‘วิษณุ’ รับห่วงตัวเองมากสุดศึกซักฟอก เชื่อญัตติรุนแรงแต่ไร้ปัญหา มั่นใจ ‘บิ๊กตู่’ ตอบเองทุกคำ

‘วิษณุ’ เผยมติครม. ตอบสภา ‘สะดวกตั้งวันที่ 25 ก.พ. เป็นต้นไป’ เชื่อ 6 รมต. ตอบญัตติอภิปรายเอง ไม่ต้องมีองครักษ์ เปรย ‘รัฐบาลไม่สนิมสร้อย’ ยกคำสอนพระพุทธเจ้า มือที่ไม่มีบาดแผล แม้จับยาพิษก็ไม่ซึมซับเข้าสู่ร่างกายได้ มั่นใจ ‘บิ๊กตู่’ ตอบเองทุกคำ

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่วิปรัฐบาลร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรกรณีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่ยื่นนั้นรุนแรงเกินไป ว่า ตนทราบจากข่าว แต่ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าใครเป็นคนทำ และไม่ทราบว่าทำได้หรือไม่ ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสภา ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ส่วนญัตติจะมีอย่างไร รัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องตอบอยู่แล้ว เป็นการให้เกียรติสภา และเป็นการปกป้องตัวเองไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นผู้ที่จะมีสิทธิชี้ขาดว่าญัตติดังกล่าวมีความบกพร่องหรือไม่คือ ประธานสภา ที่จะเป็นผู้วินิจฉัย อย่างไรก็ตาม อาจจะมีวิธีหาทางออกอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า ในอดีตมีการขอแก้ไขคำในญัตติเช่นนี้ด้วยเหตุผลว่ารุนแรงเกินไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ไม่เคยได้ยินว่ามี แต่อย่างมากก็ไปตกลงกัน ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะว่าในสมัยก่อน เขาไม่เคยใช้ถ้อยคำที่รุนแรงเกินเหตุอย่างนี้ เพราะมักจะสงวนเอาไว้รุนแรงเวลาหลุดปากพูดกันในสภา จะเบรกก็ไม่ทัน หรืออย่างมากก็บอกว่า ผมขอถอนคำพูด เรื่องใดที่จะมาตีพิมพ์เป็นญัตติล่วงหน้า 15 – 20 วัน สมัยก่อนเขาจะคิดกันอย่างนั้น” เมื่อถามย้ำว่า ถือว่าครั้งนี้ญัตติรุนแรงหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับการกล่าวหาก็ถือว่ารุนแรง แต่ถ้าถือว่าเป็นการกล่าวหาก็ไม่มีอะไร เพราะคำพูดก็คือคำพูด แล้วในที่สุดจะเบาหรือแรงก็นำไปตอบกัน อย่างไรก็ตามสามารถไปบริภาษรุนแรงได้ในเวลาที่อภิปราย แล้วประธานสภา จึงค่อยคุมเกม เพราะข้อบังคับก็มีอยู่ตามข้อที่ 69 ที่ระบุว่าการอภิปรายจะต้องไม่ใช้ถ้อยคำฟุ่มเฟือย วกวน ซ้ำซาก ไม่พูดซ้ำคนอื่น ไม่หยาบคาย ไม่เอ่ยพาดพิงบุคคลอื่นโดยไม่จำเป็น ซึ่งตรงนั้นจึงค่อยไปวินิจฉัยกันตอนที่พูดในสภา ทั้งนี้บังเอิญว่าในการยื่นญัตติไม่ได้มีข้อบังคับเขียนไว้ แต่ในแง่ของรัฐมนตรีทั้ง 6 คน ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นปัญหาแต่อย่างใด จะเขียนญัตติอย่างไรมาเราก็ไปตอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเอาผิดตามข้อกฎหมายภายหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องญัตติแต่จะเป็นเรื่องของการอภิปราย ซึ่งมีการถ่ายทอดสด ซึ่งโดยกฎหมายและข้อบังคับก็ไม่คุ้มครอง หากพูดโดยเป็นการหมิ่นประมาท หรือพูดด้วยถ้อยคำที่ไม่สมควรผู้เสียหายย่อมไปดำเนินการเองได้อยู่แล้ว ซึ่งประธานจะควบคุมเกมอยู่แล้วว่าให้อยู่ในร่องในรอย เมื่อถามว่า ในส่วนของนายวิษณุเอง มี ส.