แกะรอยรัฐธรรมนูญ ส่องโรดแม็ปเลือกตั้ง กว่าจะถึงวันที่รอคอย…

ท่ามกลางการสร้างบรรยากาศปรองดอง ที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ที่เริ่มขยับทยอยรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ตลอดจนภาคธุรกิจ เอกชน ชุมชน

เวทีที่โดดเด่นสุด ไม่พ้นเวทีของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

พรรคการเมืองน้อยใหญ่ให้ความเห็นเกี่ยวกับ “ทฤษฎีปรองดอง” ไม่ว่าจะเป็น การสร้างมาตรฐานเดียวกันของกระบวนการยุติธรรม การลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ การลดความขัดแย้ง ไปจนถึงการเร่งให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

หลายอย่างก็ยังเป็นข้อเสนอที่เป็นนามธรรม เพราะหลายรัฐบาลที่เข้ามาก็ยังคงยากที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่หยั่งรากลึกเกินที่จะเยียวยา เห็นได้ชัดจากกรณีวัดพระธรรมกาย ที่ต่างฝ่ายต่างแสดงออกชัดเจน ถึงแนวคิดของแต่ละฝ่าย ที่เต็มไปด้วยความแตกแยก

นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกนี่อย่างไร จึงจะนำไปสู่การปรองดองที่แท้จริง

ในขณะเดียวกันที่มีการเรียกร้องจากพรรคการเมืองและต่างชาติ ให้รัฐบาลคืนอำนาจให้กับประชาชน โดยการเร่งจัดการเลือกตั้งโดยเร็วนั้น ยังมีข้อสงสัยมากมายกับความไม่ชัดเจนของรัฐบาลว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อใดแน่

เพราะแรกเริ่มเดิมที โรดแม็ปการเลือกตั้งอยู่ที่ต้นปี 2560 แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถูกคว่ำล้มไม่เป็นท่า โรดแม็ปจึงต้องขยับออกไป เพราะต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน มายกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่

โรดแม็ปจึงขยับโดยอัตโนมัติไปเป็นต้นปี 2561 แต่กลับมีเสียงเล็ดลอดออกมาว่า การเลือกตั้งนั้นไม่ได้อยู่ที่ปี 2561 แต่จะขยับออกไปเป็นปี 2562 ด้วยปัจจัยหลายอย่าง

สำทับด้วยการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ออกมาคำรามว่า รัฐบาลทำงานตามโรดแม็ป แต่ถ้าอะไรมาขัดขวาง โรดแม็ปก็จะขยับออกไปอีก

AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA

หากจะมาดูปัจจัยหลัก ว่าอะไรเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป คงหนีไม่พ้นตัวร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ที่ปรุงแต่งให้มีเงื่อนไขเวลาซ้อนอยู่มากมาย

หากเรานับหนึ่งการเลือกตั้งเมื่อรัฐธรรมนูญมีสภาพบังคับใช้ สิ่งที่นายมีชัยและ กรธ. ต้องทำคือ การคลอดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือที่เรียกว่า “กฎหมายลูก” จำนวน 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 267 กำหนด

กฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ ประกอบด้วย 1.พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2.พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 3.พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 4.พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 5.พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 6.พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 7.พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 8.พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 9.พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และ 10.พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

240 วัน หรือ 8 เดือน จึงเป็นตัวตั้งในการออกกฎหมายลูกให้เสร็จเพื่อนำสู่การเลือกตั้ง

แต่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 268 กำหนดให้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เสร็จภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน หลังจากที่ พ.ร.ป. ในข้อที่ 1-4 มีผลบังคับใช้แล้ว

เท่ากับว่า กรธ. ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาให้เต็ม 8 เดือน ในการออกกฎหมายลูกก่อนเลือกตั้ง เพราะการออกกฎหมาย 4 ฉบับแรกเสร็จ ก็สามารถที่จะใช้เวลาอีก 3 เดือน เข้าสู่โหมดเลือกตั้งได้ทันที

ทว่า เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามนั้น นายมีชัยประกาศชัดเจนว่า เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ กรธ. จะส่งร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทันที คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

โดยในรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรคสี่ สนช. จะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ที่ได้รับให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หรือ 2 เดือน ก่อนที่จะส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องพิจารณา หรือ กรธ. ในกรณีที่เห็นว่าร่าง พ.ร.ป. ของ สนช. ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งไปยังประธาน สนช. ทราบภายใน 10 วัน จากนั้นให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญร่วมกันพิจารณา แล้วส่งกลับไปยัง สนช. ภายใน 15 วัน หาก สนช. มีมติ 2 ใน 3 ไม่เห็นชอบ ให้ร่าง พ.ร.ป. ฉบับนั้นเป็นอันตกไป

และเมื่อ พ.ร.ป. 2 ฉบับแรกบังคับใช้ นายมีชัยจึงจะเสนอ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาให้ สนช. พิจารณา ซึ่งเมื่อกฎหมาย 4 ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จึงจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือ 3 เดือน

เท่ากับว่า กว่าจะถึงขั้นตอนการเลือกตั้ง อย่างนานที่สุดจะต้องใช้เวลา 9 เดือน เว้นแต่กฎหมายถูกตีตก ทุกอย่างก็จะยืดออกไปอีก

ไม่เพียงเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญที่มีเงื่อนเวลามากมาย แต่ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว จะมีเงื่อนเวลาเพิ่มเข้ามาอีก โดย พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 136 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการปฏิรูปพรรค ไม่ว่าการหาสมาชิกพรรค การประชุมใหญ่ การประกาศอุดมการณ์ การหาเงินประเดิม การชำระเงินบำรุงพรรคของสมาชิก การจัดตั้งสาขา ล้วนจะต้องดำเนินการภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน หลังจากที่กฎหมายลูกมีผลบังคับใช้

และหากพรรคการเมืองใดไม่ดำเนินการให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายลูกกำหนด พรรคการเมืองนั้นก็จะไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้เลย

ดังนั้น จึงไม่มีทางเป็นไปได้ว่าจะมีการเลือกตั้งในระหว่างที่ กรธ. ออกกฎหมาย ในระยะเวลา 240 วัน ยกเว้นว่าการพิจารณากฎหมายของ สนช. ใช้เวลาเต็มเหยียด 85 วัน ในการรับรองกฎหมายล็อตแรก และใช้เวลาอีก 85 วัน ในการออกกฎหมายล็อตที่ 2 จนครบ 4 ฉบับ ซึ่งจะใช้เวลา 170 วัน ในห้วงเวลานี้พรรคการเมืองจะต้องเร่งดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองให้แล้วเสร็จ ซึ่งช่วงนั้นจะมีการเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง 150 วัน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10 กว่าเดือน จึงเป็นไปไม่ได้ว่าจะมีการเลือกตั้งต้นปี 2561

แต่ถ้า สนช. ไม่เห็นชอบ และตีตกร่างกฎหมายลูกร่างใดร่างหนึ่งของ กรธ. เวลาก็จะทอดนานออกไป จนอาจจะถึงปี 2562 ก็เป็นได้

ที่เหนือกว่าสิ่งใดคือ ก่อนจะมีการเลือกตั้ง จะต้องมีการสรรหา ส.ว. 250 คน อย่างน้อย 15 วัน เพื่อให้มี ส.ว. มาประจำการในสภา วันนั้น สนช. หลายคนอาจจะไม่อยู่ในตำแหน่งเดิมเพื่อแต่งตัวรอรับตำแหน่งใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้สถานะ สนช. สิ้นสุดเมื่อมีการประชุมรัฐสภานัดแรก และการจะประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ จะต้องมี ส.ส. ในสภาแล้ว และจะเป็นการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อได้ จะมีการประชุมร่วม 2 สภา เพื่อเลือกนายกฯ คนนอกได้ทันที

ขณะที่ กรธ. เองก็จะพ้นวาระเมื่อร่างกฎหมายลูกเสร็จทั้งหมด และต้องไม่ช้าไปกว่าการพ้นตำแหน่งของ สนช.

ดังนั้น กระบวนการทุกอย่างจะต้องเกิดขึ้นอย่างเบ็ดเสร็จ ก่อนที่จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเป็นแน่แท้