ตำนานพลิ้ว 2020 “มิ่งขวัญ”รุ่นพี่ลุงตู่ อดีต “ทีมสมคิด – ขั้วทักษิณ” “เศรษฐกิจใหม่” บนทางสามแพร่ง

กลายเป็นคนดังข้ามคืนแบบหยุดไม่อยู่ ช่วงก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 สำหรับ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” ที่อยู่บนถนนการเมืองมายาวนาน ผ่านมรสุมทางการเมืองมาหลากหลาย และมีสายสัมพันธ์กับทุกฝั่งการเมือง การกลับมาครั้งนี้ของ “มิ่งขวัญ” ทำให้ “พรรคเศรษฐกิจใหม่” กวาดคะแนนเสียงไปเกือบครึ่งล้านได้ ส.ส. 6 คน

ย้อนอดีต “ลุงมิ่ง” เป็นรุ่นพี่ “ลุงตู่” เพราะเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัดนวลนรดิศด้วยกัน จากนั้น “มิ่งขวัญ” จบปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และประกาศนียบัตรหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

เริ่มชีวิตการทำงานเป็นพนักงานฝ่ายขายบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จนได้ขึ้นเป็น ผอ.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่

จากนั้นเริ่มเข้าสู่สนามการเมืองช่วง “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 1” โดย “มิ่งขวัญ” ทำงานอยู่ในทีมเศรษฐกิจของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ และ รมว.คลังในขณะนั้น โดย “มิ่งขวัญ” มีตำแหน่งเป็น “ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยว” มีผลงานการันตีฝีมือผ่านงานอีเวนต์ของรัฐบาล เช่น เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ เทศกาลดนตรีพัทยา เทศกาลตรุษจีนไชน่าทาวน์ เยาวราช

แต่ชื่อ “มิ่งขวัญ” มาเป็นที่รู้จักผ่านหน้าสื่อ คือการดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) และเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยมีผลงานสำคัญคือการทำให้ช่อง 9 อสมท เป็น “โมเดิร์นไนน์ทีวี” และนำมาสู่การแปรรูป อสมท จากองค์การภาครัฐ เป็นบริษัทของรัฐชื่อ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

อีกทั้งเคยปรับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ออกจากผังรายการของช่อง 9 ด้วย

ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 “มิ่งขวัญ” ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะกรรมการทั้งชุด เมื่อ 27 กันยายน 2549 เป็นจุดที่ทำให้ “มิ่งขวัญ” ต้องพ้นจากเส้นทางทางการเมืองไทย ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในปี 2550 หลัง “พรรคพลังประชาชน” ทาบทามให้มาเป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ

จากนั้น “มิ่งขวัญ” ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ระบบสัดส่วน เขต 6 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ทำให้ “มิ่งขวัญ” ได้เข้าร่วมรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ได้แก่ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ รมว.พาณิชย์ รมว.อุตสาหกรรม โดยครั้งหนึ่ง “มิ่งขวัญ” เคยเป็นลมหมดสติขณะขึ้นพูดบนโพเดี้ยมกล่าวปาฐกถาเรื่อง “การตลาดประเทศไทย” จนต้องนำส่งโรงพยาบาล

แต่สุดท้ายต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี กันยายน 2551 หลังศาลรัฐธรรมนูญให้ “สมัคร สุนทรเวช” พ้นจากตำแหน่งนายกฯ กรณีจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” ส่งผลให้ ครม.ต้องสิ้นสุดทั้งคณะไปด้วย จากนั้นธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน

ต่อมา “มิ่งขวัญ” ได้ย้ายเข้า “พรรคเพื่อไทย” กลับสู่สนามการเมืองอีกครั้ง โดยช่วงปี 2554 “มิ่งขวัญ” ได้รับมอบให้เป็นผู้นำอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้ “มิ่งขวัญ” ถูกจับตาจะเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ตีคู่กับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

แต่สุดท้ายกลายเป็น “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ แทน

แม้การเลือกตั้งปี 2554 “มิ่งขวัญ” จะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 6 ของพรรคเพื่อไทย แต่กลับไม่ได้เป็น “รัฐมนตรี” และถูกลดบทบาทลง

สุดท้ายได้ประกาศ “ลาออก” จากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ธันวาคม 2556

หายไปจากถนนการเมืองนานหลายปี แล้วกลับมาอีกครั้งในฐานะหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ นั่นเองที่สามารถสร้างกระแสผ่านโลกโซเชียล และแสดงจุดยืนอยู่ตรงข้าม คสช. ทำให้ “มิ่งขวัญ” กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง ได้ ส.ส.มาถึง 6 ที่นั่ง

