เทศมองไทย : ผลกระทบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจาก “ไวรัสอู่ฮั่น”

เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอยู่ในจีนและอีก 10 ประเทศในเวลานี้ ไม่เพียงส่งผลร้ายแรงต่อสุขอนามัย ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเยียวยาและป้องกันการแพร่ระบาดเป็นจำนวนมากแล้ว

ยังส่งผลกระทบในทางลบต่อสภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศ ทั้งที่เกิดการแพร่ระบาด หรือแม้แต่ที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้ก็ตามที

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมเมื่อมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทะลุ 100 คนและยอดผู้ที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อพุ่งพรวดเป็นมากกว่า 4,000 รายในจีน ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกถึงปรับตัวร่วงลงถล่มทลายเมื่อ 28 มกราคมที่ผ่านมา

ทั้งๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ทั้งหลายยืนยันว่า ในตอนนี้ยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะคาดคำนวณผลกระทบโดยรวมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจได้ก็ตาม

สาเหตุหนึ่งนั้นสืบเนื่องจากทางการจีนใช้ “ยาแรง” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม ตั้งแต่การห้าม-จำกัดการเดินทางท่องเที่ยว และยืดเวลาวันหยุดตรุษจีนออกไปให้ยาวกว่าปกติ 3 วัน สั่งการให้ผู้ให้บริการการเดินทาง อย่างเช่นสายการบินและรถไฟความเร็วสูงทั้งหลายคืนเงินให้กับผู้ที่ยกเลิกการเดินทางแบบเต็มจำนวน

ซึ่งทำให้ผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจจีนจากการระบาดครั้งนี้สูงสุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศอย่างช่วยไม่ได้

 

ผลกระทบโดยตรงจากการนี้ทำให้บรรดาบริษัทห้างร้านทั้งหลายจำเป็นต้องเปิดให้บริการหลังวันหยุดช้ากว่าปกติไปด้วย ตัวอย่างเช่น กิจการทั้งหมดในเซี่ยงไฮ้ยืนยันแล้วว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ใหม่อีกครั้งก็ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์โน่น ส่วนในซูโจว ศูนย์กลางการผลิตสำคัญทางตะวันออกของจีนก็ได้รับคำสั่งให้ปิดทำการไปจนกระทั่งถึง 8 กุมภาพันธ์เช่นเดียวกัน

ส่วนอู่ฮั่น เมืองที่มีขนาดประชากรใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ที่ 11 ล้านคน ไม่ต้องพูดถึง ถูกปิดตาย จำกัดการเคลื่อนไหวภายในตัวเมืองแทบกลายเป็นเมืองร้างมากขึ้นทุกที

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่นำเอาวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสอีกสายพันธุ์อย่างซาร์สเมื่อปี 2003 ซึ่งเกิดขึ้นที่จีนเช่นเดียวกันมาเป็นบรรทัดฐานอ้างอิงผลกระทบกับการระบาดครั้งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นเหมือนๆ กันว่า กรณีซาร์สนั้นในทันทีที่การระบาดจางหายไป เศรษฐกิจก็ฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ซาร์สกลายเป็นแค่อาการวูบชั่วครั้งชั่วคราว ที่ไม่ได้ส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมแต่อย่างใด

ปัญหาก็คือ 17 ปีผ่านไป สภาพเศรษฐกิจของจีนในเวลานี้แตกต่างออกไปมากมายไม่น้อย

 

นักวิเคราะห์ของเอสแอนด์พี โกลบอลเรตติ้ง ยกตัวเลขมาแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมไว้ว่า ในช่วงปี 2019 การบริโภคภายในของจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโดยรวม ซึ่งขยายตัวอยู่ที่อัตรา 6.1 เปอร์เซ็นต์ หากการบริโภคสินค้าและบริการภายในจีนลดลงราว 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก็เท่ากับว่าจีดีพีรวมของจีนจะหายไปทันที 1.2 เปอร์เซ็นต์

รอยเตอร์สรายงานไว้เมื่อ 27 มกราคมที่ผ่านมาว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่ประเมินได้จากสถานการณ์ในจีนเวลานี้ “ไม่ดีนัก” เช่น ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมของจีนที่ระบุว่า ช่วงปีใหม่หรือตรุษจีนเป็นเวลาของการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวและใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงทั้งหลาย

แต่ตัวเลขแค่วันแรกวันเดียวของปีนี้ ยอดคนเดินทางลดลงมากถึงเกือบ 29 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับวันเดียวกันของปีที่แล้ว

โรงภาพยนตร์หลายแห่งในจีนปิดตายเพราะการระบาด ข้อมูลของเมาหยัน บริษัทบริหารจัดการตั๋วภาพยนตร์ของจีนระบุว่าโรงภาพยนตร์ในจีนทำรายได้ในวันแรกของเทศกาลตรุษจีนได้เพียง 1.81 ล้านหยวน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงกว่า 99 เปอร์เซ็นต์

ทีมวิเคราะห์ของโนมูระเตือนไว้ว่า ในช่วงปี 2002-2003 ซึ่งซาร์สระบาดอย่างหนักนั้น เศรษฐกิจภายนอกประเทศของจีนดีกว่าสภาพตอนนี้มาก เพราะเมื่อปีที่ผ่านมาจีดีพีของจีนไม่เพียงลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปีแล้วเท่านั้น จีนยังเผชิญกับแรงกดดันมหาศาลจากความต้องการภายในที่ลดต่ำลง

พร้อมๆ กับการเผชิญหน้าในสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกายังเครียดเขม็งอีกด้วย

 

สภาพเช่นนี้ส่งผลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นไทย ฮ่องกง เวียดนาม สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ ล้วนพึ่งพานักท่องเที่ยวจีน “เป็นพิเศษ” ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ หลุยส์ คัจส์ หัวหน้าทีมวิเคราะห์ประจำภูมิภาคเอเชียของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิก ถึงได้ย้ำว่า ประเทศเหล่านี้คือกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่เสี่ยงอันตรายมากที่สุด ถัดมาจากจีน

ชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีการค้าของสิงคโปร์ แถลงยอมรับอย่างทำใจว่า เศรษฐกิจของประเทศและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบแน่ๆ แล้ว

จะหนักหนาสาหัสขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและยืดเยื้อของวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้

เตรียมใจเตรียมการรองรับเอาไว้ให้ดีก็แล้วกันครับ