รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ/ฤกษ์ยาม เทคโนโลยี ‘5 ค่าย’ เข้าประมูลคลื่น 5 G รัฐโกย 70,000 ลบ. กว่า 30 ไลเซนส์

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

ฤกษ์ยาม เทคโนโลยี

‘5 ค่าย’ เข้าประมูลคลื่น 5 G

รัฐโกย 70,000 ลบ. กว่า 30 ไลเซนส์

 

สมัยอดีตกาล ในสมัยก่อนไม่ว่าจะประกอบกิจการอะไร หรือลงมือจะทำการสิ่งใดๆ ก็ต้องดูฤกษ์ดูยาม เพื่อให้กิจการต่างๆ นั้นประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ราบรื่น และเจริญก้าวหน้า หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ การสร้างขวัญกำลังใจและเสริมสิริมงคลในการดำเนินกิจการ ความเชื่อเพื่อความเจริญรุ่งเรือง การกำหนดฤกษ์ยามวันเวลาในการทำกิจกรรม การเริ่มต้นที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดให้มีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563

โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ที่เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาต ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถัดมา บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส

จากนั้นจะตรวจสอบเอกสารพร้อมนำรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติการประมูลเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อลงมติและจะประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติในวันดังกล่าว

 

“สําหรับคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ คาดว่าจะประมูลได้หมดทั้ง 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิร์ตซ์ ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท ขั้นราคาละ 440 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ คาดว่าจะมีการแข่งขันดุเดือด เนื่องจากโอเปอเรเตอร์ทุกรายให้ความสนใจ แต่จะมีเพียง 2 หรือ 3 ราย ที่จะได้ใบอนุญาต เพราะประสิทธิภาพในการทำ 5 G ได้ทันทีต้องมีปริมาณคลื่นความถี่ย่านดังกล่าว จำนวน 60 เมกะเฮิร์ตซ์ขึ้นไป ดังนั้น อาจจะมีผู้ที่ได้รับใบอนุญาต 2 แบบ ได้แก่ มีผู้ชนะ 2 ราย คือประมูลได้ 10 ใบอนุญาต กับ 9 ใบอนุญาต หรือมีผู้ชนะ 3 ราย คือ ได้ใบอนุญาต 6, 6 และ 7 ใบอนุญาต”

โดยคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิร์ตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 7 งวด งวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) งวดละ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 1,862 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 280 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรในเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ตซิตี้) ภายใน 4 ปี

ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิร์ตซ์ คาดว่าจะประมูลได้มากกว่า 4-5 ใบอนุญาต เนื่องจากประเมินว่าโอเปอเรเตอร์ทุกรายให้ความสนใจจากที่เปิดประมูล จำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 เมกะเฮิร์ตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท ขั้นราคาละ 22 ล้านบาท การชำระเงินงวดเดียวภายใน 1 ปีหลังจากการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 64 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

 

“แม้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวน 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิร์ตซ์ ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท จะมีราคาสูงเกินไป กสทช.จะนำกลับไปพิจารณาอีกครั้งในการประมูลครั้งต่อไป โดยคลื่นความถี่นี้ขั้นราคาละ 25 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 จำนวน 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 และ 3 จำนวนงวดละ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 4,994.4 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,873 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของประชากรภายใน 4 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรภายใน 8 ปี”

 

คาดว่าจะมีรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เข้ารัฐจำนวน 70,000 ล้านบาท จากการประมูลไม่ต่ำกว่า 30 ใบอนุญาต ทั้งนี้ การที่ต้องเปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5 G ให้เร็วที่สุด แม้เงื่อนไขจะระบุให้เข้ารับใบอนุญาตภายใน 90 วันก็ตาม แต่โอเปอเรเตอร์ก็ต้องการได้ใบอนุญาตทันที โดย กสทช.น่าจะเปิดให้บริการ 5 G เชิงพาณิชย์ได้ก่อนเดือนกรกฎาคม 2563 หรือก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

โดยคาดว่าในปีนี้จะมีการลงทุนโครงข่ายทั้งระบบอยู่ที่ 133,000 ล้านบาท ปี 2564 จะมีการลงทุน 200,000 ล้านบาท กสทช.จะเร่งให้เอกชนสามารถติดตั้ง 5 G บนเสาเดิมที่มีอยู่ทั้งระบบ 130,000 สถานีฐานได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านเวทีประชาพิจารณ์

ทางด้านกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) มีมติอนุมัติให้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5 G โดยบริษัทได้วิเคราะห์และประเมินอย่างละเอียด รวมทั้งว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอกทำการศึกษาความเหมาะสม และความคุ้มค่าในการลงทุนในแต่ละย่านคลื่นความถี่ ซึ่งคำนึงถึงความต้องการใช้งานของลูกค้า การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน และการสร้างมูลค่าแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม

ในส่วนของคณะกรรมการบริหารของดีแทคอนุมัติให้ดีทีเอ็นเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5 G โดยการประมูลครั้งนี้เป็นโอกาสให้ดีแทคได้เพิ่มชุดคลื่นความถี่ที่ให้บริการ จากปัจจุบันที่เปิดให้บริการบนคลื่นความถี่รวม 110 เมกะเฮิร์ตซ์

 

สําหรับฤกษ์ยามในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์

เวลา 11.00 น. บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำโดยนางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน และนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นรายแรก

เวลา 11.09 น. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำโดยนายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการบริษัท และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นรายที่ 2

เวลา 12.59 น. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค นำโดยนายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ และนายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นรายที่ 3

เวลา 15.15 น. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท นำโดย พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ นายวิโรจน์ โตเจริญวาณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย และนายณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นรายที่ 4

เวลา 15.35 น. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส

นำโดยนายสุเทพ เตมานุวัตร์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นรายที่ 5