ฉัตรสุมาลย์ : นมัสการหลวงพ่อเล่อซาน

ตอนที่เราลงมาจากเขาง้อไบ๊ รายการสุดท้ายในช่วงเข้าใต้เข้าไฟ คือตะวันลับฟ้าไปแล้ว ชาวบ้านเริ่มจุดไฟในบ้าน เรายังได้ชมวัดเป้ากั๋ว ที่อยู่เชิงเขา คณะเราเหนื่อยมาก แต่ทัวร์ก็ยังยืนยันอยากให้ชม แม้เป็นชะโงกทัวร์ ทั้งนี้เพราะคณะของเราอยู่ตรงจุดนั้นแล้ว และจะไม่ได้ย้อนมาอีก

จากจุดจอดรถ เราต้องเดินมาไกลพอควร แต่ถนนเรียบ และเพียงเราเดินมาตามทางเดินเท่านั้นเอง

วัฒนธรรมจีนจะเน้นจุดเข้าสู่วัด เป็นประตูที่โอ่โถง มีชื่อวัดใหญ่โตชัดเจน มีสิงโตยืนอารักขาด้านหน้า ตัวผู้ตัวเมีย ตัวผู้เอาเท้าหน้าเหยียบลูกบอล ตัวเมียเอาเท้าหน้าเหยียบลูกน้อยที่นอนหงายเก๋งเล่นกับแม่ เข้าไปสังเกตรายละเอียดนะคะ จะเป็นเช่นนั้นเสมอ ตัวไหนอยู่ข้างซ้าย ตัวไหนอยู่ข้างขวาก็ไปสังเกตดูเถิด ตัวผู้จะเป็นตัวที่อยู่ด้านขวามือของเรา ขณะที่เราหันหน้าเข้าวัดนั่นแหละค่ะ

ที่เกาหลี ไกด์ที่อธิบายสิงโตหน้าวัด ยั่วโมโหผู้เขียนมาก บอกว่าให้ดูที่ตัวไหนอ้าปาก ก็ตัวนั้นแหละ ตัวเมีย เพราะผู้หญิงพูดมาก ลูกทัวร์ก็เฮกัน ทั้งผู้หญิงด้วย

วัฒนธรรมการกดขี่ทางเพศมาแต่เช้าเลย

ฝากไว้ก่อนเถอะ

 

วัดนี้เข้าไปแล้วต้องบอกว่า ขอบคุณทัวร์ที่ยัดเยียดให้เราลงมาชม เพราะงามจริงๆ ในแถบเขาง้อไบ๊นี้ มีวัดหลายแห่งมาก แต่เก่าแก่ผุพังไปตามกาลเวลา วัดนี้ได้รับการสนับสนุนเงินให้บูรณะโดยพระภิกษุจากไต้หวันที่เห็นความงามทางศิลปะที่ควรเก็บรักษาไว้ ให้เงินมา 1 แสนเหรียญอเมริกัน ถ้าเดาไม่ผิดต้องเป็นหลวงพ่อซิงหยุนแห่งวัดโฝวกวางซัน ด้วยเหตุผลที่ว่า

ประการแรก ท่านมีเงินที่จะสนับสนุนในจำนวนประมาณนี้

ประการที่สอง ท่านเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับงานศิลปะมาก

ประการที่สาม เพราะท่านเป็นอาจารย์ที่ให้ศีลโพธิสัตว์แก่ผู้เขียน

ขอโทษ ประการที่สามนั้นไม่เกี่ยวกันเลยแม้แต่น้อย

การอนุรักษ์วัดนี้ให้คงความงามทางศิลปะ สถาปัตยกรรม เท่ากับเป็นตัวแทนของวัดจีนในประวัติศาสตร์ เมื่อไม่สามารถอนุรักษ์ไว้ได้ทั้งหมด อย่างน้อย เลือกสักวัดหนึ่งที่งามที่สุด ก็ยังได้ให้เห็นเป็นแบบอย่างมาถึงเรา

