มุกดา สุวรรณชาติ : 2 ชะตากรรมพรรคการเมือง ประชาชนจะยุบ…ประชาธิปัตย์ อำนาจรัฐจะยุบ…อนาคตใหม่

มุกดา สุวรรณชาติ

หัวเรื่องนี้ไม่ได้ตั้งเอง แต่ยืมมาจากสำนวนของคนในประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพราะขณะนี้พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคที่กำลังมีปัญหาคือประชาธิปัตย์กับอนาคตใหม่ นี่เป็นการท้าทายคำถามที่ว่า แนวทางการเมืองแบบอนาคตใหม่กับแนวทางแบบอนาคตเก่า ใครจะอยู่รอดได้ในระยะยาว

ทั้งสองพรรคคงไม่ตายง่ายๆ แต่ที่จะตายกันหมดคือประชาชน พวกเขากำลังแสดงความต้องการต่อการบริหารประเทศในภาวะที่มีปัญหามากมายแบบนี้ ต้องการคนที่ฉลาด…ไม่โกง มีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นอนาคตข้างหน้า รู้จักวางระบบบริหาร…ระบบป้องกัน คำนึงถึงประชาชนก่อนอย่างอื่น…เราจึงจะไม่ตายกันหมด

พวกเขากังวลเรื่องการทำมาหากิน เรื่องสิ่งแวดล้อม ล่าสุดเรื่องความปลอดภัย

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกรณีจ่าทหารปล้นอาวุธสงครามจากคลังอาวุธในค่ายทหาร และนำออกมายิงประชาชนตามถนนในเมือง หน้าวัด ในห้างสรรพสินค้า ใช้เวลาตั้งหลายชั่วโมงจึงสามารถปราบลงได้ คำถามจึงมีขึ้นมาต่อระบบบริหารจัดการ ว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน?

การเข้า-ออกค่ายทหารเป็นเรื่องปกติ แต่การบุกเข้าไปถึงคลังอาวุธและนำอาวุธออกมาได้ โดยคนคนเดียวทั้งยิงเจ้าหน้าที่เสียชีวิต และขับรถออกไปอย่างลอยนวล ทำได้ไง? ที่ชาวบ้านบอกว่าลอยนวลเพราะไม่มีใครติดตามไปอย่างกระชั้นชิด

ทำไมคนร้ายจึงมีเวลาเหลือเฟือที่จะแวะยิงคนตามรายทางและไปปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีอาวุธธรรมดาแถววัดอยู่เป็นชั่วโมงโดยที่ไม่มีกำลังหนุนที่เป็นหน่วยพิเศษซึ่งมีอาวุธสงครามทัดเทียมกันมาสกัดและจับกุมให้ได้ในช่วงนั้น

ชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่าที่ไม่มีใครกล้าติดตามเพราะรู้ว่าคนร้ายมีอาวุธหนัก หรือเป็นเพราะว่าเราไม่เคยมีหน่วยพิเศษแบบนี้เพื่อสกัดการก่อการร้าย หรือในระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยเราไม่เคยมีแผนนี้อยู่เลย คนทำงานเยอะแยะจะไม่มีใครเก่งสักเรื่องเลยหรือ นี่คือการบริหารประเทศนะ ไม่ใช่พื้นที่เล็กๆ แบบ อบต.

 

ชะตากรรมของสองพรรค

ประชาธิปัตย์เป็นพรรคแนวทางเก่าแต่อยู่รอดมาถึง 73 ปีแล้ว ในขณะที่อนาคตใหม่เพิ่งจดทะเบียนตั้งพรรคได้ไม่ถึง 2 ปีถ้ารวมระยะเวลาที่ตั้งท้องอยู่ก็ไม่ถึง 3 ปี แต่ต้องยอมรับว่าการเดินแนวทางของพรรคใหม่นี้ เป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่ตรงไปตรงมาจริงๆ แล้วก็มีเสียงตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดและยังมีกองเชียร์สนับสนุนการทำงานหลังเลือกตั้ง ทั้งในเชิงนโยบายและวิธีการทำงานในท่ามกลางการต่อต้านของอำนาจฝ่ายต่างๆ ที่มีแนวอนุรักษนิยม

จนถึงขณะนี้แรงต่อต้านนั้นก็กระชับพื้นที่บีบรัดเพื่อไม่ให้ทำงาน จนมีกระแสข่าวว่าจะต้องถูกยุบพรรค ในอีกไม่นานนี้

แต่แรงกดดันจากอำนาจลึกลับและฝ่ายต่างๆ ไม่เกิดกับพรรคประชาธิปัตย์

ที่เกิดขึ้นคือ…แรงศรัทธาและความนิยมของประชาชน ต่อพรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วงลงไปตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดและมีแนวโน้มที่จะหดหายลงไปอีก

