มนัส สัตยารักษ์ | มีเหตุผลเพียงพอที่จะวิวาทกัน

แฟ้มภาพ

เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนเขียนเรื่อง “ท้าทายกฎหมาย” แล้วผมก็ปัจฉิมลิขิตด้วยเรื่องเล่าที่ผมรับเป็นที่ปรึกษาของผู้จัดรายการทีวีท่านหนึ่ง และงานชิ้นแรกในตำแหน่งที่ปรึกษาของผมก็คือ “รื้อบ่อน” ให้เขาทำใหม่

ผมเล่าอย่างรวบรัดเนื่องจากหน้ากระดาษจำกัด ในขณะที่ฮีโร่ชอบท้าทายกฎหมายและน่าเขียนถึงมีหลายราย วันนี้จึงขอเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมตรงนี้อีกนิดหนึ่ง…

จริงๆ แล้ว คนที่ผมเรียกว่า “ผู้จัดรายการ” นั้น ไม่ได้เป็นอย่างที่ผมเรียกหรอก เพราะเขารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ แต่เมื่อทางราชการต้องการให้มีละครทีวีเพื่อ “แก้ปัญหานักเรียนตีกัน” อันเป็นปัญหาที่อยู่บนบ่าของตำรวจ เขาคงได้รับคำสั่งให้รับหน้าที่จัดการ อาจจะในฐานะที่มีพรรคพวกเพื่อนฝูงหรือลูก-หลานอยู่ในวงการบันเทิงก็ได้

ตามวิสัยของราชการที่มักจะเรียกใช้คนมีบารมีมากกว่าคนมีศักยภาพ

ผมเต็มใจรับเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการโดยไม่มีค่าตัว และไม่ต้องร่วมรับผิดชอบหากมีความเสียหายเกิดขึ้น หรือนัยหนึ่งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวด้วยความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่นับถือกันมาตั้งแต่เป็นนักเรียนเท่านั้น

ผมเป็นศิลปินและนักเขียนเรื่องสั้นโดยธรรมชาติ ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนโดยตรงจากสถาบันใด จึงสนใจแทบทุกเรื่องที่อยู่รอบตัว

เกี่ยวกับศิลปะของภาพยนตร์ก็บังเอิญมีเพื่อนมาชักชวนให้ลอง “เขียนบท” โดยอ้างว่า ภาพยนตร์ดีๆ ของฝรั่งส่วนใหญ่ทำจากเรื่องสั้น ทำให้ผมมุมานะลงแรง “เปิดดิก” อ่านตำราเกี่ยวกับการเขียนบทและการถ่ายทำภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเล่มหนาถึง 3 เล่ม

นอกจากนั้น ผมอยู่ในฐานะที่เรียกว่ามีโอกาสได้ “อาศัยครูพักลักจำ” เนื่องจากได้รู้จักสนิทสนมกับ “พี่นุ” หรืออนุ ศุทยาลัย นักประชาสัมพันธ์คนสำคัญคนหนึ่งของวงการภาพยนตร์ ผมเข้าใจว่านอกจากจะเป็นคนตั้งชื่อหนังต่างประเทศเป็นภาษาไทยแล้ว พี่นุยังมีส่วนเป็นคนคัดกรองและเลือกเรื่องที่จะเข้าฉายในโรงอีกด้วย

พี่นุเป็นผู้ที่เข้าใจจิตวิทยาของภาพยนตร์ชนิดที่เรียกว่า “ตีแตก” สามารถวิเคราะห์ถึงผลที่ผู้ชมควรจะได้ในแต่ละฉาก

ในฉากของความเสียหายจากรถพลิกคว่ำฉากหนึ่งซึ่งลงทุนและลงแรงค่อนข้างสูง หลังจากถ่ายทำเสร็จ ทีมงานก็สุมหัวกันชมภาพในจอ คนหนึ่งในทีมสรุปว่า “ผ่าน”

แต่พี่นุให้ความเห็นว่า “ถ้ามีภาพแบงก์ราคาแพงปลิวว่อน หรือไฟไหม้ชิ้นส่วนที่ราคาแพงของรถยนต์ จะทำให้ภาพนี้ดูมีคุณค่าน่าเสียดายมากขึ้น”

ทุกคนในทีมงานเห็นด้วย จึงลงทุนและลงแรง (ที่ไม่มากมายอะไร) สร้างภาพเพิ่มเติมตามที่พี่นุแนะนำ

ผมรู้จักและเข้าใจคำว่า “ภาษาของภาพ” จากการได้คลุกคลีตีโมงกับพี่เขา

เสียดายที่พี่นุเสียชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่มจากเหตุเครื่องบินตกที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2533

อีกท่านหนึ่งที่ผมมีโอกาสใกล้ชิดด้วยก็คือ “ท่านมุ้ย” ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เมื่อท่านทำหนังเรื่อง “มือปืน” กับเรื่อง “อุกาฟ้าเหลือง”

