ฉลุย! รัฐสภา มติเอกฉันท์ 549 เสียง เห็นชอบพิธีสารระงับข้อพิพาทเศรษฐกิจอาเซียน

ฉลุย! รัฐสภา มีมติเอกฉันท์ 549 เสียง เห็นชอบพิธีสารระงับข้อพิพาทเศรษฐกิจอาเซียน

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภีย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้ลงมติเอกฉันท์ 549 เสียง งดออกเสียง 9 เสียงเห็นชอบพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจอาเซียน ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยสมาชิกได้อภิปรายสนับสนุนพิธีสารฉบับดังกล่าว พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานเพื่อพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามพิธีสารดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่า การระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจอาเซียนต้องใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ดังนั้น หากสามารถตั้งหน่วยงานด้านกฎหมายเพื่อติดตามอย่างใกล้ชิดจะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามพิธีสารฉบับดังกล่าวได้โดยไม่มีปัญหา นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอให้กลุ่มประเทศอาเซียนตั้งศาลเพื่อพิจารณาคดีของกลุ่มประเทศอาเซียน และให้หน่วยงานของรัฐบาลคำนึงถึงการสร้างประโยชน์กับประชาชนทุกระดับ

ทั้งนี้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ หากผลตัดสินขออนุญาโตตุลาการ แต่ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนไม่เห็นด้วยจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งมองว่า พิธีสารดังกล่าวมีประเด็นที่ทำให้ประเทศไม่สามารถค้าขายได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศควรพิจารณารายละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ใช่แค่ขยายเวลาที่จะนำรายละเอียดเข้าสภาฯ​ให้พิจารณาหรือเห็นชอบเท่านั้น ซึ่งตนขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียด หากไม่สามารถทำได้ เตรียมตัวถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด้วยเหตุที่ทำให้ประเทศไม่สามารถค้าขายได้ ขณะที่การระงับข้อพิพาทตามประชาคมอาเซียน หากพิจารณาตามเนื้อหาของพิธีสาร อาจต้องใช้หลักเกรงใจ​เพื่อระงับข้อพิพาท

ขณะที่ นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ผู้ประกอบการที่ไม่มีกำลังคนไทยไม่สามารถช่วยตนเองได้จำนวนมาก เช่น กรณีที่ผู้ประกอบการชาวสวน ที่มีประเด็นกับล้งขนาดใหญ่ ที่ทำไม่สามารถส่งผลไม้ที่มีคุณภาพไปไม่ถึงประเทศที่ต้องการส่งออกได้ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ควรพิจารณาถึงการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรรายย่อย เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน โอท็อป ที่เจอปัญหา เพราะพิธีสารฯ ที่ให้รัฐสภา พิจารณานั้น ยังไม่เห็นประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า หากพิธีสาร บังคับให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ให้สามารถส่งสินค้าไปยังต่างประเทศได้ เชื่อว่าจะเพิ่มจีดีพีของประเทศให้สูงขึ้นได้

“พิธีสาร ระบุว่ามีปัญหาจะแก้อย่างไร แต่ผมต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐคิดเชิงรุกเพื่อให้กรอบพิธีสาร ใช้เชิงรุก ป้องกันและแก้ปัญหาล่วงหน้าเพื่อให้เกษตรกรรายย่อย ได้รับประโยชน์เมื่อเปิดประเทศอาเซียน ขณะเดียวกันการส่งสินค้าไปยังประเทศจีนถูกบังคับโดยกรอบข้อตกลงว่าด้วย จีเอ็มพีที่ทำให้เกษตรกรตัวน้อยไม่ได้รับประโยชน์ ดังนั้น ขอให้พิจารณาเพื่อให้เนื้อหาเกิดประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น และไม่ใช่ให้พิธีสาร เกิดประโยชน์เมื่อเกิดข้อพิพาท และรายใหญ่ได้รับประโยชน์เท่านั้น ” นายกนก กล่าว

ด้าน นายดาาวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า ยืนยันว่ากรณีที่กังวลว่าหากกรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นพิธีสารฯ สามารถใช้ตอบโต้ ขณะที่การพิจารณาเนื้อหาของพิธีสารฯดังกล่าวไม่มีความขัดแย้งใดๆของหน่วยงาน