ส.แสดงตัวเข้ามาเป็นองครักษ์หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี ไม่เคยได้ยิน และไม่คิดว่าจะต้องมี แต่ถ้ามีตนเข้าใจว่า เขาคงปกป้องระบบระเบียบข้อบังคับมากกว่าและส่วนที่จะกระทบต่อการเป็นรัฐบาล แต่เรื่องที่จะกระทบต่อส่วนตัว ไม่ปรากฏถึงแม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม คงไม่มีองครักษ์คนไหนหรือใครขึ้นมาทำอะไรอย่างนั้น และบังเอิญว่ารัฐบาลก็ไม่ได้สนิมสร้อย ผู้สื่อข่าวถามว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครม.เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมามีการพูดถึงญัตติดังกล่าวว่ามีถ้อยคำรุนแรงเกินไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีใครพูดอะไรทั้งสิ้น มีพูดอย่างเดียวว่า เรื่องกำหนดวันจะว่าอย่างไร เพราะเลขาฯ สภา มีหนังสือมาถามทางรัฐบาลว่ามีการยื่นญัตติแล้ว รัฐบาลจะสะดวกอย่างไร ซึ่งรัฐบาลก็ได้พิจารณาในสิ่งที่วิปรัฐบาลมีมติไว้ ประกอบกับวาระงานของรัฐบมนตรีทั้ง 6 คน โดยเฉพาะห่วงมากที่สุดคือ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เนื่องจากต้องเดินทางไปราชการต่างประเทศ ช่วงก่อนปลายเดือน ดังนั้นในสัปดาห์ปลายเดือนจึงสอดคล้อง และสมประโยชน์ทุกฝ่าย ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่จะต้องให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมข้อมูลเสริมให้รัฐมนตรีแต่ละคนที่ถูกอภิปรายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า โดยหลักแล้วทุกคนต้องเตรียมตัวเอง เพราะรู้อยู่แท้แก่ใจว่า ตัวเองได้ทำอะไรหรือไม่ได้ทำอะไร แต่ข้อมูลบางอย่างเป็นเรื่องรายละเอียดเชิงลึก อย่าว่าแต่เป็นเรื่องเก่า 3-5 ปีก่อนเลย บางทีเป็นเรื่อง 7 วันที่ผ่านมา เราก็อาจจะจำไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น เป็นการอภิปรายรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารราชการแผ่นดิน ส่วนสมาชิกสภาที่มีสิทธิมายืนพูดได้เป็นชั่วโมงๆ ในสภานั้น เพราะเขาควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นหากมีการพูดพาดพิงถึงผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ไม่ได้มายืนอยู่ในสภา แต่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงก็ต้องตอบ ซึ่งบางเรื่องอย่างนี้รัฐมนตรีก็ไม่รู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาไปทำอะไร แต่ต้องมายืนถูกด่าอยู่กลางสภา จึงเป็นธรรมดาที่ต้องเตรียมข้อมูล หรือขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปอยู่ที่สภา เพื่อที่เมื่อถึงเวลา จะได้มีการสอบถามข้อมูล แต่ตัวรัฐมนตรีก็ต้องรู้หลักใหญ่เอาไว้ เพราะถึงเวลาจริงเขียนมาอย่างไรก็อาจจะอ่านไม่ทัน “การเตรียมตัวจึงจำเป็นต้องมี แต่จะปอดหรือกลัวคงไม่มี เพราะทุกคนเห็นญัตติก็รู้แล้ว อย่างผมก็เห็นแล้ว เฉพาะผมญัตติมี 5 บรรทัด กล่าวหา 3 ข้อ ส่วนคนอื่นจะกี่ข้อก็แล้วแต่ ก็ว่ากันไป ถือหลักอย่างเดียวตามพระพุทธเจ้าสอน ธรรมะวันละบท มือที่ไม่มีบาดแผล แม้จับยาพิษก็ไม่ซึมซับเข้าสู่ร่างกายได้” ผู้สื่อข่าวถามว่า วันอภิปรายที่ 25-27 กุมภาพันธ์ เหมาะสมแล้วหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีล็อกอยู่ว่าวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ปิดสมัยประชุม ดังนั้น 28 กุมภาพันธ์จึงเป็นวันสุดท้ายซึ่งอภิปรายรัฐมนตรี 6 คน ก็น่าจะใช้เวลาขนาดนี้คงเหมาะสม ซึ่งเมื่อสภาสอบถามมา ครม. ได้ตอบเป็นมติ ครม. ไปว่าสะดวกตั้งวันที่ 25 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ไม่ได้ระบุวัน ว่าจากวันไหนถึงวันไหน และยอมถอยวันประชุม ครม. มาเป็นวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ เมื่อถามว่า มีความเป็นห่วงรัฐมนตรีคนไหนมากที่สุดในการอภิปรายครั้งนี้ นายวิษณุกล่าวว่า “เป็นห่วงตัวเอง ของผมมีกล่าวหา 3 ข้อ ซึ่งเอาเข้าจริงก็แตกประเด็นออกไปได้หมด คือ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เอื้อประโยชน์แก่บุคคลอื่นทำให้รัฐเสียรายได้จำนวนมาก, ตีความบังคับใช้กฎหมายผิดไปจากบรรทัดฐานและหลักการที่มีอยู่ เป็นการใช้อภินิหารในทางกฎหมาย, ชี้นำองค์กรอิสระ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เอื้อประโยชน์แก่บุคคลอื่น 3 ข้อนี้ผมท่องจำขึ้นใจแล้ว”

เมื่อถามว่า ในส่วนของนายกรัฐมนตรี จะมอบหมายรัฐมนตรีช่วยชี้แจงหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล และความอยู่รอดหรือไม่ของหัวหน้ารัฐบาลนั้น เป็นความอยู่รอดไม่รอดของครม. ทั้งคณะ ถ้านายกฯ พ้นจากตำแหน่ง ครม. 36 คนก็พ้นด้วย ดังนั้นการกล่าวหานายกฯ คือนายกฯ แต่ในความเป็นจริงคือความอยู่รอดของรัฐบาลทั้งชุด เพราะฉะนั้นญัตติ 30-40 ประเด็นที่ตั้งมานั้น ก็คงได้เห็นกันแล้วว่า เป็นเรื่องของคนอื่นและเป็นเรื่องของรัฐบาลที่แล้ว และบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล แต่กลายเป็นเรื่องของ คสช. เมื่อนายกฯ จะต้องตอบ ก็จำเป็นจะต้องให้ผู้ที่รู้เรื่องมาช่วยชี้แจงและตอบ ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 163 และก็ไม่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาข้อที่ 176 ที่ระบุว่านายกฯ และรัฐมนตรีเท่านั้น ที่จะมีสิทธิตอบ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะไปให้ข้าราชการคนอื่นขึ้นเวทีเหมือนการอภิปรายอื่นๆ ไม่ได้ ดังนั้นงจึงไม่ได้จำกัดเพียงรัฐมนตรีที่มีชื่ออยู่ใน 6 คน ฉะนั้นหากจำเป็นนายกฯ ก็ให้รัฐมนตรีคนอื่นช่วยตอบได้ แต่โดยหลักตนเชื่อว่า นายกฯ ตอบเองทั้งนั้น