ในเรื่อง “มือปืน” ผมเล่า “แก๊ก” จากประสบการณ์ที่น่าสนใจให้ท่านนำไปใช้ นอกจากนั้นยังพาท่านไปดูที่ทำงานและห้องพักของตำรวจในแผนกที่ผมเป็นสารวัตร ผมเชื่อว่าศิลปะของการทำหนังเหมือนกับศิลปะของการเขียนนิยาย คือต้องมีสิ่งที่เรียกกันว่า “บรรยากาศ”

ท่านมุ้ยสนใจการแต่งกายนอกเครื่องแบบ ท่าทาง ตลอดจนการพูดคุยของตำรวจ รวมทั้งท่านพาผู้ที่จะแสดงเป็น “คุณนาย” นายตำรวจ ไปพูดคุยกับภรรยาของผมยังแฟลตที่พักด้วย ผมคิดว่าท่านต้องการ “แคแร็กเตอร์” ที่สมจริงสำหรับสวมให้นักแสดงทุกคน ไม่จำเพาะแต่ดาราเท่านั้น

ท่านมุ้ยให้ความสำคัญกับฉากและบรรยากาศ พอๆ กับแคแร็กเตอร์ของผู้แสดง

ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนท่านมุ้ยจะใส่ชื่อผมเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการในภาพยนตร์เรื่อง “มือปืน” นี้ด้วย

ในส่วนของ “อุกาฟ้าเหลือง” ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง เพียงแต่ขณะที่ท่านเขียนบท ทางบริษัทนายทุนได้เปิดห้องพักของโรงแรม “อิมพาล่า” สุขุมวิท เป็นสำนักงาน โรงแรมนี้เป็นเสมือนแหล่งมั่วสุมของกลุ่มเพื่อน ผมและเพื่อนจึงฉวยโอกาสเป็น “ศิษย์ครูพักลักจำ” เมื่อท่านมุ้ยตั้งวงเล็กเชอร์ให้ผู้ที่มาขอความรู้หรือขอคำปรึกษาจากท่าน พวกเราก็จะไปร่วมฟังด้วย

เท่าที่นึกออกในขณะนี้มี “คมน์ อัครเดช” ผู้กำกับฯ ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในยุคนั้น ก็เคยไปซักถามและขอความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ใต้น้ำ

แม้แต่ประเด็นของการคัดเลือกผู้แสดงใหม่บางราย ผู้สร้างหรือผู้กำกับการแสดงก็มาหารือหรือให้ท่านดูตัวและขอความเห็น

ผู้สร้างและผู้กำกับการแสดงที่ประสบความสำเร็จย่อมเห็นความจำเป็นและสำคัญของ “แคแร็กเตอร์”

ย้อนกลับไปพูดถึงมินิซีรี่ส์สำหรับทีวี ที่ผมรับเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ…

เป็นที่รู้กันว่าเป้าหมายของผู้ผลิตคือต้องการสะท้อนปัญหานักเรียนตีกันที่สร้างความเสียหายแก่สังคม ผมขอดูตัวอย่างตอนที่ทำเสร็จแล้วหรือตอนจะใช้เป็นไพล็อต

ไม่ทราบว่าเป็นความไม่รู้หรือเข้าใจผิดของคนเขียนบท หรือแคสติ้ง หรือของผู้กำกับการแสดง (หรือทุกคนรวมกัน) เพราะในช่วงแรกของละครที่ “ปู” เรื่องนั้น เขาสร้างภาพให้นักเรียนทั้ง 2 ฝ่ายมีบุคลิกและบทบาทที่มี “เหตุผลเพียงพอ” ให้ต้องทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรงจนบาดเจ็บล้มตายในฉากถัดมา!

เพราะความที่มีเหตุผลเพียงพอนี่แหละ ที่ทำให้ผู้ชมไม่มีความรู้สึกเสียดายต่อการสูญเสียที่ถึงกับบาดเจ็บล้มตายของวัยรุ่น!

อาศัยที่ผมเป็นรุ่นพี่ของผู้จัด ผมจึงวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาและ “รื้อบ่อน” ด้วยการแนะนำให้ทำละครตอนนี้ใหม่

เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราจะมีมุมมองและตีค่าว่าใครเป็น “ฮีโร่” ต่างกัน

สำหรับผม ในยุคที่ประเทศของเรากำลังเผชิญกับความวิปริตของโลก ทั้งน้ำท่วมพร้อมกับภัยแล้ง ตลอดจนความวิปริตของบ้านเมืองจากคนต่างกลุ่ม ความงี่เง่าของบางคนในสภา และ ฯลฯ ผู้คนระดับล่างเจ็บป่วยโดยรัฐไม่ดูแล ข้าราชการทุจริตคอร์รัปชั่น ผู้นำทางการเมืองมัวแต่เอาใจใส่กับตัวเองและนายทุนจนร่ำรวยมหาศาล

“ฮีโร่” ของผมก็คือคนอย่างอาทิวราห์ คงมาลัย, บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ หรือ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์สเน่ห์ อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ กับอีกหลายคนที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ ณ ที่นี้

ไม่ใช่คนที่ท้าทายกฎหมาย และไม่ใช่คนที่สร้างวาทกรรมที่ฟังแล้วรู้สึกว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะวิวาทกัน