เศรษฐกิจ / ‘ท่องเที่ยว’ ทรุดติดเชื้อโคโรนา รบ.งัดสารพัดมาตรการฟื้นไข้ ต้องลุ้นกลับมายืนหนึ่งพระเอกดัน ศก.

เศรษฐกิจ

 

‘ท่องเที่ยว’ ทรุดติดเชื้อโคโรนา

รบ.งัดสารพัดมาตรการฟื้นไข้

ต้องลุ้นกลับมายืนหนึ่งพระเอกดัน ศก.

 

ในอดีตที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวไทยและภาคการส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

เนื่องจากสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำมากกว่าส่วนอื่นๆ

แต่หลังจากปี 2561 เป็นต้นมา เกิดสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้ภาคการส่งออกไทยได้รับผลกระทบหนัก จนตัวเลขการส่งออกดูไม่สวยงามเท่าที่ควร

ภาคการท่องเที่ยวจึงกลายเป็นเครื่องยนต์หลักเพียงตัวเดียวในการขับเคลื่อนรายได้

แม้ว่าในครึ่งหลังของปี 2561 จะเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ทำให้ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนัก เพราะนักท่องเที่ยวจีนหายไปเป็นจำนวนมาก

แต่ภาครัฐและภาคเอกชนก็ร่วมมือกันอัดฉีดมาตรการกระตุ้นต่างๆ และพัฒนาในเรื่องความปลอดภัย

จนทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มฟื้นตัวกลับมาดีเหมือนเดิม

 

ปี2563 หลายฝ่ายจึงมองว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นพระเอกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่หลังจากเปิดปี 2563 มาได้เพียง 1 เดือนก็มีเหตุการณ์เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งส่งผลกระทบในหลายๆ ภาคส่วน

เริ่มต้นตั้งแต่ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ส่งไม้ต่อให้หลายเรื่องที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันในต่างประเทศ ขณะที่ไทยก็เกิดปัจจัยกระทบขึ้นภายในประเทศ เนื่องจากเกิดปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีปริมาณมากขึ้น จนอยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

ตามมาติดๆ ด้วยเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่แพร่ระบาดมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และกระจายไปหลายประเทศทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวของคนจีน

ซึ่งล่าสุดการระบาดของเชื้อไวรัสยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถควบคุมได้

กระทั่งวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ได้ออกมาประกาศให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพทั่วโลก

ซึ่งล่าสุดการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศไทย มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มแล้ว 6 ราย

ทำให้จากเดิมประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 19 ราย รวมกับผู้ป่วยที่ประกาศเพิ่มล่าสุดอีก 6 ราย รวมเป็น 25 ราย ในจำนวนนี้รักษาหาย กลับบ้านแล้ว 8 ราย เหลือยังรักษาตัวในโรงพยาบาลอีก 17 ราย

โดยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในจีน ยังคงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง

ล่าสุดคณะกรรมการด้านสาธารณสุขของรัฐบาลจีน อัพเดตยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็น 361 ราย ขณะที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 17,205 ราย

 

ไวรัสตัวร้ายได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้น โดยภาพรวมตลาดหุ้นไทยปิดตัวในแดนลบสลับบวกต่อเนื่อง และดัชนีเคลื่อนไหวในแดนลบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภาพในลักษณะเดียวกันกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย

สาเหตุหลักมาจากความกังวลของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่มีความยืดเยื้อ ว่าจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจโลก สะท้อนได้จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงกว่า 2% เนื่องจากกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงจากการบริโภคและการใช้จ่ายที่ปรับลดลง และตลาดหุ้นไทยรวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลกได้สะท้อนออกมาเช่นกัน

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ดัชนีหุ้นไทยทำสถิติต่ำสุดในรอบ 3 ปี 2 เดือน หลุดแนวรับ 1,500 จุด เป็นที่เรียบร้อย

แต่ผลกระทบหลักเกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยวโดยตรง เนื่องจากจีนปิดประเทศไม่ให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อควบคุมโรคระบาดให้ได้ จนทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปจากประเทศไทยจำนวนมาก

เบื้องต้นคาดว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยว คงส่งผลต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือนต่อจากนี้

ซึ่งกว่าจะฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ เชื่อว่าใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนอย่างแน่นอน

ซึ่งอาจทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยต้องเจอภาวะสุญญากาศเล็กๆ แต่จะส่งสะเทือนรุนแรงกับผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวแน่นอน

 

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งรัดดำเนินการเป็นอย่างแรกในตอนนี้คือ การฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และอัดฉีดยาแรงผ่านมาตรการทางการเงินต่างๆ โดยเฉพาะการยกเว้นชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของเงินกู้ ในระยะ 6 เดือนเป็นต้นไป

เกี่ยวกับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ยอมรับว่า การติดเชื้อไวรัสโคโรนาของภาคการท่องเที่ยวไทยครั้งนี้จะทำให้สูญเสียรายได้กว่า 300,000 ล้านบาท

กระทรวงจึงของบประมาณกลางจากคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.ศก.) จำนวน 500 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการกระตุ้นการท่องเที่ยว และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อไป

หากเหตุการณ์สามารถยุติการแพร่ระบาดได้ภายในเดือนมีนาคม 2563 การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาเหมือนเดิมได้ คาดว่าจะใช้เวลาจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยเสียโอกาสในการสร้างรายได้ไป 5 เดือน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท

นับตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2563 ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และการปิดประเทศของจีน ทำนักท่องเที่ยวจีนหายไป 232,114 คน หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาทั้งหมด 383,101 คน เท่ากับในช่วง 8 วันดังกล่าว มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยเพียง 150,987 คน รวมถึงนักท่องเที่ยวในตลาดอื่นๆ ก็จะชะลอการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย แต่ยังไม่ได้ติดลบ

โดยในปี 2563 หากไม่มีเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสขึ้น รัฐบาลได้กำหนดว่า ปี 2563 เป้าหมายภาคการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 41.8 ล้านคน สร้างรายได้รวมทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ 3.16 ล้านล้านบาท

ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น ก็คงไม่ง่าย หากจะพยายามวิ่งให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ จึงออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกิดจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย มาตรการด้านภาษี และมาตรการด้านการเงิน ได้แก่

  1. การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและยืดระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้หรือดอกเบี้ย ระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว
  2. การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน
  3. การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงของอากาศยาน
  4. การสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการจัดประชุมสัมมนาต่างจังหวัดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

และ 5. การหาตลาดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเพื่อทดแทนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และมาตรการระยะยาว

แม้ว่าจะมีมาตรการออกมาเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการในหลายๆ ข้อ แต่เสียงสะท้อนกลับมาจากภาคเอกชน ดูเหมือนยัง “เกาไม่ถูกที่” แต่ก็ถือคติที่ว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด”

     หลังจากนี้ต้องมาลุ้นกันว่า ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมายืนหนึ่ง เป็นพระเอกดันเศรษฐกิจฟื้นได้หรือไม่ แต่หากไม่…เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักจะแจ๊กพ็อตตัวไหน มาดูกัน