‘ภูมิทัศน์ชั้นบรรยากาศ’ จำลองรอยต่อระหว่างท้องฟ้าและอวกาศด้วยการเล่นแร่แปรธาตุเชิงกวี

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
The deep sleep withing the vacuum space

ตอนที่แล้วเขียนถึงนิทรรศการศิลปะอันน่าตื่นตาตื่นใจของไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ไปแล้ว

ในตอนนี้เราขอต่อเนื่องด้วยนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจอีกนิทรรศการ ที่เรามีโอกาสได้ไปดูมาในเวลาและสถานที่ไม่ห่างไกลกันนัก

นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า

Atmospherescape ภูมิทัศน์ชั้นบรรยากาศ

โดย อุเทน มหามิตร ศิลปินหนุ่มผู้นอกจากจะทำงานเป็นจิตรกรวาดภาพแล้ว ยังเป็นนักเขียนที่คร่ำหวอดในแวดวงวรรณกรรม

เขาเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านด้วยสำนวนภาษาอันแปลก แหวกขนบ และการทำงานเขียนของเขาก็ซึมซับ ส่งผ่าน และไหลเวียนอยู่ในกระบวนการทำงานจิตรกรรมของเขาอย่างแยกไม่ออก

ผลงานของเขาได้รับอิทธิพลจากความหลงใหลในสารคดีวิทยาศาสตร์, ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งในยุคดึกดำบรรพ์และปัจจุบัน

Atmospheric mirage

ปรากฏการณ์ทั้งในและนอกโลกมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ปรากฏทั้งในงานเขียน อย่างรวมเล่มบทกวี “กอปร” ที่อธิบายปรากฏการณ์ในห้วงอวกาศที่เขาศึกษาจากหนังสือวิทยาศาสตร์และภาพเคลื่อนไหวในสารคดี โดยใช้คำเปรียบเปรยเทียบกับพฤติกรรมของคน สัตว์ สิ่งของ และปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์

และผลงานจิตรกรรมของเขา ดังเช่นที่ปรากฏในนิทรรศการภูมิทัศน์ชั้นบรรยากาศ ครั้งนี้ กับชุดภาพวาดสีอะครีลิกผสมหมึกจีนบนผืนผ้าใบที่แสดงการผสมผสานกันระหว่างภาษาศิลปะในเชิงกวีกับเรื่องราวเชิงวิทยาศาสตร์

อุเทนพยายามอธิบายสภาวะที่ภาษาและการเล่าเรื่องอย่างเน้นความสมจริงไม่สามารถแสดงออกมาได้ทั้งหมด

เขาเล่าถึงภูมิทัศน์บริเวณชั้นบรรยากาศที่เป็นรอยต่อระหว่างท้องฟ้าและอวกาศ สถานที่ซึ่งในอดีตก่อนการมาถึงของวิทยาศาสตร์สากล มนุษย์เราต่างถกเถียงถึงอาณาเขตที่อยู่เหนือขึ้นไปบนฟากฟ้าที่ตามองเห็น และจินตนาการว่าเป็นสถานที่ที่เรียกกันว่า “สวรรค์” ซึ่งผู้มีชีวิตไม่สามารถเดินทางไปถึง มีเพียงผู้ที่ลาจากการมีชีวิตที่ได้รับคัดเลือกแล้ว จึงจะได้สิทธิ์ขึ้นไปอยู่บนนั้นได้

และบนนั้นก็ยังมีการแบ่งชนชั้นความสูงขึ้นไปหลายระดับ ตามความดีที่ผู้อยู่อาศัยได้ทำในขณะที่ยังมีชีวิต ยิ่งสูงขึ้นเท่าไหร่ สวรรค์ก็ยิ่งงดงามและประดับประดาหรูหราขึ้นเรื่อยๆ

At the destination where atmospeheres seperate

จิตรกรผู้สร้างสรรค์ศิลปะในอดีตก็เป็นเหมือนผู้ทำหน้าที่เหาะเหินไปเหนือฟากฟ้าเพื่อเก็บบันทึกรูปลงมาให้คนเดินดินได้ชม

ถึงแม้ในปัจจุบันเราจะเข้าสู่ยุคของวิทยาศาสตร์มาเนิ่นนานแล้ว แต่ก็น่าประหลาดใจไม่น้อยที่ทุกวันนี้การศึกษาทั้งในและนอกหลักสูตรของรัฐก็ยังคงสร้างภาพของชั้นบรรยากาศและสวรรค์ให้ทับซ้อนกันจนแยกออกจากกันลำบาก

The beginning of atmospheric impact

แต่ในทางกลับกัน อุเทนกลับเลือกที่จะบรรยายภาพภูมิทัศน์ชั้นบรรยากาศของเขา ด้วยการผสมผสานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้ากับการจินตนาการถึงสิ่งที่มองไม่เห็น ผ่านผลงานจิตรกรรมกึ่งนามธรรมที่ใช้สีสันแต่น้อย แต่ใช้ร่องรอยและคราบไคลเคมีของสีที่ทำปฏิกิริยาจนแบ่งแยกออกจากกันเป็นชั้นๆ แสดงออกถึงสภาพภูมิทัศน์ชั้นบรรยากาศที่ผสมผสานข้อเท็จจริงและจินตนาการ สื่อถึงสภาวะกึ่งตื่นกึ่งฝัน และช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อระหว่างกลางวันและกลางคืนออกมา

