ฐากูร บุนปาน : มันส์พิลึก

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแถลงผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน

เป็นข่าวใหญ่บนหนังสือพิมพ์ธุรกิจหลายฉบับ

แต่นักข่าวเศรษฐกิจเก่า ที่ตอนหลังกลายเป็นนักข่าวอาชญากรรม อ่านแล้วตงิดใจอยู่

พอดีไปเจอเฟซบุ๊กของ คุณบรรยง พงษ์พานิช ที่ท่านอธิบายเอาไว้แบบตรงใจ

และละเอียดแจ่มแจ้งชนิดไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม

ขออนุญาตทำแบบครูพักลักจำ ตัดตอนบางส่วนมาลงให้เหมาะสมกับเนื้อที่อันจำกัด แต่จะพยายามมิให้กระทบประเด็นใหญ่ใจความสำคัญ

ดังนี้

 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศข่าวดี ว่าบริษัทในตลาด 567 บริษัท มีกำไรในปี 2559 รวมกัน 909,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2558 ถึง 30.41%

ทั้งๆ ที่ยอดขาย 10.125 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย

ซึ่งฟังดูน่าจะเป็นข่าวดี

แต่สำหรับผม เห็นตัวเลขนี้ถึงกับสะดุ้งด้วยความเป็นห่วงถึงปัญหาที่ใหญ่หลวงกว่า

ที่ผมคิดว่าเป็นพื้นฐานต้นตอที่สำคัญที่สุดของความแตกแยกในสังคมไทย ทั้งในอดีตและในอนาคต

นั่นก็คือ “ความเหลื่อมล้ำ”

ถ้าดูตัวเลขทางวิชาการ ประเทศไทยดูเหมือนจะไม่ได้แย่มาก แถมดีกว่าหลายๆ ประเทศแถวนี้

ไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ทำให้เราค่อนข้างละเลยปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการกระจายรายได้ กระจายความมั่งคั่ง

ทีนี้ ที่เมืองไทยมีปัญหาจนนำไปสู่ความแตกแยก ผมคิดว่ามาจากสองสาเหตุ

อันแรก มันเป็นเรื่องการขยายของเมือง เดี๋ยวนี้คนจนเมืองเพิ่มขึ้นมหาศาล พ่อแม่ส่งมาเรียน จบแล้วก็ไม่กลับหางานทำได้รายได้ต่ำไม่พอใช้ ต้องกู้หนี้ยืมสิน

ปัญหาใหญ่อีกอันนึงก็คือเศรษฐกิจเราดันหยุดโต จากเคยโต 9% มาสามสิบห้าปีก่อนวิกฤต มาเหลือ 5% ยุคทักษิณ+สุรยุทธ์

มา 8 ปีหลังโตเฉลี่ยไม่ถึง 3% แถมมีติดลบตั้งสามปี

แต่เศรษฐีกะคนชั้นกลางเค้าไม่ยอมโตต่ำไปด้วย

 

ตัวเลขการขยายตัวอย่างมโหฬารของ Corporate Profit ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศเมื่อวานนี้ สะท้อนความกังวลที่ผมว่าไว้

คือใน GDP ด้านรายได้ (Income Side) นั้น จะประกอบด้วย เงินเดือนค่าจ้าง (Wage) + ค่าเช่า (Rental) + ดอกเบี้ย (Interest) + กำไร (Profit) + กิจกรรมอื่นๆ นอกระบบ

ไทยมี GDP ปีละ 14 ล้านล้านบาท บริษัทในตลาดมีกำไร 900,000 ล้าน ถ้ารวมกับนอกตลาดจะมีกำไรรวมไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาท (ประมาณจากการเก็บภาษี)

ซึ่งรวมกำไร (เฉพาะในระบบที่เสียภาษี) คิดเป็นประมาณ 25% ของ GDP

ถ้ากำไรในตลาดโต 30.4% สมมุติว่านอกตลาดโตน้อยกว่า โดยโตรวมสัก 15% (ประมาณแบบอนุรักษ์)

เมื่อ GDP Nominal ของไทยในปีที่แล้วโตแค่ 4% (Real GDP โต 3.2% บวกด้วยเงินเฟ้อและตัวปรับอื่น)

แต่ Corporate Profit ซึ่งมีส่วนอยู่ 25% ดันโตเสีย 15%

เด็กประถมก็คำนวณได้ว่า ส่วนที่เหลือ 75% จะติดลบ 2%

ลองไปดูในส่วนที่ติดลบ

ผมไม่เคยได้ยินว่ามีการลดค่าเช่า มีแต่ขึ้น

ยอดเงินออมก็เพิ่ม อัตราดอกเบี้ยปีที่แล้วก็ไม่ได้ลด

สรุปว่าทั้งกำไรกิจการ ทั้งค่าเช่า ทั้งดอกเบี้ย ซึ่งเป็นของคนรวยมีแต่เพิ่มกับคงที่

แล้วที่ลดเป็นของใคร

คนรับเงินเดือนอาจยังไม่ถูกลดนอกจากจะถูกเลิกจ้าง แถมถ้าเป็นข้าราชการ พนักงานราชการและรัฐวิสาหกิจกลับได้เพิ่ม

ทีนี้เราก็เลยหาตัวเหล่าคนโชคร้ายได้แล้ว

สรุปว่าคือชาวบ้านร้านตลาด เกษตรกร คนรายได้น้อย คนทำงานนอกระบบ

คือพวกที่จนอยู่แล้วมีรายได้ลดลง

 

เราประกาศก้องว่าจะต้องพัฒนาแบบ “Inclusive Growth” จะเติบโตไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ผลที่ออกมันยังขัดกับที่ตั้งใจ

จากรายงาน Global Wealth Report 2016 ของ Credit Suisse บอกว่าไทยเป็นหนึ่งในแค่สามประเทศในโลก ที่คน 1% ครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 50% ของประเทศ

680,000 คนไทยมีทรัพย์สิน 58.0% ตามหลังแค่รัสเซีย (74.5%) และอินเดีย (58.4%)

ขนาดอเมริกาที่ขึ้นชื่อว่าเหลื่อมล้ำเพิ่มจนคนบ้าชนะเลือกตั้งยังตามมาห่างๆ ในอันดับ 7 (42.1%)

ถ้าพื้นฐานเรื่องนี้ไม่แก้ไข ความเหลื่อมล้ำไม่ลด ความปรองดองก็คงไม่มา สังคมคงยากที่จะสงบสุข

มาดูสิ่งที่เขาพยายามทำกันอยู่ อย่างโครงการสานพลังประชารัฐ ผลระยะสั้นมันยังตรงข้ามกันอยู่

การที่บริษัทจะกำไรเพิ่มมากไม่ใช่เรื่องไม่ดีหรอกนะครับ โดยเฉพาะถ้ากำไรที่เพิ่มเป็นธุรกิจที่ทำนอกประเทศยิ่งดีใหญ่

แต่กำไรของบริษัทในตลาดไทยกว่า 95% ได้มาจากการประกอบธุรกิจในประเทศ

ซึ่งทำให้เกิดการไปเบียดบังจากภาคส่วนอื่นๆ อย่างที่บอก…

 

หนังตัวอย่างยังมันส์ขนาดนี้

ท่านไหนที่อยากอ่านฉบับเต็ม

ลองส่องเฟซบุ๊กคุณบรรยงท่านเองเถอะครับ

มันส์พิลึก