ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ / จารึกทวารวดีวิภูติ : หรือว่าทวารวดีจะไม่ได้อยู่ที่นครปฐม?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ กรมศิลปากรได้เผยแพร่คำอ่านของจารึกค้นพบใหม่ จากวัดพระงาม จ.นครปฐม ซึ่งพบเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2562

และเรียกกันแบบลำลองในหมู่ผู้สนใจโบราณคดีว่า “จารึกทวารวดีวิภูติ” เพราะเมื่อพบจารึกหลักนี้ มีข่าวสารเผยแพร่เพียงแค่ว่ามีคำว่าทวารวดีวิภูติ อยู่ในจารึก

แน่นอนว่า จารึกหลักนี้ควรจะถูกสถาปนาขึ้นในวัฒนธรรมที่นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์เรียกว่า “ทวารวดี” ที่เจริญอยู่ในที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย เมื่อราว พ.ศ.1000-1500 โดยเฉพาะเมื่อจารึกหลักนี้พบที่เมืองนครปฐม อันเป็นเมืองที่มักจะเชื่อกันว่า เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมทวารวดี

แถมหลายท่านก็เชื่อว่า ทวารวดีเป็นชื่อเก่าของเมืองนครปฐมเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้น การพบจารึกที่มีคำว่า “ทวารวดี” อยู่ที่นครปฐมก็น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันชัดๆ กันเสียทีว่า ทวารวดีก็คือนครปฐมนี่แหละ

แต่จากการถอดความโดยคุณก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณของกรมศิลปากร (ซึ่งหมายความด้วยว่า เป็นคำแปลจารึกหลักนี้ฉบับทางการ) นั้นได้ระบุเอาไว้ว่า

“(เมือง?) ทิมิริงคะ เป็นยานของพระลักษมี เป็นเมืองที่ไม่มีเมืองใดเทียบได้ เมืองนั้นก็คือเมืองหัสตินาปุระ และคือเมืองทวารวดีซึ่งยิ่งใหญ่เนื่องจากความเจริญรุ่งเรือง เหมือนกับเมืองของพระวิษณุ”

แปลง่ายๆ ได้ใจความว่า ในจารึกเขาเปรียบเทียบ (เมือง?) ทิมิริงคะ ว่ายิ่งใหญ่รุ่งเรืองเปรียบเทียบได้กับเมืองหัสตินาปุระ และเมืองทวารวดี และถ้านครปฐมคือทวารวดีแล้ว ผู้จารึกเขาจะเอาเมืองทวารวดีมาเป็นความเปรียบทำไมกัน? (และนี่ยังไม่นับว่า เมืองทิมิริงคะที่ว่านี้อยู่ที่ไหน? แล้วทำไมอยู่ๆ จารึกที่นครปฐมถึงต้องพูดถึงเมืองนี้ด้วย?)

 

อันที่จริงแล้ว ชื่อทวารวดีนั้น ยังเป็นแค่ข้อสันนิษฐานว่าจะมีเมือง, อาณาจักร, รัฐ หรืออะไรทำนองนี้อยู่ในภาคกลาง (และเลยเถิดไปถึงภาคอีสาน) ของไทยอยู่นะครับ

โดยคำว่าทวารวดี ถูกกล่าวถึงในโลกวิชาการเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2427 เมื่อซามูเอล บีล (Samuel Beal) ได้ถ่ายถอดบันทึกการเดินทางของพระภิกษุเสวียนจั้ง หรือพระถังซัมจั๋ง จากภาษาจีนโบราณออกเป็นภาษาอังกฤษ

โดยในบันทึกเก่าแก่ฉบับนี้ได้กล่าวถึงคำว่า “To-lo-po-ti” โดยบีลได้ระบุว่า ตรงกับคำว่า “ทวารวดี” ในภาษาสันสกฤต โดยเป็นชื่อของรัฐที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศพม่าและกัมพูชา

