เพ็ญสุภา สุขคตะ | สนธยาลัย ย่าผู้ปรุงชีวีวิถีชีวิต และคำตระบัดสัตย์ของสัตว์ที่เลี้ยงไม่เชื่อง

เพ็ญสุภา สุขคตะ

“แพร จารุ” นักเขียนหญิงชาวนครศรีธรรมราช ผู้มาใช้ชีวิตเมืองเหนือที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และเคยเป็นคู่ชีวิตของกวีโรมานซ์ล้านนาผู้ล่วงลับ “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” ได้ดำริจัดโครงการประกวดบทกวีรางวัล “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” ครั้งที่ 2 เมื่อราวกลางปี 2562 ที่ผ่านมา

มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 41 ชิ้น

คณะกรรมการผู้คัดเลือกรอบแรกมี 3 คนคือ ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร ปะหล่อง (ดร.ปฏิภาณ อุทยานุกูล) และดิฉัน เพ็ญ ภัคตะ โดยมี “วันฟ้าใหม่” กวีผู้ได้รับรางวัลถนอม ไชยวงษ์แก้ว ครั้งที่ 1 ปี 2561 ช่วยทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ประสานงาน รวบรวมผลงานบทกวีเบื้องต้น

ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกนั้นมีจำนวน 15 ชิ้น จากนั้นก็คัดออกอีก 3 ชิ้น เหลือจำนวน 12 ชิ้น ส่งให้กรรมการรอบตัดสินพิจารณา

รายนามกรรมการรอบตัดสินมีดังนี้ สกุล บุณยทัต พินิจ นิลรัตน์ โชคชัย บัณฑิต สุวิชานนท์ และดิฉัน เรา 5 คนมีมติเอกฉันท์ให้บทกวีที่ชื่อว่า “เชื้อไฟ” เขียนโดย “นนทพัทธ์ หิรัญเรือง” ได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 ได้แก่ “ขยะ” ของ “องอาจ สิงห์สุวรรณ” และ “ความฝัน 2019” ของ “รอนฝัน ตะวันเศร้า”

นอกจากนี้ยังมีบทกวีที่เขียนดีมากๆ เฉือนกันไม่ลงอีก 3 ชิ้นที่สมควรได้รับการยกย่องชื่นชมในฐานะรางวัลชมเชย ได้แก่ “สนธยาลัย” ของ “ระวี ตระการจันทร์” ชิ้นที่ 2 คือ “ย่าผู้ปรุงชีวีวิถีชีวิต” ของ “แทนชีวา” และ “คำตระบัดสัตย์ของสัตว์ที่เลี้ยงไม่เชื่อง” ของ “ธวัชชัย ทนทาน”

ฉบับนี้ ดิฉันขอนำผลงานบทกวีรางวัลถนอม ไชยวงษ์แก้ว ปีที่ 2 ประจำปี 2562 ที่ได้รับรางวัลชมเชยจำนวน 3 ชิ้นมาลงให้ได้อ่านกัน

สนธยาลัย

โพล้เพล้ชะตาจะละจะลา

อุระล้าและอาวรณ์

เมฆครึ้มทะมึนปะทะนคร

แหละเผชิญก็เนิ่นนาน

ซากปรักผุพังเปราะปริมิคลาย

มิผละหายลุพ้นพาล

เพลงใดจะกล่อมมิติวิมาน

ขณะท้นอนาถา

มืดมิดสะทกปะทุสะเทือน

รวิเลือนชวาลา

ลูบคลำก็แผลเหวอะหวะชะตา

จะสมาน บ่ เห็นทาง

โหวกเหวกตะโกนตะกละตะกลาม

ทุรล่ามมิเว้นวาง

ค่ำลงจะผุดจะผลิจะพราง

และสลัวจะชัดเจน

น้ำเต้าก็จมทะลุระทม

ระดะถมเคราะห์กรรมเวร

ฟูเฟื่องกระเบื้องก็คุประเคน

มุประทุษ ณ บ้านเมือง

ภูตผีกระโจนกระจะกระจาย

เสาะกระหายสิแค้นเคือง

ใครหนอจะเป็นธุระประเทือง

ประจุรักเพาะอาทร

โพล้เพล้ชะตาจะละจะลา

อุระล้าและอาวรณ์

เพลงใดจะกล่อมขรุขระนคร

ประลุสนธยาลัย!