ดูจากการลาออกของแกนนำบางคนและสมาชิกพรรค

จนกระทั่งรองเลขาธิการพรรคเสนอปัญหาออกมา

ตอนนี้ ขนาดคนในพรรคยังถอย กองเชียร์ก็ต้องคิดหนัก

 

การวิจารณ์เรื่องจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ในฐานะรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ทำจดหมายถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้เสนอยุทธศาสตร์การฟื้นฟูพรรคที่มีประสิทธิภาพ

พร้อมตั้งคำถามว่า…สมาชิกที่ลาออกไปล้มเหลวที่จะอยู่ร่วมกับพรรค หรือว่าการบริหารพรรคล้มเหลว สมาชิกไม่เห็นอนาคตจึงลาออกไป…

พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้บริหารประกาศให้สังคมรับทราบถึงปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่เมินเฉยแล้วมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ

นายอันวาร์ยังชี้ถึงปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ที่ควรแก้ไขไว้ 3 ข้อ ดังนี้

1. อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศก่อนการเลือกตั้งว่าจะไม่สนับสนุนหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี มีการกล่าวกันภายในพรรคและบางส่วนของสังคมว่า ที่ประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งอย่างถล่มทลายเพราะการประกาศนี้ ซึ่งตนและสมาชิกร่วมพรรค เห็นว่าพรรคควรจะทำการศึกษาอย่างเป็นวิชาการว่าสิ่งที่กล่าวกันเช่นนั้นเป็นความจริงหรือไม่

หากจริง เพราะเหตุใดพรรคที่ต่อต้านเผด็จการทหารจึงชนะการเลือกตั้งเข้ามาอย่างถล่มทลาย เช่น พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง

ทีมวิเคราะห์ขอย้อนรายละเอียดเรื่องนี้… 11 มีนาคม 2562 ก่อนเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. แถลงข่าวถึงจุดยืนทางการเมือง ภายหลังจากที่ได้ประกาศว่า จะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า จุดยืนนี้ไม่ใช่ความคิดเห็นส่วนตัว แต่เป็นการพูดในฐานะหัวหน้าพรรคและเป็นอุดมการณ์พรรคที่ยึดมั่นมา 70 ปีแล้ว เพราะเรื่องนี้ในที่สุดต้องมีมติพรรค

แต่ตามข้อบังคับของพรรค มตินี้จะเกิดไม่ได้ถ้ายังไม่มีการเลือกตั้ง เป็นการย้ำอุดมการณ์ของพรรค เพราะพรรคต้องการทำงานการเมืองแบบตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้เลือกตั้งมีสิทธิ์ได้รับทราบจุดยืนของแต่ละพรรคอย่างชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง

ประชาชนจะได้มีทางเลือกซึ่งมีจุดยืนและแนวคิดที่ต่างกันอย่างชัดเจน

ปชป.ยืนยันว่าจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล และต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานอุดมการณ์ของพรรค (เพราะตอนนั้นคิดว่าจะได้ ส.ส.เป็นที่ 2 รองจากเพื่อไทย) ทีมวิเคราะห์มองว่าอดีตหัวหน้าพรรคไม่ตระบัดสัตย์ เขาทำถูกแล้ว เพราะถ้าอยากเป็นนายกฯ ต้องประกาศอย่างนั้น แต่ตัวพรรคเองกลับลงมติตระบัดสัตย์ที่ให้ไว้กับประชาชน เพราะอยากร่วมรัฐบาล

ส่วนข้อ 2 เงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลก็ตั้งไปตามรูปแบบเพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียด เพราะการประกันสินค้าเกษตรต้องมีอยู่แล้ว

เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ทุกพรรคคงแสดงละครเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งแก้ไม่ได้อยู่แล้ว ถ้า ส.ว.ไม่ยอมแก้

ส่วนเรื่องทุจริตและการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลจะเกิดขึ้นตามจังหวะการเมืองที่ ปชป.จะช่วงชิงโดดลงจากเรือแป๊ะ ก่อนเรือล่ม

ส่วนข้อ 3 หมายถึงการทำตามมติของวิปรัฐบาลจะต้องเป็นเรื่องที่มีเหตุผลถูกต้องและเกิดประโยชน์กับประชาชน ไม่ใช่ว่าต้องลงมติตามนั้นเพราะรัฐบาลอยากให้ทำเมื่อเป็นพรรคร่วมก็ต้องทำตามทุกเรื่องไป

ข้อนี้จะเห็นว่า ปชป.จะมี ส.ส.บางคนทั้งอภิปรายสวนและลงมติสวนกับรัฐบาลเป็นช่วงๆ เป็นเรื่องๆ อยู่แล้ว นี่คือวิธียืนบนเรือแป๊ะของ ปชป.ที่พร้อมจะถีบเรือและโดดขึ้นฝั่งทันทีที่เห็นว่าไปไม่รอด

