จักรกฤษณ์ สิริริน : “อาชีพในอุดมคติ” Gen Z จาก Meaningful Learning ถึง Meaningful Work คนรุ่นใหม่ “อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับ”

นิตยสาร Harvard Business Review พาดหัวข่าวได้น่าสนใจครับ

9 Out of 10 People Are Willing to Earn Less Money to Do More-Meaningful Work

9 ใน 10 คน “ไม่หมิ่นเงินน้อย” เลือกอาชีพที่อยากทำ “งานที่มีความหมาย”

ยิ่งในยุคสมัยเศรษฐกิจตกสะเก็ดลุกลามอยู่ทั่วทุกมุมโลกอย่างนี้ “คนรุ่นใหม่” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generation Z หรือ Gen Z

ที่หลายคนต่างพากันพลิกมุมคิด และเปลี่ยน Lifestyle การทำงานเพื่อสอดรับกับสถานการณ์อันแสนยากลำบากครับ

Gen Alpha หรือ Generation Alpha แม้จะอายุน้อยกว่า แต่ก็นำหน้าไปก่อนแล้ว

ซึ่งผมเคยเขียนเอาไว้ในบทความ “แฟ้มบุคคลขอปรบมือให้ Generation Alpha เถ้าแก่น้อยร้อยล้าน” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า “กำลังหลัก” ในโลกแรงงานทุกวันนี้ ต้องมองไปที่ Gen Z ครับ

เพราะ Gen Z คือกลุ่มคนที่เกิดในทศวรรษ 1990 (2530) ถึงทศวรรษ 2000 (2540) อายุอานามปัจจุบันเฉลี่ย 25 ปีพอดี

เรียกได้ว่าเป็นห้วงเวลาแห่งไฟฝัน ความหวังเต็มหัวใจ เรี่ยวแรงเหลือเฟือ

และเป็น “วัยทำงาน” ตัวจริง-เสียงจริง!

 

“อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา” แม้จะไม่ค่อยได้เห็นประโยคเหล่านี้บนสติ๊กเกอร์ท้ายรถกระบะกันแล้ว

แต่กลอนดังกล่าวก็ยังใช้สอนใจคนรุ่นใหม่ได้อีกหลายปีทีเดียว

อันที่จริง ก่อนที่เราจะวิเคราะห์ว่า เหตุใด ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่ 9 ใน 10 คน จึง “ไม่หมิ่นเงินน้อย” และเลือกอาชีพที่ “ตัวเองอยากทำ” เพื่อให้เป็น “การงานที่มีความหมาย”

คงต้องย้อนกลับไปดูพวกเขาตอนที่ยังอยู่ในวัยเรียนกันก่อนครับ

เพราะไม่เพียง Meaningful Work หรือ “เลือกอาชีพที่รัก” เท่านั้น แต่กระบวนทัศน์ของ Gen Z มีมาตั้งแต่ “การเลือกที่จะเรียน” หรือ Meaningful Learning ก่อนหน้านี้แล้ว

 

ศาสตราจารย์ Dr. David Paul Ausubel ผู้คิดค้นทฤษฎี Meaningful Learning หรือ “การเรียนรู้อย่างมีความหมาย” กล่าวว่า หัวใจสำคัญของ Meaningful Learning ก็คือ “การเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม” ผ่าน “หลักสำคัญ 3 ประการ”

“…1.ความตั้งใจของผู้เรียนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจ 2.ความสอดคล้องระหว่างเนื้อหากับความต้องการของผู้เรียน และ 3.พื้นความรู้เดิมของผู้เรียน…”

“การเรียนรู้” จะ “มีความหมาย” แก่ผู้เรียนก็ตรงที่ “การเรียนรู้” นั้นสามารถ “เชื่อมโยง” กับ “พื้นความรู้เดิม”

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “การจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียน” ศาสตราจารย์ ดร. David Paul Ausubel กระชุ่น

ดังนั้น “คนรุ่นใหม่” จำนวนมากจึงพากันสร้าง Meaningful Learning ด้วยการหันหลังให้กับห้องเรียน ไม่แคร์ปริญญา เลือกเรียนเฉพาะสิ่งที่ตนสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการ Take Course สั้นๆ หรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง

เห็นได้จากทุกวันนี้มี Gen Z นับไม่ถ้วนที่ประสบความสำเร็จ เป็น “เถ้าแก่น้อยร้อยล้าน” จากการ “ขายของออนไลน์”

มีรายได้มากกว่าครูบาอาจารย์ที่คอยมองหาพวกเขาในห้องเรียน ว่าเขาและเธอหายไปไหน ทำไมจึงไม่มาเข้าชั้นเรียน?