บทกวีชิ้นนี้ใช้ฉันทลักษณ์ประเภท “วสันตดิลกฉันท์” เขียนโดย “ระวี ตระการจันทร์”

ย่าผู้ปรุงชีวีวิถีชีวิต

หอมกับข้าวของย่าลามนาทุ่ง

ผัด, ต้ม, แกง ย่าปรุง ย่าหุงหา

เลี้ยงปากท้องปรนเปรอเสมอมา

หุงข้าวปลาแผ่เผื่อย่าเอื้อปัน

แต่งแสงเงาเช้ามืดขมุกขมัว

ฉายเงาย่าเข้าครัวปรุงความฝัน

โชยกลิ่นไฟลามฟืนขึ้นคลุ้งควัน

ก่อนตะวันลามฟ้าทุกครั้งคราว

ยามเหงื่อย่าสะท้อนไฟก่อนรุ่งสาง

ราวน้ำค้างสะท้อนจันทร์ในคืนหนาว

เหงื่องานย่าลิ่วไหลลู่หยาดยาว

ย้อยหยาดราวหยดชีวิตจิตวิญญาณ

เรี่ยวแรงย่าแปรเปลี่ยนเป็นปลาข้าว

หยาดเหงื่อกลายเป็นของคาวและของหวาน

ผลตอบแทนจากรักการลงงาน

คือรอยยิ้มยามลูกหลานอิ่มเอมใจ

โลกหมุนคว้าง วัน, นาที, ปี, เดือน ผ่าน

ย่ายังปรุงอาหารทุกจาน-ใหม่

แต่ละเคี้ยว แต่ละคำ แต่ละใคร

ซาบซ่านอยู่ภายในหัวใจนัก

ย่าผู้ปรุงชีวีวิถีชีวิต

โอบอุ้มจิตวิญญาณการงานหนัก

ราวกับว่าหัวใจไม่เคยพัก

ขับเคลื่อนโลกด้วยความรักมายาวนาน

หอมกับข้าวของย่าลามนาทุ่ง

พัดไปถึงเมืองกรุง-ถึงลูกหลาน

ขณะคิดถึงย่า ข้าว, ปลา, จาน

พลางซื้อข้าวหน้าโรงงานประทังชีวิต

เขียนโดย “แทนชีวา”