 

ประชาชนจะยุบพรรค
เพราะคะแนนหายไป
มากกว่า 7.5 ล้าน ส.ส. หายไป 2 ใน 3

นายอันวาร์ยังเปรียบเทียบพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคไทยรักไทยด้วยว่า ที่ผ่านมาพรรคไทยรักไทยถูกยุบด้วยผลของกฎหมาย แต่ประชาชนเลือกกลับมาในนามพลังประชาชน ก่อนจะถูกยุบอีกครั้งและกลับมาในนามพรรคเพื่อไทย

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยถูกยุบด้วยกฎหมาย แต่กำลังถูกยุบโดยประชาชน หากพวกเราไม่กล้าหาญพอที่จะยอมรับความเป็นจริง และปรับท่าทีของพรรคให้สังคมเชื่อมั่น ศรัทธา

วิเคราะห์จากคะแนนของประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งได้ถึง 11.4 ล้านคะแนน มาถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีนาคม 2562 เหลือคะแนนนิยมทั้งประเทศ 3.9 ล้านคะแนน (รวมที่ควรจะได้เพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใหม่ที่เพิ่งมาลงคะแนนประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งถ้าดูจากผลสำรวจก็จะพบว่า ปชป.ได้ไป 3% เท่านั้นประมาณ 1.5 แสน)

แสดงว่าคะแนนที่หายไปมากกว่า 11.4 -3.9 ล้าน = มากกว่า 7.5 ล้านคะแนน…ทำไมมากขนาดนี้ มากเสียจนสมาชิกคิดว่า ไปไม่ไหวแล้ว ต้องมาวิเคราะห์กันต่อ ว่าจะไปต่อได้หรือไม่ ไปกันแบบไหน…อย่าลืมว่า ปชป.คือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ได้ทุกสถานการณ์…

 

อนาคตใหม่ทำไมจะถูกยุบตั้งแต่เริ่มลงสนาม

คงเป็นเพราะแนวทางและนโยบายของพรรคที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศไว้ว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อเข้าเลือกตั้ง เพื่อส่งใครไปเป็นสมาชิกสภา หรือส่งใครเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พวกเราตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย

นั่นคือความฝัน การเลือกตั้งจึงเป็นทางผ่าน ไม่ใช่เป้าหมายที่ตั้งไว้

ปัญหาของประเทศต้องแก้ที่โครงสร้าง ไม่ใช่นโยบายใดนโยบายหนึ่ง แต่คนไม่กล้าพูด มันอยู่ในโครงสร้างอุปถัมภ์เกือบทั้งสิ้น (ถ้าแก้โครงสร้างกระทบใคร จำนวนมากแค่ไหน คนเหล่านั้นจะยอมหรือ?)

พรรคอนาคตใหม่ให้ความสำคัญกับคนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก นี่คือวิสัยทัศน์ของพรรคอนาคตใหม่

เวลาพูดถึงความเท่าเทียมกัน อนาคตใหม่หมายถึงความเท่าเทียมกันใน 3 มิติ เศรษฐกิจ สังคม กาารเมือง

สิ่งที่อนาคตใหม่ประกาศ มีทั้งอุดมการณ์ แนวทางการเมือง นโยบาย นี่จะเป็นการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ โดยผ่านระบบรัฐสภา แต่พวกเขายังรู้จักนายทุน ขุนศึก ศักดินา น้อยไป

ถ้าอนาคตใหม่ได้ ส.ส.มา 5-10 คนคงไม่มีใครหมายหัวไว้

วันนี้พวกเขากลัวยิ่งกว่าพรรคทักษิณ ยิ่งเห็นคนหนุ่มคนสาว อายุ 18-38 แห่ไปเลือกหลายล้านคน ก็ยิ่งตกใจ

การกำจัดอนาคตใหม่จึงต้องเกิดขึ้น และยิ่งเร่งเร็วขึ้น เมื่อเห็นว่าบทบาทของอนาคตใหม่เป็นอันตรายต่อกลุ่มอำนาจเก่าทุกกลุ่ม

แม้ธนาธรหัวหน้าพรรคถูกปลดจาก ส.ส. แต่อนาคตใหม่กลัวซะที่ไหน พวกเขากล้าโหวตค้านทุกเรื่องที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง…งานต่างๆ จากวันแรกถึงนี้ เข้ม แรง ขนาดพวกคนเสื้อแดงยังต้องบอกว่า…เอ็งแน่มาก นำหน้าไปเลย…