 

ในยุคที่ “ปริญญา” แทบจะไร้ความหมาย Gen Z ได้ผนึกตัวตนเข้ากับ Social Network เป็นที่เรียบร้อย

เราจึงพบว่า “คนรุ่นใหม่” ในวันนี้ หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “วุฒิการศึกษา” อีกต่อไป

นิตยสาร Harvard Business Review กล่าวว่า ทุกวันนี้ 80% ของมนุษย์เงินเดือนในสหรัฐอเมริกา ต้องการ “ทำงานที่มีความหมาย” หรือ Meaningful Work ที่แปลว่า “งานซึ่งสร้างคุณค่าให้กับชีวิต”

เขาและเธอ “ไม่ต้องการขึ้นเงินเดือน” หากต้องฝืนใจอยู่ในองค์กรที่อึดอัด อาชีพที่น่าเบื่อ และการงานที่ไร้ตัวตนในสังคมอีกต่อไป

Harvard Business Review บอกต่อไปว่า ปัจจุบันคนอเมริกันมีรายจ่ายด้าน “ปัจจัย 4” เพียง 20% เท่านั้น จึงแทบไม่มีความจำเป็นต้องทนกับการ “ทำสิ่งที่ไม่ได้รัก” กันอีกแล้ว

ผลสำรวจล่าสุดของ Harvard Business Review ชี้ว่า ทำไปทำมา “ปัจจัย 4” ของชาวสหรัฐทุกวันนี้ประกอบด้วย “อาหาร” “เครื่องนุ่งห่ม” “ที่อยู่อาศัย” และ “อาชีพที่มีความหมาย” หรือ Meaningful Work

“ยารักษาโรค” ถูกแทนที่ด้วย Meaningful Work เพราะ “ยา” แทบไม่มีความจำเป็นในสายตาคนรุ่นใหม่สุขภาพดี โดยเฉพาะกับคนหนุ่มคนสาวชาว Gen Z ที่ยังแข็งแรง

 

สอดคล้องกับงานวิจัยของ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ไตรภพสกุล” และ “ดร.ชาคริต พิชญางกูร” เรื่อง “ปัจจัยเชิงสาเหตุต่อการเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ของประเทศไทย” ที่พบว่า “เครือข่ายความเป็นผู้ประกอบการส่งผลทางบวกต่อการเป็นผู้ประกอบการเฉพาะกลุ่มวัยทำงานเริ่มต้นอายุระหว่าง 25-34 ปี”

และ “ความเชื่อมั่นในตนเอง การมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ความกล้าที่จะเสี่ยง และทัศนคติเชิงบวกต่ออาชีพผู้ประกอบการส่งผลทางบวกต่อการเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระดับการศึกษาส่งผลทางลบต่อการเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ของกลุ่มตัวอย่างเยาวชนและวัยทำงานเริ่มต้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ” ในขณะที่ “ระดับรายได้ของครอบครัวไม่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับทั้งสองกลุ่ม”

ความหมายก็คือ Gen Z ณ วันนี้ มีความมุ่งมั่นกับการเป็น “ผู้ประกอบการ” หรือ “เจ้าของธุรกิจ” โดยมองว่าเป็น Meaningful Work และ “การศึกษา” แทบไม่มีความสำคัญใดๆ อีกต่อไปในมุมมองของ Meaningful Learning

เช่นเดียวกับงานวิจัยของ “ธาดาธิเบศร์ ภูทอง” และ “สวมล ศิริกัณฑ์” เรื่อง “อิทธิพลของการสนับสนุนทางสังคม การสนับสนุนทางด้านการศึกษา และความเชื่อมั่นในตนเองต่อความตั้งใจที่จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจบริการและที่พักรุ่นเยาว์ของกลุ่มวัยรุ่น Generation Z”

ที่พบว่า “ความเชื่อมั่นในตนเองเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่มีอิทธิพลเชิงบวกและมีอิทธิพลทางตรงต่อความตั้งใจที่จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจบริการและที่พักรุ่นเยาว์ของกลุ่มวัยรุ่น Generation Z”

ความหมายก็คือ Gen Z ส่วนใหญ่ มี “ความตั้งใจอย่างแรงกล้า” ในdkiเดินหน้าสู่การเป็น “ผู้ประกอบการ” หรือ “เจ้าของธุรกิจ”

โดยมองว่าเป็น Meaningful Work หรือ “อาชีพที่มีความหมาย” และ “งานซึ่งสร้างคุณค่าให้กับชีวิต”

 

นิตยสาร Harvard Business Review ย้ำว่า สิ่งที่เราพบจากการสำรวจ อย่าลืมว่า มีคนมากถึง 9 ใน 10 หรือ 90% ที่ “เต็มใจ” แลกรายได้และความมั่นคงในชีวิต ที่ต้องจมปลักอยู่กับ “งานที่ไม่ชอบ”

เดินหน้าออกไปหา “ความหมายในการทำงาน” ที่มากขึ้น

เหตุใดคนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงหันหลังให้กับสถานะมนุษย์เงินเดือน?

เหตุใดเขาและเธอจึงไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร?

อยากมีอิสระในการเลือกเรียน หรือเลือกไม่เรียน หรือเลือกเฉพาะสาขาที่อยากเรียน

อยากมีอิสระในการประกอบสัมมาอาชีพ ไม่ชอบตกอยู่ใต้บงการใคร

พูดอีกแบบก็คือ เขาและเธอต้องการ “อิสระในการใช้ชีวิต” นั่นเองครับ!