และต่อมาก็ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการร่วมสมัยกับท่านอื่นๆ เช่น อีดูอาร์ด ชาวานเนส์ (Edouard Chavannes) ที่ระบุว่า “Tu-ho-po-ti” และ “Tu-ho-lo-po-ti” ในบันทึกของพระภิกษุอี้จิง ก็คือ “ทวารวดี” เช่นกัน

การที่ข้อเสนอของบีลว่า “To-lo-po-ti” ตรงกับ “ทวารวดี” จะเป็นที่ยอมรับไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะ “ทวารวดี” หรือที่หลายครั้งก็เรียกว่า “ทวารกา” นั้น เป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะ อวตารของพระนารายณ์ ตามท้องเรื่องในมหาภารตะ อันเป็นหนึ่งในสองมหากาพย์สำคัญของอินเดีย

ดังนั้น ทวารวดีจึงเป็นชื่อเมืองศักดิ์สิทธิ์ ที่มั่งคั่ง วิจิตรงดงาม และเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเมืองของเทพเจ้าองค์สำคัญ ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้สนใจศึกษาทางด้านนี้

(ควรสังเกตด้วยว่า จารึกทวารวดีวิภูติที่วัดพระงามนั้น กล่าวถึงชื่อเมือง “หัสตินาปุระ” ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของฝ่ายเการพ ที่เป็นผู้ร้ายในมหาภารตะ คู่กันกับเมือง “ทวารวดี” ที่ถือได้ว่าเข้ากับฝ่ายพระเอกคือปาณฑพ เพราะพระกฤษณะยอมมาเป็นสารถีให้อรชุนในการรบที่ทุ่งกุรุเกษตร ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของมหาภารตะในช่วงเวลาดังกล่าวของอุษาคเนย์อย่างชัดเจน)

พูดง่ายๆ ว่า การที่ภูมิภาคซึ่งรับเอาวัฒนธรรมความเชื่อ และศาสนามาจากอินเดียอย่างอุษาคเนย์ จะนำเอาชื่อ “ทวารวดี” มาตั้งเป็นชื่อเมืองหรืออาณาจักรนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการนำเอาชื่อ “อยุธยา” ซึ่งเป็นเมืองของพระรามในมหากาพย์รามายณะมาใช้นั่นแหละครับ

 

แต่แม้กระทั่งในอินเดียเองก็ตาม เมืองทวารวดีนั้นก็มีลักษณะเป็นเมืองในตำนาน ที่ไม่มีใครแน่ใจได้ว่า เคยมีเมืองแห่งนี้อยู่จริงหรือเปล่า?

โดยเชื่อกันว่า เมืองแห่งนี้ได้จมลงในทะเลไปเรียบร้อยแล้ว และนอกจากเรื่องราวจากเทพปกรณ์ในศาสนาแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะยืนยันการมีอยู่ของเมืองแห่งนี้ได้เลยด้วยซ้ำ

ข้อเสนอของบีลได้ถูกขยายผลไปสู่ความพยายามที่จะค้นหาเมืองทวารวดีแห่งภูมิภาคอุษาคเนย์ ที่เชื่อกันว่าอยู่ระหว่างประเทศกัมพูชากับพม่า โดยสันนิษฐานกันว่า สัมพันธ์อยู่กับกลุ่มโบราณวัตถุสถาน ที่พบกระจายตัวอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยในปัจจุบัน

แต่คำอธิบายที่ทรงอิทธิพลที่สุดน่าจะมาจากศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Goerge Coedes) ที่ได้เสนอเอาไว้เมื่อ พ.ศ.2472 ว่า ทวารวดีเกี่ยวข้องอยู่กับกลุ่มโบราณวัตถุในพุทธศาสนา แบบที่ท่านเรียกว่า “ก่อนเขมร” ซึ่งพบที่ลพบุรี และนครปฐม

และดูเหมือนว่าก็เป็นเซเดส์นี่เองที่เริ่มเรียกทวารวดีว่าเป็นราชอาณาจักร (เซเดส์ใช้คำภาษาฝรั่งเศสว่า royaume) อย่างชัดเจนเลยทีเดียว เช่นเดียวกับข้อสรุปของท่านที่ว่า ทวารวดีนั้นเป็นอาณาจักรของพวกมอญ เนื่องจากพบจารึกภาษามอญอยู่มาก