คำตระบัดสัตย์ของสัตว์ที่เลี้ยงไม่เชื่อง

1.สงครามการค้าแผ่ลามไหลเหมือนไฟลามทุ่ง

เสียงบ่นต่างๆ นานาเกี่ยวกับสินค้าราคาแพง

ผลิบานต่อเนื่องเสมือนใบไม้แห้งติดไฟ

อุณหภูมิในร่างกายร้อนรุ่ม

นั่นจึงทำให้เรื่องง่ายๆ

กลายเป็นความขัดแย้งไม่จบสิ้น

อกข้างซ้ายของแต่ละคนกลายเป็นภูเขาไฟ

เถ้าถ่านที่พรายพ่นออกมาจากใจมืดบอด

ระบายเป็นม่านแขวนบนขอบฟ้า

กลืนรสภาษาละเมียดละไมลงไปในลำธารโสโครก

เด็กๆ ในบางประเทศ

นอนผ่ายผอมเหมือนฝูงสุนัขเร่ร่อน

ขณะที่เมืองกำลังเฟื่องฟู

ผู้ยากไร้ถูกทิ้งไว้ริมขอบหน้าผา

ในแต่ละวัน

ในแต่ละคืน

กำแพงความไม่เท่าเทียมถูกก่อสูงขึ้นด้วยมือที่มองไม่เห็น

สงครามการค้าแยกเขี้ยวเกรี้ยวกราด

แผ่รัศมีไปทั่ว

ไม่มีวันใดที่ไม่จับคนจนๆ เป็นตัวประกัน

ชีวิตเปราะบางดุจฝัน

จิตใจมนุษย์นั้นก็บางเบาไม่ต่างกับขนนก

ด้วยความเร่งรีบ

หัวใจจึงขาดพร่องน้ำหล่อเลี้ยงทางจิตวิญญาณ

ทันทีที่ผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ

ลั่นกลองรบใส่กัน

โยนระเบิดน้ำลายต่างแต่เสกสร้าง

สร้างกำแพงหนาขึ้นจนไปเกี่ยวพุ่มเมฆ

นกบางตัวตกลงมาตาย

อิฐแต่ละก้อนที่ซ้อนทับขึ้นเป็นกำแพงลับตา

คือเนื้อหนัง

คือโครงกระดูก

ของชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ

เมื่อความหิวแปรปรวนเป็นพายุฝน

ผู้คนก็เริ่มกลายเป็นฝูงมด

ตะเกียกตะกายข้ามกำแพง

ร่องรอยการปีนไต่

ฉีกลึกเข้าไปในเนื้อผิวผนัง

ในระยะใกล้ของรอยแผล

เหมือนมีคนนั่งพนมมือเป็นรูปดอกบัว

เห็นเส้นเอ็นปูดโปน

วงหน้าซีดเซียว

ในคืนจันทร์เสี้ยว

มักเกี่ยวผิวกำแพงหลุดร่อนออกมาเป็นแผ่นๆ

2.สงครามการค้ายังแผ่ไหลเหมือนไฟลามทุ่ง

ชั้นบรรยากาศถูกย้อมเป็นสีเทา

เกสรของความมอดไหม้

ยังจ้าแจ่มในความเป็นไปของผู้คน

กองคาราวานไต่ปีนยังมีความหวังอยู่เบื้องหน้า

สงครามการค้าแผดร้องอยู่อีกซีกโลก

แต่ไม่มีซอกหลืบไหนไม่ได้ยิน

ความกลัวเกาะตามรูขุมขน

พายุลูกใหญ่ถาโถม

หักท่อนแขนเหมือนหักกิ่งไม้

เมฆสีเทากลืนดวงอาทิตย์ลงท้อง

ไม่มีวันไหนที่ความเป็นไปจะปลอดภัยจริงๆ

มองโลกในแง่บวกเข้าไว้

พุ่มมหาพายุใหญ่กำลังไล่มาอีกระลอก

ขณะที่ผู้นำแต่ละประเทศ

ยังทำสงครามการค้า

เล่นเกมไล่ล่าเงินตรา

โดยมีประชาชนเป็นตัวประกันบนโต๊ะเจรจา

ที่หลอกให้หลงรักแล้วหักอกทุกเมื่อเชื่อวัน

เขียนโดย “ธวัชชัย ทนทาน”

ฉบับหน้าจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับกวีทั้งสามคนแบบเจาะลึกถึงแนวคิด ชีวิต ความฝัน และอุดมการณ์ของพวกเขา

แต่ฉบับนี้ขอแสดงความยินดีกับกวีทุกคนที่ได้รับรางวัลถนอม ไชยวงษ์แก้ว ครั้งที่ 2 ก่อน

นอกจากนี้ พี่ยาย “แพร จารุ” ยังได้มีรางวัลพิเศษมอบให้ “ตัวบุคคล” ที่เป็น “กวี” อีกด้วย เป็นกวีโดยจิตวิญญาณ เป็นกวีที่เล่นดนตรีได้ เป็นกวีที่รับใช้สังคม เป็นกวีที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ตามแนวทางชีวิตของถนอม ไชยวงษ์แก้ว

กวีผู้ที่ได้รับรางวัลชีวิต “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” ครั้งที่ 2 นี้ก็คือ พี่น้อย “อัคนี มูลเมฆ” หนุ่มปักษ์ใต้ที่เป็นทั้งนักเขียนสารคดี นักข่าว นักดนตรี และนักกิจกรรมเพื่อสาธารณะ

ขอขอบคุณกวีทุกคนที่ยังยืนหยัดสร้างสรรค์ผลงานอย่างทระนง ในยุคที่สื่อต่างๆ แทบไม่เหลือพื้นที่ให้กวีได้หยัดยืนอีกเลย ไม่แม้แต่จะยอมให้สู้อย่างหลังพิงฝา!