วันนี้พวกเขาทำอะไรไปบ้าง…เขาทุบกล่องดวงใจและหม้อข้าว

พวกเขาจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป้าหมายคือ ส.ว.แต่งตั้งต้องไม่มี

เลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นสมัครใจ ให้ค่าตอบแทนเหมาะสม

ขอตรวจสอบเงินนอกงบประมาณของทหารเกือบ 20,000 ล้าน

เสนอให้หาแนวทางทำกฎหมายต้านรัฐประหารและลงโทษผู้กระทำผิดให้ถึงที่สุด ออกกฎหมายไม่ให้ตุลาการยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร

 

บทบาทของอนาคตใหม่
คืออันตรายของกลุ่มอำนาจเก่าทุกกลุ่ม

วันนี้กลุ่มอำนาจเก่ากลัวยิ่งกว่าพรรคทักษิณ ยิ่งเห็นคนหนุ่มคนสาวอายุ 18-38 แห่ไปเลือกหลายล้านคน ก็ยิ่งตกใจ การกำจัดอนาคตใหม่จึงต้องเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ง่าย เพราะไม่ว่าจะยกเรื่องใดที่ทำผิดกฎหมายก็มักจะมีเรื่องแบบเดียวกันเกิดขึ้นในพรรคฝ่ายรัฐบาลทุกเรื่อง

แต่ความจำเป็นทางการเมืองก็เกิดขึ้น เพราะความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาลนี้เป็นเส้นบางมาก…เกินครึ่งสภาผู้แทนฯ เพียง 2-3 เสียง

ที่สำคัญ ประธานสภาไม่ใช่คนของ พปชร. แต่คือ ชวน หลีกภัย จาก ปชป. ซึ่งมีอำนาจชี้เป็นชี้ตาย

หาก พปชร.ไม่เสริมความมั่นคงทางการเมืองโดยพลัน อาจถึงล้มรัฐบาลได้

ต้องใช้แผนเก่า หางูเห่าและลิงมาเสริมกำลังรัฐบาลให้ได้ 270 ต่อ 230 เสียง

พรรคเศรษฐกิจใหม่และอนาคตใหม่ คือเป้าหมาย

ตอนนี้คงได้พรรคเศรษฐกิจใหม่มา 5 เสียง ยกเว้นหัวหน้าพรรคที่ยังขอเป็นคนอยู่

ที่เหลือจะเอาจากไหน?…มีอยู่ที่เดียว พรรคอนาคตใหม่ ที่กำลังมีปัญหาคดีเงินกู้

จะได้ ส.ส.เยอะต้องยุบพรรค เคยยุบพลังประชาชนมาแล้ว จนตั้งรัฐบาลใหม่ได้

งานนี้ถ้าทำ จะได้สามต่อ คือทั้งทำลายฐานศัตรูทางการเมือง และได้เสียง ส.ส.ที่ยอมขายตัวมาเพิ่มให้ฝ่ายรัฐบาล ต่อที่สามคือ ส.ส.ฝีปากดีของอนาคตใหม่จะถูกตัดสิทธิ์ หมดโอกาสอภิปรายในสภาอีกต่อไป

ทีมวิเคราะห์ใช้คำว่า จะยุบ ไม่ใช้คำว่ายุบ

การยุบพรรคที่ผ่านมา ฝ่ายที่เป็นรัฐบาลชนะเลือกตั้ง แต่มีอำนาจรัฐแค่บางส่วน จึงถูกยุบโดยอำนาจนอกระบบ

แต่ครั้งนี้ อนาคตใหม่ได้รับแรงกดดันจากอำนาจรัฐโดยตรง โดยปฏิบัติการผ่านองค์กรอื่นๆ ไม่มีอำนาจใดมาต่อรอง นอกจากกองเชียร์ประชาชน แต่ถ้าเทียบคะแนนแล้ว ยังน้อยกว่าพรรคยิ่งลักษณ์ หรือทักษิณ เยอะ

แต่คะแนนหนุนของประชาชนไม่ใช่ปัจจัยตัดสิน เมื่อกฎหมายเขียนเปิดช่องไว้ กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ก็ทำหน้าที่ได้ตามเป้าหมาย แม้จะสุกเอาเผากิน ก็แล้วแต่ความจำเป็นของสถานการณ์…

ใครจะวิเคราะห์อย่างไร แต่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ยืนยันว่า

เรามั่นใจว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่ถูกยุบ การให้กรรมการบริหารลาออกจาก ส.ส.เพื่อดัน ส.ส.อื่นให้ขึ้นมาแทน แสดงให้เห็นถึงการยอมจำนนต่อความอยุติธรรม เราจะไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม เราจะต่อสู้จนถึงที่สุด

ครั้งนี้มีอะไรที่ต่างออกไป? (ต่อฉบับหน้า)