ประชาชนแทบไม่เหลือที่พึ่งในโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

“สิ้นศรัทธา” แต่ยังมั่นคง

ไม่ว่าใครก็ตามหากตรวจสอบกระแสความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านร้านตลาดที่สะท้อนผ่านโลกออนไลน์ ย่อมได้สัมผัสถึงกระแสเอือมระอาต่อการทำหน้าที่บริหารประเทศของรัฐบาลหนักขึ้นเรื่อยๆ

แทบจะเรียกได้ว่ารู้สึกได้ถึงความเบื่อหน่ายหนักขึ้นในแต่ละสัปดาห์

อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนต่อศรัทธาในรัฐบาลที่ดิ่งลงเรื่อยๆ แบบนี้ ไม่ว่านักวิเคราะห์การเมืองคนใดย่อมเป็นไปในทางเดียวกันว่ายากจะฟื้นคืนแล้ว

รัฐบาลอยู่ในสถานะไม่เป็นที่ต้องการของประชาชนอีกต่อไป

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม หากขอให้นักวิเคราะห์ช่วยประเมินว่ารัฐบาลจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน เชื่อว่าเมื่อคิดสะระตะแล้วน่าจะพากันสรุปว่า “ยาว”

ทั้งนี้เพราะเสถียรภาพของรัฐบาลในปัจจุบัน กระแสประชาชนมีส่วนกำหนดน้อยมาก

โครงสร้างอำนาจของประเทศที่ดีไซน์กติกาให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย มีอิทธิพลเบาบางต่อความเป็นไปของรัฐบาล

พูดง่ายๆ ก็คือ ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนไม่ใช่แรงกดดันที่รัฐบาลต้องกังวล เพราะแทบไม่มีบทบาทอะไรที่จะทำให้การอยู่ในอำนาจกระทบกระเทือน

ส่วนร่วมของประชาชนในโครงสร้างอำนาจที่ถูกออกแบบไว้เพื่อการสานต่อของกลุ่มผูกขาดอำนาจ มีเพียงผ่านบทบาทของ ส.ส.หรือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

และยิ่งไปกว่านั้น ในส่วนของ ส.ส.เองยังแบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล ที่ทุ่มเทรับใช้กลุ่มอำนาจอย่างเต็มที่อีกด้วย

เศษเสี้ยวของการยึดโยงกับประชาชนในโครงสร้างอำนาจ จะไปมีบทบาทอะไรที่ทำให้รัฐบาลสะดุ้งสะเทือนได้ ดังนั้น แม้จะไร้ศรัทธาจากประชาชนแค่ไหน รัฐบาลก็ยังจะ “อยู่ยาว” ได้อย่างที่ใจต้องการ

แต่ก็นั่นแหละ อีกส่วนหนึ่งที่แม้รัฐบาลจะไม่สร้างความประทับใจอะไรให้กับประชาชนได้ คล้ายจะเป็นโอกาสของ ส.ส.ที่จะแสดงบทบาทให้ประชาชนศรัทธา

โอกาสนั้นกลับถูกละเลย เพราะพฤติกรรมของ ส.ส.ที่ผ่านมาก่อความสิ้นหวังให้เกิดขึ้นใจประชาชนไม่น้อย

ในสภาวะตกต่ำความเชื่อถือเช่นนี้ของรัฐบาล น่าจะเป็นโอกาสของฝ่ายที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบให้เกิดความซวนเซ แม้ล้มไม่ได้ ก็ทำให้ประชาชนฝากความหวังไว้ให้ได้ก่อน

กลับดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น

 

ผลสำรวจของนิด้าโพลล่าสุด เรื่อง “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” สะท้อนให้เห็นอารมณ์ของประชาชนในมุมนี้อยู่ไม่น้อย

ในคำถามที่ว่า เชื่อหรือไม่ว่าพรรคเพื่อไทยมีข้อตกลงพิเศษกับพรรครัฐบาลในการตัดชื่อรัฐมนตรีบางรายออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมีคนที่ตอบว่าเชื่อมากแค่ร้อยละ 5.35 และค่อนข้างเชื่อแค่ร้อยละ 16.85 ที่เหลือตอบไปในทางไม่เชื่อ

ซึ่งยังอยู่ในทางไม่เชื่อว่าจะมีผลประโชน์แทรกซ้อนในการทำงานของฝ่ายค้าน

แต่เมื่อถามว่า เชื่อหรือไม่ว่าฝ่ายค้านจะมีข้อมูลเด็ดทำให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายดิ้นไม่หลุด

ทั้งที่เห็นๆ กันอยู่ว่าในรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดนี้หมดสภาพในความน่าเชื่อถือ ผลกลับออกมามีที่เชื่อมั่นมากร้อยละ 20.76 ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 32.99 เกินครึ่งมาแค่นิดเดียว ที่เหลือไม่เชื่อว่าฝ่ายค้านจะทำอะไรรัฐบาลได้

นั่นเป็นการสะท้อนว่า ถึงศรัทธาในรัฐบาลจะตกต่ำแค่ไหน ความเชื่อในฝ่ายค้าน ซึ่งก็คือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนยังมีไม่มากนัก

และตรงนี้เองที่เป็นเรื่องน่าเศร้า

ด้วยในที่สุดแล้ว ประชาชนแทบไม่เหลือที่พึ่งในโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน