วิเคราะห์ | พ.ร.บ.งบฯ ปี “63 สะดุด ปมเสียบบัตรแทนกัน เริ่มต้นที่ประชาธิปัตย์ ไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เกิดอาการเครื่องสะดุดกะทันหัน

เมื่อจู่ๆ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงกล่าวหา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย 2 คน มีพฤติกรรมเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระ 2-3 ที่ผ่านมา

โดยตรวจสอบพบนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง และนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่อยู่ในที่ประชุมสภา แต่กลับปรากฏชื่อร่วมเป็นองค์ประชุมและลงมติ

นายนิพิฏฐ์เผยรายละเอียดตรวจสอบการประชุมสภาวันที่ 10 มกราคม เวลา 20.50 น. เวลาดังกล่าวพบนายฉลองเดินทางไปสนามบินหาดใหญ่ แต่กลับปรากฏชื่อร่วมเป็นองค์ประชุมและร่วมลงมติร่าง พ.ร.บ. ตั้งแต่มาตรา 39

และวันที่ 11 มกราคม เวลา 11.10 น. ก็ปรากฏชื่อร่วมลงมติมาตรา 40 เช่นเดียวกับเวลา 17.34-17.38 น. ที่มีชื่อลงมติเห็นชอบวาระ 3

ทั้งที่วันที่ 11 มกราคม มีหลักฐานภาพถ่ายนายฉลองเป็นประธานพิธีเปิดงานวันเด็กแห่งชาติของเทศบาลตำบลอ่างทอง จ.พัทลุง และงานวันเด็กแห่งชาติที่ อบต.ชะมวง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

“อาจอ้างว่าเป็นการเสียบบัตรทิ้งไว้ที่เครื่องลงคะแนน แต่โดยปกติเมื่อสภาปิดประชุม เจ้าหน้าที่จะดึงบัตรออกในวันนั้น หรือไม่ก็ตอนเช้าก่อนประชุมเพื่อเคลียร์ระบบ ไม่เช่นนั้นจะเซ็ตระบบไม่ได้”

ส่วนกรณีนางนาที เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังเมืองเจิ้งโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 11 มกราคม โดยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ท่าอากาศยานเวลา 15.28 น. เมื่อตรวจสอบการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พบว่าช่วงเวลา 14.51-15.46 น. วันดังกล่าว ปรากฏชื่อนางนาทีร่วมเป็นองค์ประชุมและลงมติมาตรา 45-49

ทั้งนี้ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าได้ออกจากรัฐสภาค่ำวันที่ 10 มกราคมจริง และเสียบบัตรทิ้งไว้ แต่ไม่ได้มอบหมายให้ใครกดแทน

กรณีดังกล่าว ไม่เพียงเป็นเหตุให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนฯ สั่งการให้เลขาธิการสภาผู้แทนฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วน

เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้เข้าสู่ขั้นตอนเตรียมส่งนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ หลังวุฒิสภาพิจารณาลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. เมื่อวันที่ 21 มกราคม ถือว่ากฎหมายได้ผ่านการพิจารณาของสองสภาแล้ว

“กฎหมายที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ควรมีปัญหาและต้องไม่มีอะไรเคลือบแคลงสงสัย กระบวนการอาจจะเสียเวลาไปบ้าง แต่ก็ดีกว่ามาเคลือบแคลงกันทีหลัง” นายชวนกล่าว

ยังเป็นเหตุให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ร้อนใจอย่างมาก

รายงานข่าวเผยว่า ก่อนประชุม ครม.สัญจร จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หารือนอกรอบร่วมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

เนื่องจากกังวลต่อกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กล่าวหา ส.ส.พรรคภูมิใจไทยเสียบบัตรแทนกัน ว่าหากมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอาจทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่เพิ่งผ่านสภาและวุฒิสภาล่าช้าไปอีก 2-3 เดือน หรืออาจต้องเป็นโมฆะ กระทบต่อการบริหารเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง

ในวันเดียวกัน นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนฯ เปิดเผยผลตรวจสอบกรณีนายฉลอง ระบุเป็นไปตามข้อกล่าวหาของนายนิพิฏฐ์จริง

ปัญหา ส.ส.รัฐบาลเสียบบัตรแทนกัน ไม่หยุดอยู่แค่กรณีนายฉลองและนางนาที

เนื่องจากมีการเผยแพร่คลิปภาพของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 อ้างเป็นเหตุการณ์วันลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วันที่ 8 และ 10 มกราคม เป็นคลิปภาพ ส.ส.หญิงพรรคแกนนำรัฐบาล และ ส.ส.ชายพรรคร่วมรัฐบาล เสียบบัตรลงคะแนนคนละ 2 ใบ

ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีพฤติกรรมไม่ชอบมาพากล

ประเด็น ส.ส.เสียบบัตรแทนกันจะลุกลามทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 3.2 ล้านล้าน เป็น “โมฆะ” หรือไม่

เนื่องจากมีบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีในทำนองเดียวกันนี้มาแล้ว

กรณีนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เสียบบัตรลงมติแทน ส.ส.อื่นในการประชุมสภาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน

ให้ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 2 เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

พฤติกรรมนายนริศรใช้บัตรหลายใบเสียบในช่องลงคะแนนและแสดงตน เป็นการกระทำขัดต่อหลักการใช้สิทธิออกเสียงที่ ส.ส. 1 คน ย่อมมีสิทธิออกเสียงเพียง 1 เสียง ตามรัฐธรรมนูญกำหนด

นอกจากนั้น ยังถือเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติหรือการครอบงำใด รวมถึงต้องปฏิบัติตนด้วยความชื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย

นักวิชาการด้านกฎหมายชี้ว่า กรณีนายฉลองไม่ใช่เรื่องรับสารภาพ แต่เป็นการจำนนด้วยหลักฐาน และการปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้ใช้ให้กระทำ กรรมยิ่งตกหนักแก่ ส.ส.ผู้ที่เสียบบัตรให้แทน ซึ่งจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา

เป็นนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ชี้ช่องทางออกเรื่องนี้ต่อสมาชิกว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภาสามารถเก็บร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ได้ 3 วัน เพื่อรอว่าจะมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่

เพื่อขจัดข้อสงสัย ส.ส.รัฐบาล 90 คนจึงเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภา ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ใน 3 ประเด็น

1. กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ขัดหรือแย้งกับหลักการออกเสียงการลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 120 หรือไม่

2. หากขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 120 จะถือว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตราที่ใช้บัตรแสดงตนและลงมติแทนผู้อื่น และกรณีนี้จะถือว่าสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่เสร็จภายใน 105 วัน ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ

3. หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตกไปทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตราที่มีการใช้บัตรแสดงตนและลงมติแทนผู้อื่น จะต้องดำเนินการในแต่ละกรณีอย่างไร

ขณะเดียวกัน ส.ส.ฝ่ายค้าน 84 คน ก็ได้เข้าชื่อยื่นผ่านประธานสภา ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นกัน

ในประเด็นว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตราขึ้นโดยชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีมีหลักฐานข้อเท็จจริงชัดเจนว่า ส.ส.รัฐบาลเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันทั้งในวาระ 2 และวาระ 3

ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่ากระบวนการตรา พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในบทบัญญัติอันเป็นสาระสำคัญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องถือเป็นโมฆะ ตกไปทั้งฉบับ หากเป็นเช่นนั้นแม้เป็นความรับผิดชอบของสภา

แต่รัฐบาลก็คงขุ่นเคืองไม่น้อย โดยเฉพาะการที่ประเด็นความไม่ชอบมาพากลในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบฯ มีจุดเริ่มต้นจาก “คนกันเอง” ในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์

ก่อนหน้านี้กรณี 3 สารเคมีทางการเกษตร รัฐมนตรี 2 พรรคกระทรวงเดียวกันก็ให้สัมภาษณ์ตอบโต้กันดุเดือด หรือเมื่อเร็วๆ นี้ ส.ส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ “ระบอบประยุทธ์” อย่างถึงพริกถึงขิง

ล่าสุดกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ “เอาคืน” นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ คู่แข่งจากพรรคภูมิใจไทยที่ยัดเยียดความปราชัยให้ตนเองในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

“เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพรรค ผมมาในฐานะประชาชน เพราะผมก็อยู่ฝ่ายรัฐบาล ไม่อยากทำให้รัฐบาลมีปัญหา

ผมตรวจสอบการทำงานของ ส.ส. กว่าท่านจะได้เข้ามามีการใช้เงินเยอะ เรื่องก็ยังค้างอยู่ที่ กกต. ที่ผมไปร้องว่ามีการซื้อเสียง ขอฝากถึง กกต.ด้วยว่าท่านกลั่นกรองคนเข้าสภาอย่างไรให้มาทำหน้าที่อย่างนี้ในสภา แล้วจะกระทบต่อประเทศชาติ” นายนิพิฏฐ์ปฏิเสธการออกมาเปิดโปงครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องแค้นส่วนตัว

ในทางการเมือง การกระทำของนายนิพิฏฐ์ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชม เพราะเป็นการตรวจสอบการทำงานของ ส.ส.ในสภา โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

แต่สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อาจไม่คิดอย่างนั้น เพราะหากจะมีพรรคการเมืองใดก็ตามที่รัฐบาลต้องระมัดระวังมากกว่าพรรคฝ่ายค้าน

ก็คงเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์นั่นเอง