พื้นที่ ปัตตานี-นครศรีธรรมราช กับวิ่งไล่ลุง

12 มกราคม 2563 หลังวันเด็กหนึ่งวัน ปัตตานีและนครศรีธรรมราชมีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงพร้อมกับที่อื่นๆ ในประเทศไทย

เพียงแต่การจัดกิจกรรมวันนี้ทั้งสองแห่งนี้อาจมีประเด็นที่แตกจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย แม้ภาพรวมอาจมีเป้าหมายเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย

สำหรับที่ปัตตานี มีการรณรงค์การวิ่งครั้งนี้ในเพจ วิ่งไล่ลุง-ตานี จัดโดยองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

แม้จะมีผู้ร่วมจากหลากหลายวัย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และคนทำงานภาคประชาสังคมบางส่วนที่เห็นต่างจากรัฐซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการ ความรู้ทางกฎหมายว่า พวกเขาจะมาร่วมกิจกรรมนี้ได้หรือไม่แม้จะอยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคงที่อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ทหารอันเป็นมือไม้ของรัฐบาลประยุทธ์

“ความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่ชายแดนใต้ต่อการเมืองที่กรุงเทพฯ มีมากขึ้น เพราะการเติบโตของโลกโซเชียลมีเดียที่เปิดช่องทางให้คนรุ่นใหม่รับข้อมูลข่าวสารและปฏิสัมพันธ์กับคนนอกพื้นที่มากขึ้น เด็กรุ่นใหม่อาจเกิดไม่ทันตอนเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2547 แต่พวกเขาเติบโตและมองเห็นการเลือกปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐานในพื้นที่ เช่น พบเจอด่านทหารคนที่ไว้หนวดเคราหรือคลุมผมก็จะถูกตรวจค้นมากกว่าคนทั่วไป การพบเห็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษอย่างอยุติธรรม ผสมกับปัญหาเศรษฐกิจจากการบริหารงานของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้คือแรงจูงใจที่ทำให้กิจกรรมวิ่งไล่ลุง-ตานีเกิดขึ้น” #TheReporrers #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #วิ่งไล่ลุง #ตานี

ความเป็นจริงการจัดกิจกรรมวันนี้ ที่นี่ ถูกกดดันมาตลอดจนต้องย้ายจากจุดเริ่มปล่อยตัวที่มัสยิดกลางปัตตานี สู่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์

นายรอมฎอน ปัญจอร์ อธิบายเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “กรณี #วิ่งไล่ลุง-ตานีที่ถูกบีบให้ย้ายสถานที่เมื่อหลายวันก่อน ข่าวว่า เป็นคำสั่งจากทาง พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 โดยตรง และให้เหตุผลว่า ต้องการให้ปัตตานีเป็นตัวอย่างเมืองสงบ ก็น่าคิดอยู่ว่าหากเป็นดำริของ #ลุงเดฟ จริง ก็อยากรู้ว่าแกใช้คำสั่งปากเปล่าหรือคำสั่งการที่เป็นลายลักษณ์อักษร หากเป็นอย่างหลังอาศัยอำนาจอะไรครับ?”

“เพราะหาก #อ้าง กฎหมายพิเศษก็จะยิ่งน่าสนใจทีเดียว เพราะอาจจะต่างกับการใช้อำนาจสกัดในจังหวัดอื่นๆ ทีมจัดงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรต้องรู้เอาไว้ เพราะการออกกำลังกายเช่นนี้ไม่ได้มีเพียงหนเดียว”

ใช่สำหรับหากเห็นภาพกิจกรรมในวันนี้ที่มีผู้คนหลากหลาย ชายและหญิง ไม่ว่าพุทธ-มุสลิมที่มาร่วมกิจกรรมวิ่ง ผู้เขียนอาจไม่เห็นด้วยที่จุดรวมตัวหน้ามัสยิดปัตตานี ไม่ใช่เพราะอ้างความมั่นคง แต่ความไม่เหมาะสมของการแต่งกายที่ไม่สามารถควบคุมได้ในมิติวัฒนธรรมที่ต้องให้ความเคารพเมื่ออยู่หน้ามัสยิด

สำหรับสโลแกนการรณรงค์วิ่งไล่ลุงที่ปัตตานีในภาษาอังกฤษคือ Run Against Dictatorship แปลเป็นไทยง่ายๆ คือ ต่อต้านผู้นำเผด็จการ นั่นเอง

ซึ่งหลังจากวิ่งมีการถ่ายภาพหมู่ชูสามนิ้วอันเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการ ซึ่งตรงข้ามกับประชาธิปไตย

สําหรับกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่นครศรีธรรมราช แม้จะมีผู้คนนับร้อยที่มาทำกิจกรรมที่หน้าวัดพระมหาธาตุวรวิหาร โดยแกนนำถูกคุกคามอย่างหนักจากหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ก่อนจัดกิจกรรมหนึ่งอาทิตย์ (โปรดดูเพจ ILaw, iLaw)

สำหรับสื่อมวลชนแล้ว สนใจกรณีนี้มากเพราะเป็นข่าวก่อนหน้าวันกิจกรรมคือจะให้การจัดกิจกรรมหรือไม่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เพราะอธิการบดีคนดังที่เคยขึ้นเวที กปปส. ห้ามนักศึกษาจัดกิจกรรมนี้โดยอ้างมหาวิทยาลัยต้องปลอดกิจกรรมทางการเมืองจนถูกโต้กลับจากนักศึกษาว่าอาจารย์คนดังกล่าวเคยนำคน รถจากมหาวิทยาลัยไล่อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์

โดยมีแถลงการณ์กลุ่ม มวล.เสรี เรื่อง เราจะวิ่ง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ออกแถลงการณ์ไม่อนุญาตให้ “วิ่งไล่ลุง” ในวันที่ 12 มกราคม 2563 ด้วยเหตุผลว่าเป็น “กิจกรรมทางการเมือง” และ “มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานของรัฐ อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ” จึงไม่อนุญาตและสนับสนุนให้กลุ่มองค์กรใดก็ตามจัดกิจกรรมเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง

พวกเราในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยผู้รักสุขภาพที่มีความปรารถนาจะวิ่ง และในฐานะนักศึกษา ประชาชนที่จ่ายค่าเทอมและจ่ายภาษีเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ขอประกาศจุดยืนและความเห็นต่อมหาวิทยาลัยดังต่อไปนี้

1. พวกเรายืนยันว่าเราจะวิ่งกันต่อไป “การวิ่ง” เป็นสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย ตั้งแต่เติบโตจากวัยเด็กจนเข้าสู่วัยหนุ่มสาว มีโอกาสได้เรียนหนังสือมาระดับหนึ่ง ยังไม่พบว่าการวิ่งเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมายหรือถูกห้ามแต่อย่างใด

2. การ “ห้ามวิ่ง” โดยอ้างว่าเป็น “กิจกรรมทางการเมือง” นั้นหาใช่เหตุผลที่แท้จริง แต่เป็นเพราะขัดกับความเห็นหรือจุดยืนทางการเมืองที่ผู้บริหารสนับสนุนมากกว่า และแม้การวิ่งจะทำให้เหนื่อยก็ตามแต่ไม่กระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของผู้อื่นแต่อย่างใด

มีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันได้ว่า ผู้บริหารระดับสูง อธิการบดี รองอธิการบดี ส่วนกิจการนักศึกษา พนักงาน อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จำนวนมากเคยมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหว “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” มีการจัดปราศรัยในมหาวิทยาลัย นำนักศึกษาออกไปเคลื่อนไหวภายนอก ใช้รถบัสมหาวิทยาลัย “ขนคน” ไปชุมนุม เหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมทางการเมือง และได้นำพาประเทศชาติมาถึงจุดนี้ที่ต้องเป็นภาระให้พวกเราต้องออกมาวิ่งกัน

3. การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง และกฎหมายอื่นไม่ได้ห้ามไว้ ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงออกและการเคารพความแตกต่างทางการเมืองจึงเป็นเรื่องจำเป็น หากคำนึงถึงความเป็นกลางทางการเมืองที่มักถูกอ้างอย่างขาดความเข้าใจนั้น บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยอันเป็นสมบัติของประชาชน ไม่ใช่การกดทับความเห็นหรือการแสดงออกของนักศึกษา แต่คือการเป็นพื้นที่กลาง เปิดโอกาสหรือเอื้ออำนวยให้ทุกกลุ่มทุกความคิดเห็นได้แสดงออกอย่างเปิดเผยภายใต้กรอบกฎหมายอย่างสันติ

เพื่อเห็นแก่อนาคตของนักศึกษาและลูกหลานของท่านในอนาคต ขอให้ผู้บริหาร อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย อดทนและเรียนรู้ที่จะเคารพเสรีภาพ ความแตกต่างทางความคิด และหยุดปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษา

ที่สุด การวิ่งไล่ลุงที่ปัตตานีและนครศรีธรรมราชรวมทั้งที่อื่นๆ ของประเทศไทยก็เกิดขึ้นโดยเป็นสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มคนที่ทำกิจกรรม ทั้งสนับสนุนลุงตู่หรือไม่เห็นด้วยกับลุงตู่ อย่างมีอารยะด้วยเช่นกัน