สัดส่วนของอาคารที่ลงตัว หลังคาที่ลดหลั่นกันได้สัดส่วน ความอ่อนช้อยของหลังคา ทั้งหมดเป็นสีดำ ในบรรยากาศแสงเงาที่ขมุกขมัวในยามใกล้ค่ำ

ไม่อยากพูดเลย แต่อยู่ในความสงบ และสัมผัสกับความงามในสิ่งที่เห็นด้วยใจ

ทางซ้ายมือ เป็นร้านค้าที่ขายงานศิลปะ ทุกอย่าง ทุกชิ้นงามจริงๆ แม้กระทั่งกระถางธูปแบบจีน ชิ้นที่เป็นเนื้อสำริด เรียบง่ายที่สุดไม่มีลวดลายอะไรเลย ด้านหน้ามีเพียงอักษรจีน อ่านว่า โฝวซิ่น แปลว่า โพธิจิต เฉพาะชิ้นนี้ก็หลายเงิน หยวนทั้งหมดที่มีอยู่ในกระเป๋าก็ไม่พอซื้อค่ะ แต่ท่านผู้อ่านก็ต้องเข้าใจนะคะว่า ผู้เขียนมีไม่กี่ร้อยหยวนเอง อย่าอวดเลย เป็นความจริงเกินไป

ออกมาจากวัดแล้ว ก็ยังไม่เลิกค่ะ ว่าคราวหน้าถ้าจะมา จะมาซื้อกระถางธูปนี้แหละ

กลับโรงแรมไปนอน สลบเหมือดด้วยฤทธิ์ของการขึ้นเขาง้อไบ๊

 

รุ่งเช้า ตื่นแล้วจัดกระเป๋า ลากออกไปวางไว้หน้าห้องพร้อมเดินทาง กล่าวลาห้องนอนที่เราได้อาศัยนอนติดต่อกันสองคืน เมืองอื่นๆ เรามักจะได้นอนเพียงคืนเดียว การเดินทางแบบนี้มันเป็นการปฏิบัติธรรมที่ชัดเจน เรามาค้างคืน ไม่ได้สถิตนะ พรุ่งนี้ก็ไปแล้ว เตือนเราให้รู้ว่า ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คือมันยังไม่ทันจะเข้าไปยึดจับ มันก็เคลื่อนไปข้างหน้าแล้ว การที่เราจะเอ็นจอย คือ ปัจจุบัน เป็นการปฏิบัติธรรมที่ดี

หลังอาหารเช้าแล้วเราพร้อมกันที่รถเลย ไกด์และคนรถจัดกระเป๋าเดินทางของเราเรียงเข้าใต้ท้องรถ เราเพียงแต่ชะโงกเข้าไปดูเห็นกระเป๋าของเราได้ขึ้นรถแล้วเป็นใช้ได้

วันนี้เราจะไปไหว้หลวงพ่อองค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกค่ะ หลวงพ่อเล่อซาน อยู่ในเมืองเดียวกัน เราจึงเดินทางด้วยรถโค้ชของเรา เข้าไปเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ถือเอาว่าเป็นรถโค้ชของเรา ก็เพียงช่วงที่เราเดินทางนี่แหละค่ะ

น่าจะใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก็มาถึงจุดหมาย ข้าวยังไม่ทันเรียงเม็ดเลย

หลวงพ่อเล่อซานท่านอยู่บนเกาะกลางน้ำ เราต้องลงเรือ ก็ต้องซื้อตั๋ว เรือมาเป็นเที่ยวๆ ในระหว่างที่รอไกด์ไปเข้าคิวซื้อตั๋ว

คำถามที่สำคัญมากในการดำเนินชีวิต คือ บนเรือมีห้องน้ำไหม

ไม่มีค่ะ ถ้าเช่นนั้น ก่อนขึ้นเรือเราต้องเข้าห้องน้ำก่อนนะ ไกด์มีข้อมูลว่า มีห้องน้ำสาธารณะอยู่ไม่ไกล

สนุกละซี เป็นโอกาสให้ลูกทัวร์ได้เดินถนนสัมผัสกับชีวิตของชาวบ้าน ทัวร์ไทยก็ไม่เสียชื่อเรื่องช้อปปิ้ง

เดี๋ยวไปเข้าห้องน้ำก่อน

เออ เมืองจีนก็ออกจะใหญ่โต ทำไมต้องทำห้องน้ำสาธารณะขึ้นไปอยู่บนชั้นสองของร้านค้าก็ไม่รู้นะ

บันไดก็แสนแคบ แทบจะเดินสวนกันไม่ได้ แต่ก็ต้องเข้า เอาปลอดภัยไว้ก่อน

 

ตอนนี้แหละค่ะ เริ่มแตกแถวเข้าร้านเซเว่น ซื้อนมกล่อง ซื้ออะไร ตอนเดินกลับยิ่งสนุก เพราะผ่านร้านค้าแบบชาวบ้านที่เขาขายผงหมาล่า ที่ใส่อาหารแบบเสฉวนที่กินแล้วทั้งเผ็ดทั้งชาที่เล่าไปแล้วในเรื่องเสฉวน ทั้งผงเครื่องเทศชนิดต่างๆ พริกด้วย หมาล่าด้วย เป็นหลายสิบถุง เปิดถุงให้เราเลือกตามใจชอบ ผู้เขียนเริ่มต้นเลย ไม่ต้องถามว่ากิโลละเท่าไร อยากซื้อเท่าไรก็ส่งเงินหยวนให้เขา แล้วชี้เอาสิ่งที่ต้องการ จบ ลูกทัวร์ยังสนใจต่ออีกหลายคน แม้เพียงได้ซื้อผงหมาล่าก็มีความสุขค่ะ เพียงเพราะผีความอยากเข้าสิง เพียงชั่วครู่

กลับมาที่ริมฝั่ง ไกด์เอาตั๋วมาแจก รอเรือ

อาม่าสองสามคนพยายามขายสินค้าพื้นๆ มีส้ม ลูกเกาลัด อาม่าคนหนึ่งขายของเล่นพื้นบ้าน เป็นรูปไก่ พอดึงเชือก ไก่ก็ผงกหัวจิกอาหารดังก๊อกๆ อันนี้มีขายเกร่อที่อินเดีย สงสัยจังว่า ใครเลียนแบบใคร ทั้งจีนและอินเดียได้ชื่อว่าเป็นพ่อ-แม่ของอารยธรรมที่มาผสมผสานลงตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปรากฏว่า คนที่เป็นเหยื่ออาม่าต้องซื้อไก่ คือตรี ศิลปินของเราทั้งๆ ที่อยู่อินเดียมานาน มารู้ทีหลังว่า ที่ซื้อเพราะทนอาม่าตื๊อไม่ไหว

ในที่สุดเราได้ลงเรือแล้วค่ะ เรือขนาดใหญ่ได้มาตรฐานมาก ภายในเรือมีร้านขายอาหาร มีทั้งชา กาแฟ และอาหารว่างประเภทขนมกรุบกรอบ

เมื่อขึ้นไปบนดาดฟ้าจะเห็นวิวที่งดงามสุดลูกหูลูกตา

 

หลวงพ่อเล่อซาน เป็นพระหินธรรมชาติแกะเข้าไปในภูเขา เป็นพระพุทธรูปในท่านั่งห้อยพระบาท สูง 71 เมตร สูงขนาดนั้น ก็ต้องแกะเข้าไปในเขาทั้งลูกเลยแหละ

เรือแล่นมาสัก 20 นาที เราเริ่มเห็นแนวทางเดินบนภูเขาที่เป็นทางเดินไปที่หลวงพ่อ ชาวจีนก็มีวิริยะสุดประมาณ มีบันไดด้านข้างที่เวียนขึ้นไปเพื่อให้ได้สักการะหลวงพ่อในระดับสูงที่สุด เออ ถ้าเราไปขึ้นบันไดนั้น คงเดินกันทั้งวัน