“ในความเป็นจริงแล้ว ภูมิทัศน์ของชั้นบรรยากาศเหนือท้องฟ้าขึ้นไปนั้น ในทางวิทยาศาสตร์มันจะมืดจนตาเรามองไม่เห็น ซึ่งศิลปะแบบประเพณีในบ้านเราอาจจะตีความออกมาเป็นเรื่องของชนชั้นบนสรวงสวรรค์ แต่ในผลงานชุดนี้ อุเทนตีความออกมาเป็นความหนาแน่นของอากาศและก๊าซต่างๆ ในชั้นบรรยากาศด้วยสีสันและพื้นผิวที่สร้างจากเทคนิคและส่วนประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน ซึ่งผมมองว่ามีศิลปินไทยเพียงไม่กี่คนที่ตีความเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ออกมาเป็นงานศิลปะแบบเขา”

Beyond clouds

วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ ภัณฑารักษ์และผู้ก่อตั้ง VS Gallery พื้นที่แสดงนิทรรศการครั้งนี้กล่าว

ส่วนศิลปินเจ้าของผลงานอย่างอุเทนกล่าวถึงที่มาที่ไปของผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเขาว่า

“งานชุดนี้เริ่มมาจากผลงานในชุดก่อนหน้าของผมคือ “Dreamscape” ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิทัศน์ภายในจิตใจ และผลงานอีกชุดในปีต่อมาคือ “ธรณีแปรสัณฐาน” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิทัศน์ภายนอก อย่างการผุพังของการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก แผ่นเปลือกโลกแยกออกจากกัน ชนกัน เกิดภูเขา หรือภูเขาไฟ ฯลฯ ซึ่งยังอยู่ในส่วนของภาคพื้นทวีปอยู่ แต่งานในชุดล่าสุดนี้ขยับออกไปจากภาคพื้นทวีปไปเป็นชั้นบรรยากาศบนท้องฟ้า

ผมนึกย้อนไปถึงตอนที่เราเคยเขียนภาพภูมิทัศน์ ภาพทิวทัศน์ท้องทะเล สมัยเรียนศิลปะ เราก็ดูสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแล้วก็เขียนออกมา สำหรับผม งานชุดนี้ก็ไม่ต่างกัน คือผมก็ดูภูมิทัศน์ชั้นบรรยากาศจากสารคดีเกี่ยวกับการศึกษาชั้นบรรยากาศ และจำลองออกมาเป็นภาพวาดแถบๆ ชั้นๆ ส่วนอนุภาคต่างๆ อย่างสนามแม่เหล็ก ขั้วอนุภาคประจุบวก ประจุลบ ไอน้ำที่แทรกอยู่ในชั้นบรรยากาศ หรือชั้นสุญญากาศที่อยู่เหนือขึ้นไป ก็จะถูกแสดงออกมาเป็นรายละเอียดของพื้นผิว ซึ่งแน่นอนว่ารายละเอียดเหล่านี้ก็มีภูมิทัศน์ภายในของผมผสมอยู่ด้วย”

The hidden relative humidity

ถึงแม้ผลงานชุดนี้จะอ้างอิงจากความเป็นจริง แต่ก็มีการเล่นแร่แปรธาตุนิดหน่อย อย่างเช่นตรงส่วนที่เป็นก๊าซเฉื่อย ผมก็แทนค่าด้วยลูกเล่นทางภาษาง่ายๆ ด้วยการใช้น้ำเชื่อมมาผสมเวลาวาดเพื่อให้มีความรู้สึกหนืดๆ เฉื่อยๆ หรือส่วนผสมอย่างแอลกอฮอล์ที่ใช้วาด ก็ได้แรงบันดาลใจจากตอนที่ผมประสบอุบัติเหตุนิดหน่อย แล้วตอนใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล ผมจะรู้สึกวาบๆ ก็เลยเอามาใส่ในงาน องค์ประกอบทางเคมีต่างๆ ในการวาดภาพเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันในเชิงแนวคิดของผมเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศที่ผุผัง ถูกทำลายตลอดมา โดยเฉพาะชั้นโอโซน”

“สำหรับผม การทำงานศิลปะและงานเขียนมีความเกี่ยวข้องกันเสมอ โดยเฉพาะการหาข้อมูล ไม่เชิงว่าบ้าข้อมูลนะ แต่มันทำให้งานของเรามีความหนักแน่นขึ้น ไม่ว่าเราจะทำเรื่องไหน อย่างเวลาจะเขียนผีเสื้อสักตัว ผมก็จะไปหาหนังสือมาอ่าน ดูกายวิภาค ดูปีก ดูลิ้นของผีเสื้อ ไม่รู้สินะ มันอาจจะเป็นบุคลิกของเราก็ได้”

อุเทนกล่าวทิ้งท้าย

The beginning of atmospheric impact

นอกจากจะทำให้เราดื่มด่ำไปกับภาพวาดภูมิทัศน์ชั้นบรรยากาศที่ผสานความเป็นจริงและจินตนาการได้อย่างงดงามน่าพิศวงแล้ว

ผลงานชุดนี้ของอุเทนยังอาจกระตุ้นให้ผู้ชมอย่างเราๆ ตระหนักและฉุกคิดถึงความสำคัญของสิ่งที่เราอาจจะมองไม่เห็นและไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ของมันอย่างชั้นบรรยากาศ ที่คอยปกป้องเราจากภยันตรายภายนอกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันขึ้นบ้างสักนิดก็เป็นได้

นิทรรศการ Atmospherescape ภูมิทัศน์ชั้นบรรยากาศ โดยอุเทน มหามิตร จัดแสดงที่ VS Gallery โครงการ N22 ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม – 21 มีนาคม 2020

สอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-9013-9966 หรือเพจเฟซบุ๊ก @VSGalleryBangkok

ขอบคุณภาพจาก VS Gallery ข้อมูลจากบทความประกอบนิทรรศการโดยวรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