วางบิล /เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /ถึงเวลาผู้แทนสื่อฯ ต้องลาออกอีกครั้ง

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์    

ถึงเวลาผู้แทนสื่อฯ ต้องลาออกอีกครั้ง

“ยุติธรรม” พจนานุกรมฉบับมติชน พิมพ์ครั้งแรก 2547 ให้ความหมายว่า ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ความชอบด้วยเหตุผล และเที่ยงตรง มีความเป็นธรรม

ความยุติธรรมในคดีความซึ่งมีกรณีของบุคคลสองฝ่าย คือฝ่ายกระทำ และฝ่ายถูกกระทำ จะเที่ยงตรงได้ต่อเมื่อมีบุคคลเป็นกลางชี้หรือตัดสิน ที่สุดคือต้องชอบด้วยเหตุผล ด้วยการลงความเห็นหรือการตัดสินคดีโดยศาล ซึ่งเป็นตัวกลางที่ร่ำเรียนวิชากฎหมายสอบผ่านเป็นเนติบัณฑิตและสอบเป็นผู้พิพากษา

เพื่อให้การตัดสินเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลจึงมีถึง 3 ชั้น คือศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นฎีกา เป็นที่สุด

ส่วนคดีความผิดร้ายแรงมีโทษประหารชีวิต ให้พิจารณาโทษอีกชั้นหนึ่งคือการถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์

คดีอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทของบุคคลเป็นความผิดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพ กำหนดไว้ในกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท และกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฐานละเมิด มีโทษทั้งจำคุกและโทษปรับ เป็นความผิดอันยอมความกันได้ ทั้งหากแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต กฎหมายถือว่าไม่มีความผิด (กฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน ฉบับแก้ไขปรับปรุง รองศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช – อ้างแล้ว)

ขณะที่การกระทำผิดกฎหมายที่มิใช้การกระทำของบุคคลต่อบุคคล หากเป็นการแสดงความคิดเห็น ย่อมอยู่ในการพิจารณาของผู้พิพากษาตามตัวบทกฎหมาย การวินิจฉัย และดุลพินิจ ดังกล่าวแล้ว

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ความผิดฐานหมิ่นประมาทที่คู่กรณีฟ้องร้องและแก้ต่าง ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 กำหนดให้บรรณาธิการเป็นตัวการร่วมกับผู้ประพันธ์ เป็นเหตุให้ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือ พิมพ์เรียกร้องให้มีการยกเลิก เพื่อให้การฟ้องร้องเรื่องความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดอื่น ตลอดจนอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หยุดการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 คุกคาม หรือใช้อำนาจรัฐเข้าไปควบคุมสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

หลังจากยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 และมีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2550 คดีความเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททั้งที่อยู่ในศาลชั้นต้น ในศาลชั้นอุทธรณ์ และในศาลฎีกา ซึ่งยังมิได้ผ่านการพิพากษา เป็นอันต้องยุติการพิจารณาคดี ตัวบรรณาธิการพ้นความผิดไปโดยปริยาย

หลังจากนั้น คดีอันเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทที่โจทก์ “พ่วง” บรรณาธิการเข้าไปเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่โจทก์นำขึ้นฟ้องร้องจึงไม่เกิดขึ้น เว้นแต่โจทก์ฟ้อง “บริษัท” ในฐานนำเสนอข้อความอันเป็นหมิ่นประมาท เพื่อให้ศาลสั่งปรับ หรือนำไปฟ้องในการละเมิดคดีความแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหายฐานละเมิดต่อไปตามเวลาที่กำหนด

การพ้นโทษกรณีพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ยกเลิก ย่อมทำให้บรรณาธิการที่อยู่ระหว่างรอลงอาญาพ้นความผิดไปด้วยเช่นกัน

 

ตลอดระยะเวลานับแต่มีประกาศของทางราชการมิให้เชื่อข้อความที่เป็นบัตรสนเท่ห์ที่มีผู้ส่งไปลงหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ ที่รู้จักกันในนาม “หมอบรัดเลย์” ออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกขึ้นในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นหนังสือรายปักษ์วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2387 ชื่อ “หนังสือจดหมายเหตุ” เป็นเรื่องจริงบ้าง ข่าวลือบ้าง จึงได้มีประกาศดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายต่อมาอีกหลายฉบับ คือกฎหมายหมิ่นประมาทตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ซึ่งผู้พิมพ์ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิด ทั้งยังนำกฎหมายด้านความมั่นคงมาใช้อีกหลายฉบับ เช่น กฎหมายโปลิศ 53 ข้อ จ.ศ.1237 (พ.ศ.2418) ประมวลกฎหมายอาญาทหาร ร.ศ.130 (พ.ศ.2458) พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2547 พระราชบัญญัติจัดการตรวจข่าวทหารก่อนการโฆษณา พ.ศ.2460

ทั้งรัฐบาลยังได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2470 มีสาระสำคัญในการควบคุมหนังสือพิมพ์ให้รัดกุม เช่น กำหนดให้ผู้จะเป็นบรรณาธิการหรือเจ้าของหนังสือพิมพ์จะต้องได้รับการอนุญาตจากสมุหพระนครบาล หรือสมุหเทศาภิบาล ซึ่งมีอำนาจในการถอนใบอนุญาตชั่วคราวหรือถาวรตามแต่จะเห็นสมควร หากเป็นกรณีที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยในประเทศหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ดังกล่าวแล้ว นอกจากพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 วิชาชีพหนังสือพิมพ์ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายอีกประมาณ 20 ฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายว่าด้วยความมั่นคง กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายยา กฎหมายอาหาร กฎหมายเครื่องมือแพทย์ กฎหมายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท กฎหมายเครื่องสำอาง กฎหมายวัตถุอันตราย กฎหมายควบคุมและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กฎหมายคณะสงฆ์ กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

สุดท้าย คือกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

 

กฎหมายที่ผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ต้องปฏิบัติตามดังกล่าว เป็นกฎหมายที่มิได้มีข้อความ “กระทบต่อความสงบเรียบร้อยในประเทศหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ดังกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 หากผู้ใดกระทำความผิดตามกฎหมายนั้น คือผู้ที่กระทำผิดด้วยตนเอง และถูกลงโทษเองทั้งสิ้น เช่น ความผิดเกี่ยวกับอาหารและยา เจ้าของต้องเป็นผู้ไปจ่ายค่าปรับตามกฎหมายกำหนดให้รัฐเอง

ก่อนมีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ออกมาประกาศใช้ มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 34/2550 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ขึ้นมาคณะหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 มีนายวัฒนา รัตนวิจิตร เป็นประธานกรรมการ นายสมชัย รัตนสกาววงศ์ เป็นรองประธาน กรรมการจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 4 คน คือ นายมานิจ สุขสมจิตร นายสุวัฒน์ ทองธนากุล นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี

นายวรรณชัย บุญบำรุง เป็นกรรมการและเลขานุการ นางสาวนริศรา แดงไผ่ และผู้แทนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2550 ในส่วนของผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนลาออกจากคณะกรรมการจดแจ้งการพิมพ์ ด้วยเหตุผลว่าหลังเข้าร่วมพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวรวม 8 ครั้ง พบว่าการพิจารณาและความเห็นของกรรมการส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ผู้แทนองค์กรได้หารือไว้ในเบื้องต้น