บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /ไม่แปลกที่มีวันนี้ สำหรับ ‘กรณ์ จาติกวณิช’

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ไม่แปลกที่มีวันนี้

สำหรับ ‘กรณ์ จาติกวณิช’

 

ไม่แปลกใจหรือเหนือความคาดหมายกรณี “กรณ์ จาติกวณิช” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ลาออกจากพรรคเก่าแก่แห่งนี้ไป เพื่อก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ตามแนวทางของตัวเอง

หลายคนอาจจะสังเกตและเริ่มตั้งคำถามว่า กรณ์จะวางตัวเองอยู่ตรงไหนในพรรคนี้ หลังจากประชาธิปัตย์เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่มีชื่อของกรณ์ได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้เลย

คนที่เคยมีตำแหน่งเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและยังได้รับรางวัลรัฐมนตรีคลังโลกประจำปี 2553 จากสื่อระดับโลกในเครือไฟแนนเชียลไทม์ส ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดา แต่กลับไม่ได้รับตำแหน่งที่สมศักดิ์ศรี สมกับความรู้ความสามารถ ย่อมยากที่จะอยู่ในพรรคนี้ เพราะนั่นเท่ากับไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กรณ์เป็นหนึ่งในแคนดิเดต 4 คนที่ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออก เพราะนำพรรคพ่ายแพ้ยับเยินที่สุดในประวัติศาสตร์ของ ปชป. โดยสูญพันธุ์ทั้งหมดในกรุงเทพฯ ในการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562

แต่การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ คว้าชัยไป โดยที่กรณ์ได้คะแนนอันดับ 3 ต่อจากพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

 

อย่างที่ทราบกันภายหลังการพ่ายแพ้เลือกตั้ง ประชาธิปัตย์เกิดความแตกแยกครั้งใหญ่เกี่ยวกับแนวคิดในการทำงานการเมือง และแตกแยกหนักเข้าไปอีกหลังจากเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่และกำลังตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งมีทั้งซีกที่อยากเข้าร่วมและไม่เข้าร่วม

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อนรักของกรณ์ คือคนหนึ่งที่ยืนกรานว่าจะไม่เข้าร่วมเพราะขัดกับอุดมการณ์และแนะให้ ปชป.เป็นฝ่ายค้านอิสระจะดีกว่า

ดังนั้น ในสุดที่แล้วเมื่อกรรมการบริหารพรรคมีมติเข้าร่วมรัฐบาล อภิสิทธิ์ก็จำต้องลาออกจาก ส.ส.เพราะไม่อาจทำใจที่จะไปยกมือในสภาเพื่อโหวตรับรองให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้

แม้จะเป็นเพื่อนรักกับอภิสิทธิ์ แต่บางมุมกรณ์ก็เห็นต่าง ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงที่ชุลมุนและเกิดการแบ่งฝักฝ่ายจะเข้าหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาลนั้น กรณ์เป็นคนหนึ่งที่ออกมาพูดว่า จากการได้ไปพบปะกับพี่น้องภาคใต้ พบว่าพี่น้องอยากให้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐเพื่อจะได้มีรัฐบาลมาบริหารประเทศเสียที

เมื่อจุรินทร์ได้เป็นหัวหน้าพรรคและปรากฏรายชื่อผู้จะได้เป็นรัฐมนตรีในโควต้า ปชป.ออกมา ทั้งพีระพันธุ์และกรณ์ไม่มีรายชื่อเข้าร่วม ครม. ทำให้พีระพันธุ์ซึ่งเคยเป็นถึงรัฐมนตรียุติธรรมและอยู่คนละขั้วกับอภิสิทธิ์ ลาออกจาก ปชป. ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะปรากฏว่าได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เมื่อพีระพันธุ์ลาออก สายตาคนภายนอกเริ่มจับจ้องไปที่กรณ์ จาติกวณิช ว่า จะเคลื่อนไหวอย่างไร จะทนอยู่พรรคนี้แบบเงียบๆ ไร้บทบาทต่อไปหรือไม่

ก่อนที่ในที่สุดก็เป็นไปตามคาด คือโบกมือลา ปชป.ไปอีกคน เป้าหมายคือตั้งพรรคการเมืองใหม่ ตามประสา “คนมีของ” ที่ต้องหาที่ทางแสดงฝีมือของตัวเอง โดยไม่ต้องรอคอยความกรุณาจากผู้มากบารมีในพรรค

 

อันที่จริงภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ที่ต้องเผชิญกับม็อบเสื้อแดง กระทั่งเกิดเหตุการณ์เผาเมืองและมีผู้เสียชีวิตนั้น ได้สร้างจุดอ่อนให้กับ ปชป. หากว่าอภิสิทธิ์จะยังคงเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป เพราะอภิสิทธิ์มี “รอยแผล” ที่จะทำให้พรรคตรงข้ามนำมาโจมตีได้ทุกครั้งที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง

แม้การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ปชป.ภายใต้อภิสิทธิ์ จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเกือบ 160 เก้าอี้ ซึ่งแม้จะพลาดเป้าแต่ก็ไม่เลวนัก แต่ในระยะต่อไป ทางที่ดีกว่าควรมีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรค เพราะอภิสิทธิ์ช้ำมากแล้วและมีจุดอ่อนอย่างที่กล่าว

แต่ทว่าการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ปชป.เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ผู้มากบารมีในพรรคยังเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ ทำให้อภิสิทธิ์ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไป

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนั้น เริ่มเกิดรอยร้าวเพราะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม มือปราบจำนำข้าว จากสาย กปปส. (นกหวีด) ลงชิงตำแหน่งด้วย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและหวังให้พรรคมีโอกาสชนะเลือกตั้งบ้าง

มีการพูดกันว่า หาก ปชป.ไม่ยอมสละอภิสิทธิ์ (และอภิสิทธิ์ไม่สละตัวเอง) ก็คงยากที่จะชนะการเลือกตั้งปี 2562 เพราะถึงแม้อภิสิทธิ์จะมีคุณสมบัติโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในพรรค ทั้งความรู้ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต แต่อาจไม่เหมาะกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน

แต่ในเมื่อผู้อาวุโสเลือกอุ้มอภิสิทธิ์เอาไว้ จึงได้รับผลลัพธ์อย่างที่เห็นในการเลือกตั้งมีนาคม 2562

 

หากมองอย่างไม่ต้องเอาระบบอาวุโสหรือแบบแผนในพรรคมาเกี่ยวข้อง การสนับสนุนให้กรณ์เป็นหัวหน้าพรรคและก้าวไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาจเป็นทางเลือกที่ดีและสดใหม่กว่า เพราะ “โปรไฟล์” ของกรณ์เหมาะกับสถานการณ์โลก เป็นคนทันโลก โลกกว้าง ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย มีประสบการณ์ภาคปฏิบัติทางธุรกิจในระดับสากล

เช่น เคยเป็นผู้จัดการกองทุนเอสจี วอร์เบิร์ก ที่ลอนดอน ก่อนกลับมาเมืองไทย และก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์เจเอฟ ธนาคม ด้วยวัยเพียง 24 ปี ตามด้วยการนั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของเจพี มอร์แกน ประเทศไทย มีทรัพย์สินเกือบ 1,000 ล้านบาท ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 40 ปี

ระหว่างเว้นวรรคการเมืองอยู่ 5 ปีเพราะ คสช.ยึดอำนาจ กรณ์เริ่มหลงรักที่จะเรียนรู้และคลุกคลีกับเกษตรกรเพราะอยากช่วยให้ขายสินค้าได้ราคาดี นำมาสู่โครงการสร้างแบรนด์ข้าวชื่อ “อิ่ม” โดยร่วมมือกับชาวนาในจังหวัดมหาสารคาม โดยที่กรณ์เข้าไปช่วยให้คำแนะนำเรื่องการปลูกข้าวที่มีคุณภาพ การทำตลาด การทำหีบห่อ จนทำให้ชาวบ้านสามารถขายข้าวได้ในราคาตันละ 2.5 หมื่นบาท สูงกว่าราคาตลาดซึ่งอยู่ที่ตันละ 8,000-9,000 บาท

การเดินออกจากประชาธิปัตย์ เป็นวิถีที่ต้องเป็นไป เพราะไม่รู้ว่าอีกกี่ชาติกรณ์จึงจะมีโอกาสแสดงฝีมือ การจะให้กรณ์รอและอดทน (เพราะตำแหน่งมีน้อย) อย่างที่ชวน หลีกภัย ผู้มากบารมีกล่าวเอาไว้นั้น เป็นเรื่องเสียเวลาและโอกาสสำหรับคนมีฝีมือ

การจะมีพรรคการเมืองใหม่ของกรณ์เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องดีและเป็นทางเลือกใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งจุดเด่นของกรณ์ นอกเหนือจากความสามารถแล้วก็คือควบคุมอารมณ์ได้ดี ใช้คำพูดได้อย่างเหมาะสม ไม่ค่อยพูดจาส่อเสียด ไม่ขี้โม้ ไม่ขี้อวด

ต่างจากผู้นำพรรคการเมืองรุ่นใหม่บางพรรค ฝีมือยังไม่เป็นที่ประจักษ์ แต่พูดจา “กร่าง” สร้างความแตกแยก หลงตัวเอง ปั่นราคาตัวเองเกินจริง