เซเดส์นั้นเคยรับราชการอยู่ในสยาม และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดอยู่กับ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” อย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นับสิบปี แถมยังได้ช่วยลำดับยุคสมัยของประวัติศาสตร์ไทย ที่เริ่มต้นจากสมัยทวารวดีนี่แหละครับ แล้วค่อยไล่เรียงมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับทวารวดีของเซเดส์จึงมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในวิชาประวัติศาสตร์ของไทย

 

จุดสุดยอดของกระบวนการสร้าง “อาณาจักรทวารวดี” ขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยนั้น เกิดขึ้นจากการพบเหรียญเงินสองเหรียญ ในโถขนาดเล็ก ที่ได้จากการลักขุดบริเวณซากเจดีย์โบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของวัดพระประโทณฯ จ.นครปฐม ราว 1 กิโลเมตร เมื่อ พ.ศ.2486

ในเหรียญเงินทั้งสองดังกล่าว มีจารึกประดับอยู่ด้วย ซึ่งเซเดส์ได้ถ่ายทอดและแปลความออกมาเมื่อ พ.ศ.2506 ว่า “ศรีทวารวตีศวรปุณยะ” หรือ “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี”

ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นหลักฐานสนับสนุนแนวคิดของเซเดส์ว่า มีอาณาจักรทวารวดีอยู่ที่นครปฐม

อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานเหล่านี้ยังไม่ได้พิจารณาถึงว่าชื่อทวารวดีก็ปรากฏอยู่ในหลักฐานอื่นๆ ของภูมิภาคด้วย เช่น จารึกจากวัดจันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่กล่าวถึงการที่พระเทวีของเจ้าแห่งทวารวดี ทรงบัญชาให้พระธิดาสร้างพระพุทธรูป, ข้อความในตำนานอุรังคธาตุที่ระบุว่าชื่อเดิมชื่อหนึ่งของเมืองร้อยเอ็ด คือทวารวดี หรือชื่อเมืองทวารวดีในจารึกทวารกไดของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.1496 พบในเขต จ.สตึง ประเทศกัมพูชา ที่ระบุถึงชื่อเมืองทวารวดี โดยเซเดส์เคยให้ความเห็นไว้ว่า เป็นชื่อเมืองทวารกได (สถานที่พบจารึก ซึ่งเซเดส์ว่าเพี้ยนมาจากคำว่าทวารวดี) ในเขต จ.สตึง ไม่ได้หมายถึงทวารวดีในประเทศไทย เป็นต้น

เป็นไปได้หรือไม่ว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” ในจารึกบนเหรียญเงินนั้น จะไม่ได้ชี้เฉพาะลงไปว่าคือพระราชาพระองค์ใดเป็นการเฉพาะ ในเมื่อตัวจารึกเองก็ไม่ได้ระบุเอาไว้

แถมทวารวดีในจารึกก็ไม่รู้ว่าหมายถึงทวารวดีในอินเดีย เขมร ปากช่อง หรือร้อยเอ็ด ไม่จำเป็นว่าต้องหมายถึงสถานที่พบคือนครปฐม โดยเฉพาะเมื่อทวารวดีเป็นชื่อเมืองศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่า มาตั้งแต่ในอินเดียแล้วด้วยซ้ำนะครับ

ประกอบกับอาณาจักรทวารวดีในประเทศไทยก็ได้ชื่อมาจาก “To-lo-po-ti” และคำว่า “ทวารวดี” บนเหรียญเงินเท่านั้น

และยิ่งเมื่อมีการพบจารึก “ทวารวดีวิภูติ” ที่กล่าวถึงทวารวดีในฐานะความเปรียบ เพื่ออ้างถึงความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองของเมือง จากวัดพระงามแล้ว ก็ยิ่งชวนให้สงสัยใจยิ่งขึ้นว่า นครปฐมจะเคยเป็นเมืองที่มีชื่อว่าทวารวดี จริงๆ หรือ?