เรือไปจอดตรงหน้าหลวงพ่อพอดี เพื่อให้เราได้สักการะ ได้ถ่ายรูปกันอย่างเต็มที่

หลวงพ่อที่อยู่เบื้องหน้าเรา สูงใหญ่ เป็นสง่าในท่านั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองวางบนพระเพลา พระบาทเพิ่งซ่อมแซมเห็นชัดเจน น่าจะชำรุดเพราะระดับน้ำ

พวกเราในเรือน่าจะถึงร้อยคน บ้างก็ถ่ายรูปเดี่ยว โดยมีหลวงพ่อเป็นฉากหลัง ไม่รู้ว่าตั้งกล้องว่าให้หลังเบลอ หรือหน้าเบลอ อันนี้ก็ไม่ว่ากัน มีทั้งถ่ายรูปเดี่ยว ถ่ายคู่ ถ่ายกันทั้งครอบครัว ในกรณีที่มากันทั้งครอบครัว หรือถ่ายเป็นกลุ่ม คณะของเรา 34 คน รวมพลทั้งหมดไม่ได้ น่าเสียดายอยู่

ถ่ายรูปเดี่ยวก็เยอะจัง แอ๊กท่าต่างๆ กันไปตามจริต

 

ผู้เขียนทราบจากประวัติว่า หลวงพ่อเล่อซานนี้ใช้เวลาแกะสลักนานถึง 90 ปี ในช่วง ค.ศ.713-803 โดยพระภิกษุชื่อท่านอาจารย์ไห่ทง ได้รวบรวมเงินบริจาคจากชาวบ้านที่ศรัทธา โดยมีจุดประสงค์ให้หลวงพ่อคุ้มครองภัยน้ำท่วมจากแม่น้ำหมินเจียง เวลาเกิดน้ำท่วมแต่ละครั้ง มีความสูญเสียอย่างมากแก่ชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น

เราไม่ทราบต่อไปว่า หลังจากที่สร้างหลวงพ่อเล่อซานแล้ว สามารถช่วยชาวบ้านจากภัยพิบัติน้ำท่วมได้จริงหรือเปล่า

การแกะสลักที่ใช้เวลานานถึง 90 ปี น่าจะใช้กำลังคนต่อเนื่องกันนานถึงสามชั่วคน เมื่อท่านอาจารย์ไห่ทงท่านเริ่มต้นให้แล้ว ก็น่าจะมีลูกศิษย์ลูกหาและผู้ศรัทธาทำงานต่อ

ฝีมือการแกะสลัก ก็เป็นฝีมือช่างชาวบ้าน พระพักตร์ของหลวงพ่อเล่อซานไม่มีความงามเชิงศิลปะ แต่ดูท่านมีความหนักแน่น ลักษณะแบบผู้นำตามความนิยมของจีน

รายละเอียดของการแกะสลักนั้น อาจจะถูกจำกัดด้วยชนิดของหินที่เกาะนี้ก็มีความเป็นไปได้

เรามานมัสการหลวงพ่อเล่อซาน นอกจากท่านจะเป็นเครื่องเตือนให้เราระลึกถึงพุทธคุณแล้ว เราก็สัมผัสได้กับความยิ่งใหญ่ของชาวจีนเริ่มต้นตั้งแต่ความคิด ความศรัทธา ความอุตสาหะ วิริยะที่เป็นคุณลักษณะประจำชาติของจีน

เช่นนี้ จะไม่ถือว่าอารยธรรมจีนเป็นบิดาหรือมารดาของอารยธรรมตะวันออกได้อย่างไร เรื่องจะเป็นบิดา หรือมารดานี้ ก็คงต้องไปตกลงกันเองระหว่างจีนกับอินเดีย