ทั้งนี้ “มิ่งขวัญ” ต้องออกมาประกาศชัดหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ในข้อกังขาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดว่า พรรคเศรษฐกิจใหม่จะไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ จนทำให้ “มิ่งขวัญ” ต้องนำลูกพรรคมาแถลงจุดยืน ไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ และไม่โหวตชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และจะร่วมงานกับ “พรรคเพื่อไทย” ตามจุดยืนเดิมของพรรคตั้งแต่ที่หาเสียง

ท่ามกลาง “ข้อพิรุธ” ต่างๆ ที่ไม่จบไม่สิ้น

ต่อมา 22 พฤษภาคม 2562 “มิ่งขวัญ” ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ แต่ยังคงเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อและสมาชิกพรรค โดย “สุภดิช อากาศฤกษ์” รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคแทน โดย “มิ่งขวัญ” ยืนยัน 6 ส.ส.จะรักษาคำพูด คำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน จะปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ อย่างเต็มความสามารถเพื่อชาติ ศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

ยังไม่จบแค่นี้ กระแสข่าวพรรคเศรษฐกิจใหม่จะไปร่วมกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งหนักขึ้น ช่วงที่เกิด “งูเห่าหลากสี” หลังฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่ง คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ที่ทำให้สภาล่มไปถึง 2 ครั้ง หลัง ส.ส.ฝ่ายค้านใช้สิทธิ์วอล์กเอาต์ไม่ขอร่วมประชุม

โดยพบว่ามี ส.ส.ฝ่ายค้านได้แสดงตนเพื่อนับเป็นองค์ประชุม 10 คน โดยมาจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คน ได้แก่ นายภาสกร เงินเจริญ, นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์, นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์, นายสุภดิช อากาศฤกษ์ ทั้งหมดเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

โดยมี 3 เสียงที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว

ล่าสุดพรรคเศรษฐกิจใหม่ นายสุภดิช อากาศฤกษ์ รักษาการหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้ทำหนังสือถึงผู้นำฝ่ายค้าน สภาผู้แทนราษฎร แจ้งผลมติการประชุมกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจใหม่ ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 มีมติให้พรรคเศรษฐกิจใหม่ดำเนินกิจกรรมการเมือง โดย “ถอนตัวจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน” เพื่อทำงานตามอิสระ ตามแนวทางของพรรค

ผ่านมา 3 วัน “มิ่งขวัญ” ได้แถลงข่าวที่รัฐสภา ประกาศแยกทางจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ โดยอ้างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ส.ส.ไม่จำเป็นต้องทำตามมติพรรค ดังนั้น ตนขอยึดคำพูดและจุดยืนเดิมไม่เคยเปลี่ยน โดยจะอยู่พรรคร่วมฝ่ายค้าน แม้จะเป็นคนเดียวก็จะอยู่ ส่วนที่ตนไม่ประกาศลาออก ไม่เช่นนั้นจะต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.ไปด้วย โดยได้แง้มช่องให้พรรคมีมติขับออกแทน

โดย “มิ่งขวัญ” ระบุว่า หากพรรคมีมติขับออกจากพรรค ยังเร็วไปที่จะตอบว่าจะไปอยู่พรรคใด ก็คงเลือกพรรคที่อุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน และยืนยันว่าจะทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลต่อไป

วันรุ่งขึ้น “สุภดิช” ได้นำลูกพรรคมาแถลงข่าวถึงจุดยืนพรรคเศรษฐกิจใหม่ โดยยืนยันว่าไม่มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลมาทาบทามให้ไปสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล และไม่ขับ “มิ่งขวัญ” พ้นพรรค เพราะสมาชิกพรรคยอมรับความเห็นต่าง พร้อมย้ำถึงการถอนตัวออกจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อให้การทำงานจากนี้ไปมีความอิสระ

ส่วนการโหวตต่างๆ ในสภาต่อจากนี้ จะต้องดูว่าการอภิปรายแต่ละครั้งข้อมูลเป็นอย่างไร

และทั้งหมดต้องผ่านที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ไม่ใช่มติหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว

Thai Prime Minister Thaksin Shinawatra (R) talks with Finance Minister Somkid Jatusripitak during the presentation to parliament of the country’s 2002 budget 27 June 2001. Thaksin presented his first budget to parliament with a 200 billion baht (4.4 billion USD) deficit designed to stimulate the economy. Worth a total 1.02 trillion baht (22.7 billion dollars) , the budget for the year to September 2002 is the biggest in Thailand’s history and represents 18.2 percent of Gross Domestic Product (GDP). AFP PHOTO/Pornchai KITTIWONGSAKUL / AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL