวงบุญคุณ ทำสิ่งที่ต้องทำเสีย

ขอแสดงความความนับถือ

ศ.เกษียณ

 

คําถามจาก ศ.เกษียณ น่าสนใจ

เพราะเราไม่ได้ยินการสรุปบทเรียน

ทางยุทธการทหาร ว่ามีจุดบกพร่องอย่างไรบ้าง

นอกจากการบีบน้ำตาว่าอย่าด่าทหาร ให้มาด่าผม

ซึ่งไม่รู้จะได้ประโยชน์อะไร

นี่ยังไม่ได้พูดถึงความมั่นคงรูปแบบใหม่

นั่นคือ การก่อการร้ายในเมือง

เราได้ฝึก หรือเตรียมการไว้บ้างหรือเปล่า

ไม่รู้